หมอพื้นบ้าน-ฐานทรัพยากร : "แง่มุมที่ถูกลืม" จากนโยบายสมุนไพรไทยโกอินเตอร์
ปัจจุบัน ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ โดยใช้ยาสมุนไพร และรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกกันมากขึ้น แต่ "พ.ร.บ. วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ...." ความหวังที่จะทำให้ มีการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานวิชาชีพ และคุ้มครองผู้รับการรักษา กลับถูกเพิกเฉยมากว่า 4 ปีแล้ว อนาคตของแพทย์ทางเลือกจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีนโยบายอย่างไร เพราะการแพทย์ถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง นอกจากการมีกฎหมายรับรองเพื่อให้เกิดมาตรฐานการรักษาแล้ว ฐานทรัพยากรสมุนไพรที่จะนำมาปรุงยา ยังจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองด้วย แต่กฎหมายที่จะสนับสนุน และคุ้มครองที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร เพื่อการอนุรักษ์ กลับยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกัน
ผ้าป่าสมุนไพร ปลูกไว้ ให้ลูกหลาน
"ทางการบอกว่า รากไม้ ยาต้ม ยาฝน มันไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน หมอยาหลายคนกลัวตำรวจจับ ไม่กล้ารักษาคนด้วยสมุนไพร ก็หายตามกาลเวลา"
คือเสียงสะท้อนจาก พ่ออำนวย พลหล้า ประธานชมรมหมอพื้นบ้าน จ.อุดรธานี เกี่ยวกับปัญหาของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำลังจะหายไป กว่าจะรวบรวมเป็นเครือข่ายหมอพื่้นบ้านได้ ใช้เวลานานกว่า 2 เดือน และหากไม่ได้รับการสืบทอด อีกไม่นานก็คงหายไปทั้งระบบ เพราะหน้าที่ของหมอยา ก็ไม่ใช่แค่รักษาคนป่วย แต่รวมไปถึงการดูแลทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ เพราะถ้าไม่มีป่า ก็จะไม่มีสมุนไพร
เมื่อไม่มีสมุนไพร ก็ไม่มียารักษาโรค
เสียงของพ่ออำนวยแสดงความกังวลว่า หากยังไม่มีกฎหมายสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชเหล่านี้ อีกไม่นานต้องสูญพันธุ์เข้าสักวัน
ส่วนป่าหัวไร่ปลายนาที่เคยหวังว่า จะเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการอนุรักษ์พืชสมุนไพร ประธานหมอยากล่าวว่าไม่สามารถทำได้อีกแล้ว เพราะการทำนาของเกษตรกรยุคปัจจุบัน ทำให้พื้นดินบริเวณดังกล่าวเสื่อมโทรม จากปุ๋ยเคมี และยาฆ่าหญ้าที่ใช้ในไร่นา ส่วนพื้นที่ป่าอื่นๆ ก็ถูกรุกด้วยพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา ขาดระบบนิเวศน์ที่จะทำให้พืชสมุนไพรเติบโต ครั้นจะนำมาปลูกในรั้วบ้าน ประธานหมอยาบอกอีกเช่นกันว่า เคยลองมาหลายชนิดแล้ว แต่ไม่ได้ผล เพราะจะได้ยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ
จากปัญหาดังกล่าว โครงการผ้าป่าพันธุ์ไม้ "ปลูกยารักษาป่า" จึงเกิดขึ้น โดยเครือข่ายสุขภาพวิถีไทย เครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค และมูลนิธิเพื่อสุขภาพไทย เพื่อขยายพันธุ์สมุนไพรที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ในชุมชนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการร่วมปฏิบัติบูชาด้วยการปลูกพืช โนโอกาสที่ปี 2555 นี้ จะเป็นปีครบรอบพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ครบรอบ 2,600 ปี โดยจะปลูกในเขตป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ รวม 11 พื้นที่ทั่วประเทศ พื้นที่ละ 2,600 ต้น โดยงานนี้มีพระไพศาล วิศาโล เป็นประธานโครงการฯ
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการเลขาธิการ มูลนิธิสุขภาพไทย อธิบายว่า "เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรยังไม่มีความชัดเจน ก็จะทำผ้าป่าปลูกต้นไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์เอง ไม่รอในแง่ของกฎหมาย" เนื่องจากสมุนไพร คือ อาหารและยาของทุกคน มารวมพลังปลูกให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นต่อไป ซึ่งต้นไม้ที่จะนำไปปลูกนั้น มีเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมป่าในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ จะเน้นปลูก ฮ่อสะพายควาย ฝาง ข้าวเย็นเหนือ ว่านชักมดลูก อบเชยฯลฯ ส่วนภาคอีสาน จะเน้นพวกมะขามป้อม รางจืด ยางนา ต้นเต็ง ต้นแดงฯลฯประธานมูลนิธิสุขภาพไทยยังฝากบอกว่า ทั้ง 11 พื้นที่ ทั่วประเทศ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและการเติบโตของพันธุ์พืชที่ปลูกได้ผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิ (http://www.thaihof.org) และหากใครสนใจอยากร่วมสมทบทุนก็สามารถติดต่อผ่านช่องทางดังกล่าวได้เช่นกัน
อาหาร ฐานสมุนไพร
"สมัยก่อนคนกินสมุนไพรเป็นอาหาร ไม่ได้กินเป็นยาเช่นในปัจจุบัน" สุบินทร์ ฤทธิ์เย็น กลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน จ.พิษณุโลก สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนในอดีตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการกิน จะเห็นได้จากอาหารแต่ละชนิดจะอุดมไปด้วย ยาสมุนไพร และสารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย เช่น เครื่องเทศน์ เครื่องแกง และผักพื้นบ้านชนิดต่างๆ ต่างจากคนยุคปัจจุบันที่ใช้ชีวิตเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่นนอนดึก กินอาหารไม่มีประโยชน์ แต่อยากมีสุขภาพดี จึงต้องเสียเงินซื้อยาบำรุงร่างกาย ทั้งที่อาจไม่ช่วยอะไร
"คนสมัยนี้จะกินปลา ยังต้องถามว่า มีโอเมก้าเท่าไหร่ เพราะถูกสอนให้คิดแต่เรื่องสารอาหาร
แต่ไม่เคยปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของตัวเองเลย"
เกษตรกรหนุ่มเมืองพิษณุโลก เล่าถึงภูมิปัญญาอาหารที่คนทั่วไปคุ้นเคย แต่อาจไม่ทราบถึงประโยชน์และสรรพคุณของมัน อย่าง "แกงส้มมะรุม" ว่า "มะรุม" เป็นพืชที่มีวิตตามินซีสูง จะออกผลในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงนั้นคนจะเจ็บป่วยง่ายเพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยน โรคยอดนิยมคือโรคหวัด แกงส้มมะรุมเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพช่วงนี้ เพราะวิตตามินซีในมะรุมจะช่วยบรรเทาอาการแก้หวัด ส่วนพริก ข่า ในเครื่องแกงจะช่วยขับเหงื่อ และรสเปรี้ยวของน้ำแกง ทำให้รับประทานง่าย เพราะคนเป็นหวัดจะไม่ค่อยรู้รสอาหาร แต่คนทั่วไปกลับเลือกที่จะรับประทานมะรุมอัดเม็ดมากกว่า เพราะสะดวกสบายกว่า ในวิถีชีวิตที่เร่งรีบ
"ผักพื้นบ้านเหล่านี้กำลังจะสูญพันธุ์ตามกระแสทุนนิยม"
เขาข้อสังเกตว่า ปัจจุบันเราไม่ได้กินอาหารอย่างที่อยากกิน แต่กินอาหารที่ตลาดกำหนดให้ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ รู้จักผักกินใบเพียงไม่กี่ชนิด เช่นคะน้า กวางตุ้ง และกะหล่ำปลี เพราะตามท้องตลาดมีขายอยู่แค่นั้น แม้ในความเป็นจริงยังมีผักอีกหลากหลายชนิดมาก โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน เช่น ผักกระโดน ผักปัง ดอกแค ชะพลู แต่เมื่อผักเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการในท้องตลาด คนก็ปลูกกันน้อยลง ถ้าไม่หันมาอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน หรือส่งเสริมให้คนปลูก อีกไม่นานก็จะหายไป
"ผักพื้นบ้านปลูกง่าย หรือบางครั้งก็เกิดเองตามธรรมชาติ ตามฤดูกาล ทนทานต่อโรค ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง แต่ผักตามท้องตลาดต้องฉีดยาสารพัด เพื่อป้องกันแมลง และให้มีขายในทุกฤดูกาล ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงไม่มีสิทธิ์เลือก แทนที่กินผักจะแข็งแรง แต่เป็นการสะสมสารพิษโดยไม่รู้ตัว" สุบินทร์กล่าว
ส่วน ชูเกียรติ โกแมน เพื่อนเกษตรกรจากกลุ่มเดียวกัน เล่าว่าเขาเลือกปลูกผักพื้นบ้าน เพราะเห็นว่า กำลังจะสูญพันธุ์ ส่วนหนึ่งต้องการอนุรักษ์ไว้ อีกส่วนหนึ่งเพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิต เพราะ เกษตรกรที่ปลูกพืชผักตามตลาดต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ รวมไปถึงค่าปุ๋ย ค่ายา แทบทั้งสิ้น
"เกษตรกรไม่ได้อะไร นอกจากบริษัทผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง"
นอกจากนี้ เขายังย้ำว่า รัฐบาลต้องจริงใจในการแก้ปัญหา โดยเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกร และผู้สนใจ มีความรู้อย่างจริงจัง เช่นสนับสนุนให้หันมาปลูกพืชท้องถิ่น และ ให้ความรู้เรื่องการตลาดแก่เกษตรกรด้วย ตลอดจน ส่งเสริมให้ผู้คนหันมารับประทานผักพื้นบ้านที่ปลอดภัยกันมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้มีผักที่เต็มไปด้วยสารเคมีเต็มท้องตลาด ส่วนผักอินทรีย์ก็ราคาแพงเกินไป จนคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง
อีกส่วนหนึ่ง เขามองว่า เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิถีชิวิตที่เร่งรีบ ทำให้คนไม่มีเวลามานั่งฉุกคิดเรื่องสุขภาพ ทั้งที่เป็นเรื่องง่าย และทำได้แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
กินข้าวหลากสายพันธุ์ แบ่งปันให้เกษตรกร
หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า "ข้าว" ที่เป็นอาหารหลักของคนไทย จะมีหลากหลายกว่า 20,000 สายพันธุ์ สำหรับคนทั่วไปคงรู้จักพันธุ์ข้าวอันโด่งดังอย่างข้าวหอมมะลิ หรือ ข้าวหอมปทุมกันบ้าง แต่สำหรับพันธุ์พื้นบ้านแท้ๆ อย่าง “ปือโปโหละ เหลืองอ่อน เจ๊กเชย หอมใบเตย เหนียวแดง เล็บนก และปากนก” เชื่อว่า หลายคนคงไม่เคยได้ยินมาก่อน
ข้าวแต่ละชนิด มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป เช่น ข้าวเล็บนก จากปักษ์ใต้ จมีลักษณะที่ไม่นุ่มเกินไป ไม่แข็งเกินไป ถ้ากินกับแกงแล้วจะไม่เละ ส่วน ปือโปะโหละ ป็นชื่อพันธุ์ข้าวชนิดหนึ่งของชาวปากะญอที่ปลูกในแถบภาคเหนือ บริเวณพื้นที่สูงเช่นตามแนวเขา คนทั่วไปรู้จักในนามของข้าวไร่ ที่มีเมล์ และเมล็ดสั้นเหนียวและนุ่มคล้ายข้าวญี่ปุ่น เจ๊กเชยเบา ปลูกในที่ลุ่มภาคกลางมีลักษณะเหนียวนุ่ม บางครั้งนิยมนำมาทำเป็นเส้นขนมจีน จะได้เส้นที่เหนียวนุ่มไม่เหมือนใคร ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนไทยรู้จักข้าวเพียงไม่กี่สายพันธุ์เพราะข้าวพันธุ์พื้นบ้านเหล่านี้ ไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป
“ไม่เพียงไม่มีขาย แต่กำลังหายไปจากท้องทุ่ง”
วิชุดาตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะหลังชาวนาปลูกข้าวตามความต้องการของตลาด ตามคำแนะนำต่อๆ กัน ว่า จะได้ราคาดี ทั้งที่ข้าวบางชนิด ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ไม่ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศและโรคพืช ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดูแล ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมือง คนก็ไม่รู้จัก และไม่นิยมรับประทาน ชาวนาจึงผลิตกันน้อยลง
“ในอดีต คนไทยปลูกข้าวไว้รับประทาน ไม่ได้เน้นขาย พันธุ์ข้าวที่ปลูกจึงเป็นพันธุ์ในท้องถิ่น ซึ่งทนทานต่อโรค ปลูกง่ายไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง”
หากมีการสนับสนุนให้ผู้คนหันมารับประทานข้าวพื้นบ้าน ก็จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนปัจจัยการผลิตลงได้มาก โดยเฉพาะต้นทุนจากการใช้สารเคมี และเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่มาจากกลุ่มบริษัททุนขนาดใหญ่ ต่อให้ขายได้ราคาดี ก็ยังไม่คุ้มกับต้นทุนที่จ่ายไป
ปัญหาที่ทำให้ ข้าวพันธุ์พื้นบ้านไม่เป็นที่รู้จัก เธอกล่าวว่า เกิดจากช่องว่าง และการขาดสื่อกลาง ที่เรียกว่าระบบตลาด และถ้าถามว่ารัฐบาลควรช่วยเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้อย่างไร วิชุดาตอบว่า ต้องทำให้ผู้ผลิตตัวจริง ที่ไม่ใช่กลุ่มทุน ได้มาพบกับผู้บริโภคตัวจริงที่ ไม่ใช่กลุ่มทุนหรือพ่อค้าคนกลาง และทำให้ข้าวพื้นบ้านได้เป็นที่รู้จัก และผู้คนนิยมหันมาบริโภค
แค่นี้ก็เท่ากับเป็นการแบ่งเงินจากกระเป๋านายทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี มาใส่กระเป๋าเกษตรกรแล้ว และยังช่วยให้คนไทยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย เพราะการกินอาหารหลากหลายสายพันธุ์ ย่อมดีกว่าการรับประทานแบบเดียวซ้ำๆ
ไม่ว่าเป็น "สมุนไพร" หรือ "อาหาร" ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน และมีสภาพปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ สมุนไพรไม่มีพื้นที่ยืนในป่า เพราะถูกรุกด้วยพืชเศรษฐกิจ ในขณะที่ข้าวและพันธุ์พืชพื้นบ้าน ก็ขาดพื้นที่ยืนในท้องตลาด ส่วนนโยบายรัฐบาล ที่ควรจะส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น กลับเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้ผลิตสารเคมี
น่าคิดว่า ประเทศที่เคยมีคำขวัญ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" จะเป็นอย่างไร ในอนาคต