เปิดหนังสือ "หัสวุฒิ" งัดม.157 ขู่ ก.ศป.ยกเลิกประชุมลงมติคดี "จม.น้อย"
เผยโฉมหนังสือประวัติศาสตร์ ศาลปกครอง "หัสวุฒิ" มอบอำนาจทนายความส่วนตัว ส่งหนังสือแจ้งเตือน "ก.ศป." ยกเลิกการประชุมลงมติพิจารณาคดี "จม.น้อย" ฝาก"ตร."-เพิกเฉยเจอฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ม.157 จนถึงที่สุด
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นหนังสือที่ นายศิริพัฒน์ บุญมี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ทำแจ้งไปถึงคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เพื่อขอให้ระงับการประชุมและลงมติในวาระสำคัญเกี่ยวกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการศาลปกครองได้ทำหนังสือจำนวน 2 ฉบับ โดยอ้างว่า นายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด มีความประสงค์สนับสนุนนายตำรวจ ซึ่งเป็นเพื่อนกับหลานชายให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับ ในวันที่ 17 ธ.ค.57 นี้ เวลา 13.30 น.
เนื่องจากเห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ข้อ 4 (3) และแต่งตั้งบุคคลที่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับนายหัสวุฒิมาทำหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
อีกทั้งการสอบสวนข้อเท็จจริงไม้ได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรมตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งรัดเร่งรีบ รับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นผลร้ายกับนายหัสวุฒิ
นอกจากนี้ การจัดประชุม และการลงมติของก.ศป.ครั้งก่อนๆ เกี่ยวกับเรื่องของนายหัสวุฒิดังกล่าว ก.ศป.ก็ทราบเป็นอย่างดีว่าการจัดประชุมและการลงมติไม่ครบองค์ประกอบ และไม่ครบองค์ประชุม อีกทั้งไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 40 มาตรา 41/1 แต่ ก.ศป.ก็ยังรีบเร่งดำเนินการจัดประชุมและมีมติ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้นายหัสวุฒิได้รับความเสียหาย
พร้อมระบุว่า หากก.ศป.ทั้งหมดหรือบางส่วนยังคงเพิกเฉยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายหัสวุฒิฯ ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องดำเนินคดีกับท่านในข้อหาหรือฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ขณะที่มีการยืนยันข้อมูลจาก ก.ศป.บางส่วนว่า จะยังคงจัดการประชุม ก.ศป. ตามปกติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก.ศป. 6 คน ก็ถือว่าครบองค์ประชุม ดังนั้น แม้จะมีคนไม่เข้าประชุมหรือเดินออกเพียงคนเดียวจาก 7 คนที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน อีก 6 คน ก็ยังประชุมได้ถ้าเห็นว่าเป็นวาระเร่งด่วน
(ดูหนังสือตัวจริงประกอบ)