เปิด 5 สถานการณ์เด่น 'เเรงงานข้ามชาติ' ปี 57 จี้รัฐบาลเเก้ไขปัญหารูปธรรม
ภาคประชาสังคมเปิด 5 สถานการณ์เด่น เเรงงานข้ามชาติ ปี 57 หวั่นถูกละเลยความปลอดภัยในการทำงาน จี้รัฐเเก้ไขปัญหารูปธรรม
วันที่ 17 ธันวาคม 2557 เครือข่ายองค์กรทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) จัดงานแถลงข่าว สถานการณ์เด่นแรงงานข้ามชาติในรอบปี 2557 และแนวโน้มการจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคตของประเทศไทย เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธันวาคม ของทุกปี ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวถึง 5 สถานการณ์เรื่องเเรงงานข้ามชาติในไทย มีดังนี้ 1. คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลรักษาการณ์ นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีได้มีมติผ่อนผันแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติทำงานรอบ 4 ปี อยู่อาศัยชั่วคราวเพื่อขยายเวลาต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
2. หลังจากมีการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งศูนย์ One Stop Service ขึ้น เพื่อให้สามารถจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้
3.แรงงานกัมพูชากลับประเทศมากที่สุดในช่วงทศวรรษ มีสาเหตุจากความเข้าใจผิดว่าภาครัฐมีนโยบายจะกวาดล้างแรงงานข้ามชาติ แต่ภายหลัง คสช. ได้ออกมาแถลงยืนยันไม่มีนโยบายดังกล่าว
4.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกแถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 โดยจัดให้ไทยถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่ระดับที่ 3 (Tier3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด เทียบเท่ากับซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย เยเมน ซิมบับเว เกาหลีเหนือ คิวบา รัสเซีย จากเดิมที่เคยอยู่ระดับ 2 (Tier 2 Watch List) ระดับจับตาพิเศษ
5. แรงงานข้ามชาติเสียชีวิตลงในขณะทำงานในอาคารก่อสร้างคอนโดมิเนียม 6 ชั้น ถล่มที่จังหวัดปทุมธานี
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตัวแทนเครือข่ายองค์กรฯ กล่าวว่า ทำให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ดังเช่น ปรากฎการณ์เเรงงานข้ามชาติเดินทางกลับประเทศ ทำให้ไทยต้องขาดแคลนแรงงานข้ามชาติกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว เเละได้รับผลกระทบมากขึ้นเมื่อไทยถูกลดระดับลงไปอยู่ Tier 3 โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ในภาคประมงทะเล และการค้ามนุษย์ในกลุ่มโรฮิงญาที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่กังวลอีก คือ ความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ยกตัวอย่าง กรณีการทรุดตัวของลิฟต์ระหว่างก่อสร้างที่อาคารสถาบันแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ควรได้รับสิทธิในการดูแลอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงตามกฎหมายประกันสังคม
นายอดิศร กล่าวอีกว่า นอกเหนือจาก 5 สถานการณ์แล้ว ยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าติดตาม อาทิ การศึกษาของเด็กต่างชาติ การเข้าถึงนโยบายสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ สถานการณ์ผู้อพยพลักลอบหนีเข้าเมืองของเมียนมาร์ โรฮิงญา บังคลาเทศ และสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ภาครัฐควรหาเเนวทางเเก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม