ทอดผ้าป่าระดมทุน 7 ล้าน สร้าง ‘พื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร'
องค์กรเอ็นจีโอจัดผ้าป่าระดมทุนสร้าง‘พื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร’ วันแรกยอดสมทบ 4 แสนบาท ‘อุบล อยู่หว้า’ ชี้ผู้บริโภคกำลังถูกกันจากการผลิตอาหาร ทั้งที่เป็นวัฒนธรรม นักวิชาการชงตั้งเครือข่ายความรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน หวังนำไปสู่ยุคความยั่งยืน
วันที่ 17 ธันวาคม 2557 มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จัดทอดผ้าป่า เพื่อสมทบทุนสร้าง ‘พื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร’ (Learning Space for Food Security Promotion) มีบุคคลร่วมงาน อาทิ ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ณ อาคารพิทยพัฒน์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช จ.นนทบุรี
โดยช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสมโภชองค์ผ้าป่าสามัคคี พร้อมรับฟังสัมโมทนิยกถาจาก ‘พระไพศาล วิสาโล’ แห่งวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ จากนั้นได้มีเวทีเสวนาเรื่อง ‘ความมั่นคงทางอาหารกับอนาคตประเทศไทย’
นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในกรุงเทพฯ เหลือวัฒนธรรมการรับประทานอาหารมากน้อยเพียงใด หรือกำลังพอใจกับวัฒนธรรมสำเร็จรูปที่บริษัทเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารผลิตขึ้นเป็นสินค้า ซึ่งสังเกตเห็นผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังถูกกันออกไปจากความเกี่ยวข้องในการผลิตอาหาร ทั้งที่อาหารเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์
“ไส้กรอกไม่ได้ผลิตขึ้นจากเนื้อไก่คุณภาพ แต่ผลิตขึ้นเศษชิ้นส่วนของไก่ที่ตกหล่นบนพื้น โดยคนงานจะใส่รองเท้าบูทเข้าไปย้ำแล้วสับไก่ออกมา เพื่อนำเข้าสู่ระบบการผลิตไส้กรอก ส่วนเนื้อไก่คุณภาพดีจะถูกลำเลียงไปส่งออกแทน” ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าว และว่าคนในสังคมกำลังบริโภครอยเท้าคนงานอย่างเอร็ดอร่อย และพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่เช่นนี้ ที่กล้าระบุเพราะลูกหลานตัวเองก็อยู่ในระบบตอบสนองความโหยหาของคนเมือง
นายอุบล กล่าวต่อว่า การสร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นจุดตั้งต้นในการสะกิดต่อมวัฒนธรรมอาหารของคนเมือง ทั้งนี้ เรากำลังถูกเปลี่ยนโดยห้ามยุ่งเกี่ยวกับการผลิตอาหาร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายกระบวนการพวกเราจะนำพาคนในสังคมให้เกิดจิตสำนึกถึงอาหาร ในฐานะวัฒนธรรม การปฏิสัมพันธ์กับทรัพยากรชีวภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพผู้บริโภค พร้อมให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองและความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ด้านรศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในแวดวงการศึกษากำลังให้ความสนใจกับการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีหัวใจสำคัญ 3 ประการ คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน โดยในต่างประเทศจะสนใจพลังงานมากกว่า ขณะที่ไทยควรสนใจอาหาร เพราะหากสามารถจัดการกับอาหารได้จะช่วยลดความเสี่ยง นำไปสู่ความยั่งยืนได้
“ปัจจุบันคนกำลังถูกกำกับโดยระบบที่เป็นอยู่ ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคหรือการตลาด ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านที่ดีต้องไม่ทำตามระบบที่มีอยู่”
นักวิชาการ จุฬาฯ ยังกล่าวถึงตัวชี้วัด 2 ประการ ช่วยต้านทานความแข็งแกร่งของระบบปัจจุบัน คือ ‘นวัตกรรม’ ทำอย่างไรให้เกิดเทคโนโลยีทางสังคม เพื่อท้าทายกับระบบการผลิตจากนวัตกรรมแนวใหม่อย่าง การดัดแปลงพันธุกรรมพืช ซึ่งกำลังมีอิทธิพลในระบบการผลิตอาหาร ที่สำคัญ ต้องสร้างวาทกรรมให้คนรู้สึกถึงภาวะเร่งด่วนในวิกฤติด้านอาหาร
สำหรับ ‘ความชอบธรรมของทางเลือก’ จะนำเสนอออกไปได้ ต้องคำนึงถึงลักษณะทางสังคม ภูมิทัศน์ด้านอาหาร กระแสโลก และกระบวนการที่กำลังดำเนินงานอยู่ เพื่อจะเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเชื่อได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เสนอให้สร้าง ‘เครือข่ายความรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน และควรเปิดให้วิพากษ์ความทันสมัยในเทคโนโลยี แม้จะเป็นเทคโนโลยีชาวบ้านก็ตาม เพื่อให้กระบวนการเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในอนาคต
“พื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหารจะทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสถานการณ์ด้านอาหาร ส่วนจะเปลี่ยนแปลงระบบปัจจุบันได้มากเพียงใด คงต้องถกเถียงกันในระยะยาว แต่การเริ่มต้นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ” รศ.ดร.ฉันทนา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสมทบทุนสร้าง ‘พื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร’ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก การปรุง การกินอาหาร เพื่อความมั่นคงของคนกิน คนปลูก และสิ่งแวดล้อม รวมงบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 7 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี
ทั้งนี้ ในการเชิญชวนร่วมทอดผ้าป่าครั้งนี้ มียอดระดมทุนเเล้วประมาณ 4 แสนบาท หากผู้มีจิตศรัทธาท่านใดสนใจบริจาคเพิ่มเติม สามารถโอนเงินตามแต่จิตศรัทธาได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขางามวงศ์วาน ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี โครงการพื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร เลขที่บัญชี 141-0-36164-0 .