ประชาชน68%เห็นด้วยเก็บภาษีสถาบันกวดวิชา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเก็บภาษีสถาบันกวดวิชา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเก็บภาษีสถาบันกวดวิชา ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เกิดการจัดการระบบการศึกษาทั้งระบบอย่างยั่งยืน อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.19 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ สถาบันกวดวิชาถือเป็นสถานประกอบการในเชิงพาณิชย์หรือธุรกิจ บางสถาบันเรียกเก็บค่าเรียนสูงมาก เมื่อมีรายได้ ก็ควรจะเสียภาษีให้กับรัฐบาลเพื่อนำภาษีไปพัฒนาประเทศ รองลงมา ร้อยละ 25.90 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เมื่อมีการเรียกเก็บภาษี สถาบันกวดวิชาอาจจะเก็บค่าเรียนเพิ่มขึ้น จะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ปกครองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังถือเป็นสถาบันการส่งเสริมการเรียนให้กับเด็ก อีกทั้งสถาบันกวดวิชามีค่าใช้จ่ายที่สูงในการจ้างบุคลากร ครู อาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จึงไม่ควรเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และ ร้อยละ 5.91 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับ ครู/อาจารย์ ที่ไปสอนพิเศษตามสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.51 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ถือเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้วกับผู้ที่มีรายได้ในอัตราที่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะ ถ้าหากเป็นการสอนพิเศษแบบประจำตามสถาบันกวดวิชา รองลงมา ร้อยละ 33.09 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ถือเป็นรายได้เสริมของครู/อาจารย์ และปกติก็เสียภาษีอยู่แล้ว อาจเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน และครู/อาจารย์ บางรายก็มีค่าใช้จ่ายมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และร้อยละ 6.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนต่อเหตุผลของเด็กและเยาวชนไทยที่ต้องไปเรียนพิเศษ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.48 ระบุว่า เป็นเพราะเด็กต้องการความรู้เพิ่มเติม ตลอดจนเทคนิค วิธีการคิด การจดจำ ที่ไม่ได้สอนในโรงเรียน รองลงมา ร้อยละ 26.30 ระบุว่า เป็นเพราะต้องการนำไปใช้ในการสอบแข่งขัน ร้อยละ 21.34 ระบุว่า เป็นเพราะต้องการเพิ่มเกรด ร้อยละ 21.02 ระบุว่า เป็นเพราะเรียนในห้องเรียนไม่ทันเพื่อน ร้อยละ 12.71 ระบุว่า เป็นเพราะครูที่โรงเรียนสอนไม่ดี ร้อยละ 12.55 ระบุว่า เป็นค่านิยมหรือแฟชั่นของเด็กและเยาวชน ร้อยละ 9.83 ระบุว่า ต้องการแข่งขันกับเพื่อน ร้อยละ 9.83 ระบุว่า ผู้ปกครองบังคับให้ไปเรียน ร้อยละ 9.11 ระบุว่า ครูมีพฤติกรรมบังคับให้เด็กนักเรียนเรียนพิเศษกับตน เช่น กั๊กวิชาในห้องเรียนที่โรงเรียน ร้อยละ 1.44 ระบุว่า ต้องการเรียนกับ ครู/อาจารย์ที่ดังๆ หรือมาจากสถาบันดังๆ ร้อยละ 1.04 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาทบทวนการเรียนให้กับเด็ก โรงเรียนมีกิจกรรมเยอะ ครูสอนเด็กไม่ทั่วถึง เป็นข้ออ้างของเด็กที่อยากอยู่กับเพื่อน และ ร้อยละ 1.12 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายให้ทุกโรงเรียนจัดสอนพิเศษให้นักเรียนทุกคนเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.37 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ครู / อาจารย์ที่สอนเด็กอยู่ในโรงเรียน จะรู้พื้นฐานของเด็กเป็นอย่างดี และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเด็กสำหรับการเรียนเพิ่มเติมอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในเรื่องของค่าเรียนพิเศษ และครูสามารถสอนให้กับเด็กนักเรียนได้อย่างเต็มที่ รองลงมา ร้อยละ 13.35 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้ เวลาเรียนในห้องเรียนก็เพียงพออยู่แล้ว ครูบางคนมีประสิทธิภาพในการสอนน้อย อาจใช้ระบบการสอนแบบเดิม ๆ เด็กอาจจะเบื่อได้ และเด็กบางคนมีศักยภาพในการรับรู้และความสามารถไม่เท่ากัน อีกทั้งเด็กนักเรียนได้อะไรมากกว่าเมื่อไปเรียนพิเศษที่สถาบันกวดวิชา และ ร้อยละ 1.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ขอบคุณข่าวจาก