โลโคลแอคเผยผลศึกษา ชาวนาภาคกลางหนี้พุ่งมากกว่ารายได้ 29 เท่า
โลโคลแอคเผยผลศึกษา ชาวนามีหนี้สินมากกว่ารายได้ถึง 29 เท่า พึ่งพาแหล่งเงินกู้ทั้งในและนอกระบบ แนะเร่งแก้ปัญหาโครงสร้าง สนับสนุนทำนาอินทรีย์ - ชะลอการบังคับคดียึดที่ดินชาวนาขายทอดตลาด
เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (กปท.) หรือ Local Action Links (LocalAct) เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง “การสูญเสียที่ดินของชาวนา ภายใต้ระบบสินเชื่อสถาบันการเงิน” โดยพบว่าในพื้นที่ภาคกลางจังหวัดชัยนาทและจังหวัดอ่างทอง ชาวนามีหนี้สินเฉลี่ยสูงกว่ารายได้ถึง 29 เท่า และ 20 เท่า ตามลำดับ
ทั้งนี้ ชาวนาพึ่งพาทั้งแหล่งเงินกู้ในระบบและนอกระบบในเวลาเดียวกัน โดยเฉลี่ยชาวนาหนึ่งรายมีหนี้สินกับแหล่งเงินกู้ 3 แหล่ง จากแหล่งเงินกู้ที่พึ่งพาอยู่ประจำ 7 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตร ธนาคารพาณิชย์ กองทุนหมู่บ้าน ญาติ/เพื่อนบ้าน ร้านค้าปุ๋ยและยา และเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ
นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวนาปัจจุบันมีหนี้ในระบบสูงกว่าหนี้นอกระบบ ล่าสุดรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าครัวเรือนในประเทศมีหนี้สินเฉลี่ย 163,087 บาท คิดเป็น 6.5 เท่าของรายได้ และมีหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบ 49 เท่า คือมีหนี้ในระบบ 159,816 บาท และ หนี้นอกระบบ 3,271 บาท
ในขณะที่งานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน พบว่าชาวนาจังหวัดอ่างทองมีหนี้สินเฉลี่ย 483,780 บาท คิดเป็น 20 เท่าของรายได้ และมีหนี้ในระบบสูงกว่าหนี้นอกระบบ 38 เท่า คือมีหนี้ในระบบ 471,241 บาท และหนี้นอกระบบ 12,539 บาท
ข้อมูลจากงานวิจัยยังพบว่า ชาวนาไม่มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัว จึงต้องใช้เงินกู้หมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวแทน โดยชาวนาจังหวัดอ่างทองนำเงินกู้เพียงร้อยละ 36 ไปใช้จ่ายในการลงทุนทำการเกษตร และนำเงินกู้อีกร้อยละ 44 ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จ่ายค่าเล่าเรียนลูก และค่ารักษาพยาบาล ส่วนอีกร้อยละ 20 ถูกใช้ไปเพื่อชำระคืนหนี้เก่า
ในขณะที่ชาวนาจังหวัดชัยนาทนำเงินกู้ร้อยละ 43 ไปลงทุนทำการเกษตร นำเงินกู้ร้อยละ 46 ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จ่ายค่าเล่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาล และค่าซ่อมแซมบ้าน ส่วนอีกร้อยละ 11 นำไปใช้ชำระหนี้ก้อนเดิม
งานวิจัยเสนอว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนา ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐใช้มาตรการเยียวยาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงไม่ประสบผลสำเร็จ การปฏิรูปเพื่อแก้ไขหนี้สินชาวนาต้องทำทั้งระบบ และมุ่งเน้นที่โครงสร้าง ในระยะเร่งด่วนควรชะลอการบังคับคดียึดที่ดินชาวนา เพื่อไม่ให้ชาวนาสูญเสียที่ทำกิน ส่วนชาวนาในรายที่มีหนี้สินมากและไม่สามารถชำระคืน ควรให้หน่วยงานรัฐเข้าช่วยเหลือ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ในทิศทางตัดดอกเบี้ยค้างจ่าย และลดเงินต้นลงกึ่งหนึ่ง
ส่วนการแก้ไขหนี้ชาวนาระยะยาว ควรพิจารณาจัดสรรที่ทำกินให้กับชาวนาไร้ที่ดิน สนับสนุนให้ชาวนาปรับเปลี่ยนจากการทำนาเคมีมาสู่การทำนาอินทรีย์ หรือการทำนาแบบลดต้นทุนการผลิต ควรปฏิรูป ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้มีทิศทางสนับสนุนการทำนาแบบอินทรีย์ และเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่เอื้อต่อการรักษาที่ทำกินของชาวนา โดยยกเลิกการยึดที่นาขายทอดตลาด
ขณะที่กลไกแก้ปัญหาหนี้ชาวนาที่มีอยู่แล้ว ควรปฏิรูปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือเกษตรกรได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ขอบคุณภาพจาก:www.landactionthai.org