สรุปสถานการณ์เด่น 'แรงงานข้ามชาติ' รอบปี 2557
"...เด็กข้ามชาติแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เด็กที่ถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานเด็ก เด็กที่เป็นผู้ติดตามบิดามารดาที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทย และเด็กที่เกิดระหว่างที่บิดามารดาเข้ามาเป็นแรงงาน สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง นอกจากมีประเด็นการขึ้นทะเบียนเด็ก การศึกษาของเด็กเหล่านั้นแล้ว การใช้แรงงานเด็กในสถานประกอบการ โดยเฉพาะในกิจการแปรรูปอาหารทะเล.."
ที่มาภาพ:http://www.irrawaddy.org
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า "แรงงานต่างด้าว" หรือ "แรงงานข้ามชาติ" ได้กลายมาเป็นกำลังแรงงานหลักของประเทศไทยไปแล้ว ทั้งกรรมกร คนงาน แรงงานประมง เด็กปั๊ม พนักงานเสริ์ฟ หรือแม้กระทั่งคนรับใช้ในบ้าน
เครือข่ายองค์กรทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) รายงานสถานการณ์เด่นแรงงานข้ามชาติในรอบปี 2557
สถานการณ์เด็กข้ามชาติ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น "เด็กข้ามชาติ" ที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย
เด็กข้ามชาติแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เด็กที่ถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานเด็ก เด็กที่เป็นผู้ติดตามบิดามารดาที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทย และเด็กที่เกิดระหว่างที่บิดามารดาเข้ามาเป็นแรงงาน
สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง นอกจากมีประเด็นการขึ้นทะเบียนเด็ก การศึกษาของเด็กเหล่านั้นแล้ว การใช้แรงงานเด็กในสถานประกอบการ โดยเฉพาะในกิจการแปรรูปอาหารทะเล เช่น กุ้งแช่แข็ง อุตสาหกรรมสิ่งทอ และในภาคเกษตรกรรม เช่น ไร่อ้อย เป็น้ตน ซึ่งประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทยบางประเทศ ก็ได้จัดทำ และเผยแพร่รายชื่อสินค้าของไทยที่มีการใช้แรงงานเด็กและบังคับใช้แรงงานเด็ก จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในภาพรวม นำมาซึ่งการกีดกันทางการค้า
"วรางคณา มุทุมล" ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติด้านเด็ก ยกข้อมูลสถิติจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ระบุถึงการค้ามนุษย์ 1 พันคน จะมีเด็กที่อยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ถึงร้อยละ 52 แบ่งเป็นเด็กผู้หญิงและชาย
เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะมาจากประเทศลาว
และเด็กผู้ชายส่วนใหญ่จะมาจากประเทศพม่า
นอกจากนี้แล้วยังมีการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็ก เช่น การเผยแพร่รูปสื่อลามก อนาจารกับเด็ก อีกด้วย
ขณะที่ข้อมูลจากผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม ในปี 2554 ระบุว่า มีลูกจ้างที่เป็นแรงงานเด็กไทยจำนวน 50,239 คน และในปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 20,465 คน
แม้ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เด็กไทยอายุระหว่าง 15 - 18 ปี เข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคงมีแรงงานเด็กต่างชาติที่ติดตามพ่อแม่ และเด็กต่างชาติที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทยด้วย ซึ่งไม่มีข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงว่ามีจำนวนเท่าใด เส้นทางการเข้ามาในประเทศไทยของเด็กต่างชาติมีหลายช่องทาง จึงมีแน้วโน้มที่แรงงานเด็กต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี
รวมทั้ง มีแนวโน้มว่า ตัวเลขของเด็กไทยที่เป็นแรงงานลดลงอาจถูกแทนที่ด้วยเด็กต่างชาติที่ยังไม่สามารถสำรวจสถิติที่แน่ชัดได้ ซึ่งแนวทางที่จะทำให้ทราบจำนวนที่แน่ชัดของเด็กต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย คือ การขึ้นทะเบียนของเด็กต่างชาติ
สถานการณ์การขึ้นทะเบียนของเด็กต่างชาติในประเทศไทยขณะนี้มีสถิติ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 จำนวน 92,391 คน ซึ่งต่างจากตัวเลขประมาณการณ์ 2.5 แสนคน น้อยกว่าถึงครึ่ง แสดงให้เห็นมีเด็กที่ตกหล่นจากการขึ้นทะเบียน
ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กที่อยู่ในกลุ่มที่ "ไม่ได้รับอนุญาต" ให้ขึ้นทะเบียนตามนโยบาย เช่น กลุ่มเด็กต่างด้าวเคลื่อนย้ายที่เดินทางมาเอง หรืออยู่อาศัยกับผู้อื่น ที่ไม่ใช่พ่อแม่หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
การศึกษาของเด็กข้ามชาติ
ส่วนสถานการณ์เรื่องการศึกษาของเด็กต่างชาติ จากการที่ประเทศไทยเคยตั้งเป้าหมายที่จะให้โอกาสเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา มีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดลดการสนับสนุนการศึกษาของเด็กต่างชาติลงจาก 5 รายการ คือ ค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ชุดนักเรียน และหนังสือเรียน เหลือ 2 รายการ ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายตกไปอยู่กับโรงเรียนและผู้ปกครองของเด็กที่มีฐานะยากจน
ท้ายที่สุดเมื่อโรงเรียนไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ก็จะตัดสินใจไม่รับเด็กต่างชาติเข้าเรียน
สพฐ.ให้เหตุผลในการลดการรสนับสนุนฯ ว่า จำนวนของเด็กต่างชาติเพิ่มขึ้นมากถึง 2.5 แสนคนภายในระยะเวลา 2 ปี จึงทำให้ไม่มีงบประมาณสนับสนุนในเรื่องการเรียนฟรีด้วยการเกลี่ยค่าใช้จ่ายรายหัวแบบเดิมจากเด็กไทยได้อีก
เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติด้านเด็ก ก็คาดว่า จำนวนเด็กนักเรียนที่สพฐ.อ้างถึง น่าจะรวมเด็กทุกคนที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย
ซื้อประกันสุขภาพ ยังเป็นปัญหา
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2557 ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ระบุสิทธิในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติไว้ 2 ส่วน ได้แก่
1.แรงงานที่ต้องได้รับสิทธิตามประกันสังคม คือ แรงงานที่มีหนังสือเดินทางถูกต้องและอยู่ในกิจการที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม
2.แรงงานที่ต้องซื้อระบบประกันสุขภาพ คือ แรงงานที่ยังไม่มีหนังสือเดินทาง หรือมีหนังสือเดินทางแล้ว แต่อยู่ในกิจการที่ไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคม อาทิ แรงงานแม่บ้าน แรงงานภาคการเกษตรและการประมง ซึ่งแรงงานกลุ่มดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดสิทธิในการรักษาพยาบาลโดยให้แรงงานซื้อประกันสุขภาพเองตามสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการสั่งซื้อประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ตามมติครม.ปี 2557 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่มีอายุเกิน 7 ปี จะต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ 2,100 บาท ซึ่งมีอายุการคุ้มครอง 1 ปี โดยแบ่งเป็นค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกับสุขภาพ 1,600 บาท
- กลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี จะต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพในราคา 365 บาท ซึ่งมีอายุการคุ้มครอง 1 ปี โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ และทั้งสองกลุ่มจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี /เอดส์ ซึ่งเป็นการประกันสุขภาพภาคบังคับ
แม้จะมีการกำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องซื้อประกันสุขภาพ แต่ในเรื่องของการดำเนินการยังมีหลายส่วนที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการขาดมาตรการในการบังคับใช้นโยบายให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหลายแห่ง ไม่สามารถผลักดัน ให้สถานพยาบาลในจังหวัดนั้นๆ ที่เข้าร่วมโครงการเปิดขายประกันสุขภาพได้ เนื่องจากผู้บริหารสถานพยาบาลมีอำนาจเด็ดขาดว่าจะเปิดขายหรือไม่ โดยความเป็นจริงแล้วทุกสถานพยาบาลต้องเปิดขายประกันสุขภาพที่กฎกระทรวงได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนของการกำหนดขอบเขตชุดสิทธิประโยชน์ ทำให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างไปในแต่ละสถานพยาบาล
บางแห่งมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากความไม่ชัดเจนนี้ และยังมีสถานพยาบาลบางแห่งไม่ยอมประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างชาติ เนื่องจากประเมินความไม่คุ้มทุน และบางแห่งมีการเก็บเงินเพิ่ม หากต้องตรวจโรคเพิ่มเติม
ส่วนภาครัฐเองยังขาดระบบประชาสัมพันธ์และการทำงานเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ และในส่วนของการให้บริการยังมีอุปสรรคในด้านการสื่อสารของผู้ให้บริการต่อแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขควรมีนโยบายในการควบคุมสถานพยาบาลที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด และไม่เลือกปฏิบัติ
สถิติของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 ระบุว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมกว่า 3.3 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 17 หรือ แรงงานที่เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ 7.6 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 39 และแรงงานที่ยังไม่มีความชัดเจนหรืออยู่ระหว่างการดำเนินงาน 8.6 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 44
ทั้งนี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม ยังมีประเด็นเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่น่าเป็นห่วง และน่าติดตามอีกเช่นกัน...