ร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ยังต้องลุ้น วัดใจ”สนช.”จะดันหรือติดเบรค?
"...ร่างดังกล่าวยังเขียนให้มีการเพิ่มโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ที่เรียก รับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต .."
อยู่ระหว่างการเตรียมรอเข้าคิวเป็นอีกหนึ่งแมทช์วัดใจสำคัญของ ”สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”(สนช.) กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ดูตามปฏิทินเวลาการประชุมของสนช. แล้วก็เหลือแค่สัปดาห์หน้าเท่านั้นก็สิ้นปี 2557 หากสัปดาห์หน้าไม่มีการบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาเรื่องร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช. ก็มีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายความชัดเจนว่าวิปสนช. จะเห็นควรให้นำร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสนช.ในวาระแรกหรือไม่ ก็อาจเป็นช่วงต้นเดือนม.ค.ปี 2558ไปเลย
หลังก่อนหน้านี้ที่ประชุมสนช.เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา สั่ง”เบรค”ไม่ให้สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าวในวาระแรก แล้วเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษเพื่อกลั่นกรองร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ละเอียดรอบคอบก่อนว่าสมควรให้สนช.พิจารณาหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมสนช.ก็เห็นชอบตามที่วิปสนช.เสนอมาโดยให้เวลากมธ.วิสามัญพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน อันถือเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับแรกที่มีการทำเช่นนี้ในสนช.ยุคนี้ โดยล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าออกมาว่ากมธ.วิสามัญศึกษาร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ดังกล่าว พิจารณาไปถึงไหนและจะขอขยายเวลาต่อไปหรือไม่
ท่ามกลางเสียงทักท้วงจากสนช.รวมถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและกรรมาธิการยกร่างรธน.ฉบับใหม่บางคน ที่เห็นว่าสนช.ยังไม่ควรพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะควรรอให้มีการยกร่างรธน.ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่กมธ.ยกร่างรธน.อาจจะไปเขียนเรื่องหมวด”องค์กรอิสระ-ป.ป.ช.”หลายเรื่อง ที่จะยกเครื่องการทำงานของป.ป.ช.ใหม่ ดังนั้นหากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านสนช.ไป ก็จะมีปัญหาต้องมีการเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับมาอีก หากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับบางมาตราในร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ทางคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นเจ้าภาพเสนอร่างนี้มายังสนช.ขัดแย้งกัน
เพราะตอนนี้ก็มีแนวคิดของกมธ.ยกร่างรธน.กับสมาชิกสภาปฏิรูปฯ บางคนที่เสนอแนวคิดปรับปรุงการทำงานของป.ป.ช. ออกมาหลายสูตร ที่หากสุดท้าย กมธ.ยกร่างรธน.เอาด้วย จนนำไปเขียนในรธน.ฉบับใหม่ ก็อาจจะขัดแย้งกับร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ที่เสนอสนช.อยู่ตอนนี้ก็ได้
เช่นแนวคิดของกมธ.ยกร่างรธน.บางส่วนที่เสนอว่าให้”ยุบป.ป.ช.จังหวัด” ทั้งหมดแล้วให้ตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชนรายจังหวัดขึ้นมาแทนป.ป.ช.จังหวัด ที่หากโมเดลนี้เกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้ป.ป.ช.จังหวัดอาจสิ้นสภาพไปทั้งหมด มันก็อาจทำให้ต้องมีการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ให้สอดคล้องกับรธน.ฉบับใหม่ สุดท้ายก็ต้องมีการเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ป.ป.ช.กลับเข้ามาอีก
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของฝ่ายป.ป.ช.พบว่า กรรมการป.ป.ช.หลายคนก็ลุ้นอยากให้สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ไปก่อน เพื่อให้การทำงานของป.ป.ช.มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากไม่ทำช่วงนี้ ก็อาจเสียโอกาสได้ ยิ่งหากไปรอทำกันหลังมีรัฐสภาเต็มรูปแบบยิ่งไม่ต้องหวัง เพราะร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ดังกล่าว นักการเมืองไม่มีทางยอมให้คลอดออกมาได้ ป.ป.ช.เลยหวังให้สนช.ผ่านร่างฉบับนี้ออกมา เพราะร่างที่เสนอไป หลายมาตราหรือเกือบทั้งหมดในร่างฉบับนี้ ถือเป็นยาแรงที่ป.ป.ช.เห็นว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างได้ผล
จึงต้องดูกันแล้วว่า สุดท้าย กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ที่มีตัวแทนจากหลายฝายทั้งสนช.-ป.ป.ช.-ตำรวจ-อัยการ-กระทรวงยุติธรรม และอื่นๆ จะว่าอย่างไร จะเห็นควรให้ดันร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในช่วงต้นปีหน้าหรือจะสั่ง
เบรคเอาไว้ก่อน เพื่อรอการร่างรธน.ฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วค่อยให้ป.ป.ช.เสนอมาอีกที ซึ่งหากออกแนวนี้ก็จะกินเวลาอีกเป็นปี หรืออาจออกสูตรที่สามคือขอให้ป.ป.ช.กลับไปทบทวนใหม่แล้วเสนอร่างกลับมาใหม่อีกที แต่ให้เป็นร่างที่จะติดดาบป.ป.ช.แบบที่ป.ป.ช.เห็นว่าจำเป็นเร่งด่วนและต้องทำโดยเร็วเท่านั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของป.ป.ช.แบบเฉพาะหน้า ส่วนเรื่องที่เป็นการทำงานระยะยาว อาจขอให้ทบทวน ตัดออกไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากันอีกที หลังรธน.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้
จะออกมาแนวไหนใน 3 แนวทางนี้ คงต้องติดตาม
เพิ่มอำนาจขอศาลออกหมายจับ
หากฟ้องเอง ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช. ดังกล่าว พบว่าหลายมาตราเห็นได้ชัดว่าเป็นการเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับการทำงานของป.ป.ช.แทบทุกขั้นตอนตั้งแต่รับเรื่องไว้ไต่สวนจนถึงขั้นตอนการบังคับคดีหลังศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
มีที่น่าสนใจก็เช่น ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 23 ระบุว่าหากคดีไหน ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองหรือตั้งทีมทนายความฟ้อง ที่ก็หมายถึงเป็นคดีที่อัยการไม่ยอมฟ้องแล้วป.ป.ช.ฟ้องเอง ให้ศาลประทับรับฟ้องเลยโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เพราะถือว่าป.ป.ช.ได้ไต่สวนมาแล้ว
นอกจากนี้ร่างดังกล่าวในมาตรา 19 มีสาระสำคัญคือเป็นการขยายอายุความการดำเนินคดีอาญาฐานทุจริต โดย หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไประหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ไม่ให้นับรวมเวลาที่หลบหนีคดี รวมเป็นหนึ่งของอายุความ แต่ให้นับจากวันที่ควบคุมตัวมาดำเนินคดีทำให้อายุความคดีอาญาตามพ.ร.บ.ป.ป.ช.จะนานขึ้น
อีกทั้งพบว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีการเขียนเพื่อให้อำนาจป.ป.ช.ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มารายงานตัวตามกำหนด ให้ป.ป.ช.หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกหมายจับบุคคลดังกล่าว และให้ป.ป.ช. เป็นพนักงานฝายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ซึ่งตามพ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบันกำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจเพียงแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.จะทำได้ ต้องเป็นกรณีที่บุคคลดังกล่าวหลบหนี และถูกออกหมายจับแล้วเท่านั้น
ที่น่าสนใจยังพบว่าร่างพ.ร.บ.ยังมีการขอให้เพิ่มเวลายึด อายัดทรัพย์สินชั่วคราวรอศาลตัดสินหรือคดีถึงที่สุด จากปัจจุบันให้ยึดหรืออายัด ไว้ไม่เกิน 1 ปี ขยายเพิ่มเป็น 2 ปี เพื่อให้การไต่สวนข้อเท็จจริงคดีร่ำรวยผิดปกติและการตรวจสอบทรัพย์สินหนี้สินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพิ่มมาตรการกันพยาน สาวเอาผิดตัวการใหญ่
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ดังกล่าวระบุว่า หากเป็นเรื่องการทำความผิดในการออกเอกสารสิทธิให้ผู้เกี่ยวข้องเช่นอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนทันที ไม่ต้องไปรอเสียเวลาให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเพราะใช้เวลานาน อีกทั้งยังมีการเพิ่มมาตรการกันพยานในสำนวนของป.ป.ช.คือ หากป.ป.ช.มีมติกันบุคคลหรือผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไว้เป็นพยาน มิให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับบุคคลนั้น เนื่องจากปัจจุบันเกิดปัญหาในทางปฏิบัติว่าเมื่อมีบุคคลมาให้ถ้อยคำกับป.ป.ช.แล้ว และป.ป.ช.มีมติกันไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีแต่กลับพบว่ามิได้ครอบคลุมการดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด ทำให้ต้นสังกัดดำเนินวินัยซ้ำอีก จึงทำให้วัตถุประสงค์การกันบุคคลไว้เป็นพยานไม่บรรลุผล ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำเนินคดีอาญาของป.ป.ช.
รวมถึงร่างดังกล่าวยังเขียนให้มีการเพิ่มโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ที่เรียก รับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต ขณะเดียวกันหากผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
ขยายกลุ่มผู้ต้องโชว์บัญชีทรัพย์สิน ถึงผู้บริหารท้องถิ่น
และยังมีอีกหลายประเด็นที่ป.ป.ช.ขอแก้ไขเพิ่มเติมมาในร่างดังกล่าวที่น่าสนใจซึ่งควรได้ศึกษาและรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อย่างยิ่ง
อย่างเช่น ในมาตรา 13 ของร่างนี้ ป.ป.ช.ได้เพิ่มเติมกลุ่มผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่นอกจากจะยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อป.ป.ช.ตามกฎหมายปัจจุบันแล้ว หลังจากนี้หากร่างนี้มีผลบังคับใช้ จะต้อง”เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสาธารณชน”อีกด้วยเหมือนกับที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. –สว. ทำกันอยู่ในช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งกลุ่มที่ป.ป.ช.ให้มีการเปิดเผยเพิ่มเติมในร่างดังกล่าวระบุว่า นอกจาก นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.-สว.แล้วให้รวมถึง “ข้าราชการอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองท้องถิ่นด้วย”
โดยตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก หลักๆ ก็อาทิเช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเทศมนตรี เป็นต้น
นอกจากนี้ร่างดังกล่าวยังฉีดยาแรงเข้าไปอีก คือหากบุคคลใดถูกป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดกรณีจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน แล้วป.ป.ช.ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ในกรณีเป็นพวกรัฐมนตรี ส.ส.-สว. หรือศาลอุทธรณ์-ศาลอุทธรณ์ภาค หากเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ถ้าต่อมาศาลตัดสินว่ามีความผิด บุคคลผู้นั้นนอกจากจะต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วยังไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นการแก้ไขจากเดิมที่เขียนไว้แค่ว่าไม่ให้กลับมาภายในเวลา 5 ปี ซึ่งก็หมายถึงจะไม่สามารถกลับมามีตำแหน่งการเมืองใดๆ ไปตลอดชีวิตนั่นเอง
อปท.ไม่ต้านแต่มีเงื่อนไข
ขอครอบคลุมบิ๊กขรก.-องค์กรอิสระ
ต่อกรณีดังกล่าว ทีมข่าวได้สัมภาษณ์แกนนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-นักการเมืองท้องถิ่น –สมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.)ด้านท้องถิ่นและกรรมาธิการยกร่างรธน.ฉบับใหม่ถึงความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวของป.ป.ช.โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การขยายกลุ่มผู้ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสาธารณชนที่ให้ครอบคลุ่มไปถึงผู้บริหารอปท.
“ชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครและนายกสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย”ให้ความเห็นเรื่องการให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินว่าไม่มีปัญหา เพราะที่มาเป็นนายกฯอบจ. ก็แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินตามกฎหมายทั้งตอนเข้ารับตำแหน่ง และออกจากตำแหน่งอยู่แล้ว ไม่ได้ซีเรียสถ้าจะเปิดเผย เมื่อรัฐมนตรี เขาเปิดเผยกันได้พวกผมก็พร้อมจะเปิดเผยและเห็นว่าพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับ 9 ก็ควรเปิดเผยต่อสาธารณชนเช่นกัน ต้องทำให้ทั่วถึงหมด โดยเฉพาะคนที่มีสถานะการใช้อำนาจที่สุ่มเสี่ยงก็ต้องเปิดเผยหมด
“ยิ่งบางตำแหน่งเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดยิ่งต้องเปิดเผย สิ่งที่เรายังไม่รู้ ความมืดมันเยอะแยะ ที่ผ่านมาก็เห็นแต่สิ่งที่มันโผล่ขึ้นมา แต่ต่อไปต้องลงไปดูให้มากกว่านั้น เมื่อเราอยู่ในช่วงการปฏิรูปกันทั้งทีต้องเอาให้ชัดเจนพวกซี 9 ขึ้นไปต้องให้เปิดเผยบัญชีด้วย อย่างพวกผู้ว่าฯก็ให้ไปติดที่ศาลากลางจังหวัดหรือหากเป็นระดับผู้อำนวยการสำนัก ก็ให้ไปติดประกาศไว้ที่หน่วยงานที่ทำงานอยู่ แบบนี้มันก็ดี มุมมองวันนี้ถ้าจะมาบอกว่าต้องให้แต่นักการเมืองอย่างเดียวผมว่ามันไม่ถูกต้องเพราะว่า ข้าราชการคือส่วนสำคัญที่สุดที่ต้องปฏิรูปก่อนเลย”
นายกสมาคมอบจ.ฯ กล่าวอีกว่า พวกองค์กรอิสระก็ควรต้องเปิดเผยบัญชีด้วย ต้องทำอย่างยิ่งเมื่อตัวเองไปตรวจสอบองค์กรอื่นแล้วจะมาปกปิดทำไม ก็ต้องทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย และไม่ได้ค้านที่ตัวร่างจะบอกว่าหากคนไหนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต้องไม่สามารถกลับมาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้อีก เพียงแต่ขอให้ทำเป็นแบบเดียวกันหมด ทำให้ครอบคลุมหมดทุกฝ่าย
ด้าน”เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสภาปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่นและนายกสมาคมสันนิบาตรเทศบาลแห่งประเทศไทย”บอกทำนองเดียวกันว่า ไม่มีปัญหาไม่ขัดข้อง เพียงแต่ขอให้ความเห็นว่าหากจะทำแบบนี้ ก็ต้องทำเหมือนกันหมดทั้งข้าราชการ องค์กรอิสระ ต้องไม่ให้มีกรณีสองมาตรฐาน คือ ต้องให้ครอบคลุมถึงพวกข้าราชการประจำเอาตั้งแต่ระดับซี 8 ขึ้นไปจนถึงปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ที่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินไว้อยู่แล้ว ก็ควรต้องนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้หมด ยิ่งองค์กรอิสระอันนี้ยิ่งต้องทำด้วย พวกผมยินดีให้ถูกตรวจสอบ ปัจจุบันก็เป็นจำเลยอยู่แล้วที่เขามอง ถ้ายอมแบบนี้แล้วอย่ามากล่าวหากันอีก ในเมื่อตัวแทนท้องถิ่นทั่วประเทศเขาพูดออกมาว่าเขายอม ไม่มีปัญหา ยืนยันไม่คัดค้านแต่อย่าเป็นสองมาตรฐาน
"ลองคิดดูว่าผู้ว่าฯหรือรองผู้ว่าฯเงินเดือนเท่าไหร่ แต่ทุกคนส่งลูกเรียนเมืองนอก เอาเงินมาจากไหนหรือรวยอยู่แล้ว ผมถามกลับเท่านั้นไม่ได้อยากมีเรื่องมีราวอะไรแต่ต้องเอาของจริงมาพูดกัน จะมองแต่ท้องถิ่น จะเล่นแต่ท้องถิ่นอย่างเดียวผมรับไม่ได้ มาตรฐานมันต้องทุกองค์กรทัดเทียมกันหมด”สปช.ท้องถิ่นกล่าวย้ำ
ฟาก”ทนงศักดิ์ ทวีทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี”มองการเสนอร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ดังกล่าวในประเด็นเดียวกันว่า เมื่อตอนนี้จะมีการปฏิรูปแล้ว หากให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ก็ควรเปิดให้หมด พวกข้าราชการระดับผู้ใหญ่อย่างผู้ว่าราชการจังหวัดก็ควรต้องทำด้วย รวมถึง องค์กรอิสระและพวกบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ
“ถามว่าทำไมผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ถูกตรงนี้กลายเป็นแต่ท้องถิ่น แต่คนที่อนุมัติงบประมาณกลับไม่ถูกให้ประกาศ แต่หากจะให้ประกาศบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วย พวกเราท้องถิ่นก็ไม่ขัดข้องไม่มีปัญหา แต่ความเห็นผมว่าไม่ควรให้มีความเหลื่อมล้ำ ถามว่าแล้วป.ป.ช.ต้องเปิดเผยด้วยหรือไม่ ทุกคนต้องเปิดเผยหมด อย่างนายกฯอบจ.ก็เทียบได้กับหัวหน้าส่วนราชการ เปิดก็ต้องเปิดให้หมด”สปช.สายการปกครองส่วนท้องถิ่นผู้นี้ระบุ
ทั้งหมดคือสุ้มเสียงที่มีต่อร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ดังกล่าว ที่คาดว่าสุดท้าย หากวิปสนช.ยอมให้นำร่างนี้เสนอเข้าที่ประชุมสนช. ในปีหน้าโดยเฉพาะหากยอมให้ทุกเรื่องที่ป.ป.ช.เสนอมา ก็จะเป็นร่างพ.ร.บ.สำคัญที่หลายคนจับตามองความเป็นไปมากเป็นพิเศษว่าเสียงส่วนใหญ่ของสนช.จะทำคลอดออกมาแบบไหน และมีผลบังคับใช้เมื่อใด เพราะบางคนอาจกำลังหาทางตั้งหลัก เพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบอยู่ก็เป็นได้!