'โฆสิต' ชี้โจทย์ท้าทายสำคัญ โครงสร้างประชากรไทยฉุดการเจริญเติบโตทางศก.
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ชี้ 3 ปัจจัยส่งผลเศรษฐกิจชะลอตัว ย้ำโครงสร้างประชากรเป็นแรงต้านสำคัญ
วันที่ 12 ธันวาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับกองทุนประชากร แห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดสัมมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับอนาคตการพัฒนาประเทศ ณ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เอ1 ชั้น22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและคณะกรรมการสำนักงานแผนประชากรการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับอนาคตการพัฒนาประเทศ"
นายโฆษิต กล่าวตอนหนึ่งถึงการที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้ว โดยดูจากสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานเริ่มลดลง ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และประเทศก็มีระดับรายได้อยู่ในระดับปานกลาง นี่จึงเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาประเทศในอนาคต ฉะนั้นถึงเวลาที่จะต้องซีเรียสไม่ใช่สักแต่พูดถึงแล้วก็ลืมไป หรือเขียนแต่ไม่มีอะไรตามมา
“วันนี้น่าจะถึงเวลาซีเรียสโดยช่วยกันคิดว่าจะเริ่มต้นทำอะไรกันสักทีหนึ่ง เนื่องจากเรื่องของประชากรมีเหตุผลทางวิชาการอยู่เป็นจำนวนมากที่สะท้อนว่า เราจำเป็นจะต้องคิดให้ดี ถ้าคิดไม่ดี ทำแล้วไม่ได้ผล ก็ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแน่นอน”
นายโฆสิต กล่าวถึงโครงสร้างประชากร กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่องประชากร เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างทางประชากรและการประมาณการในอีก20 ปีข้างหน้าเปลี่ยนไม่ได้แล้ว คนเหล่านี้เกิดมาแล้ว และกำลังทยอยเข้าสู่สภาวะการดำเนินชีวิตในช่วงต่างๆ โครงสร้างนี้จึงเป็นความจริงไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้เหมือนเรื่องอื่น
"นี่จึงเป็นโจทย์หรือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่เหมือนปัญหาเรื่องภาษีที่จะแก้ระยะสั้นระยะยาวได้ แต่เรื่องประชากรเป็นเรื่องที่ต้องยินยอมพร้อมใจจากคนในสังคม หากต้องการให้ประเทศเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจริงๆจะต้องหันมาดูแลโครงสร้างสังคมให้ดี โดยเฉพาะเรื่องประชากร ถามว่าแนวทางที่มีอยู่จะพอไปไหวไหม ก็ต้องบอกว่า พอได้ แต่ต้องทำกันจริงๆจังๆ"
ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย สศช. กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ ทั้งศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังแรงงานลดลง จำเป็นจะต้องทดแทนด้วยคุณภาพของประชากร การออมภาคครัวเรือนที่ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทย และความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัวไทย โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ของครอบครัวที่ลดหายไป รวมไปถึงทัศนคติและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนรุ่นเจเนอเรชันวายที่ชะลอเรื่องการแต่งงานและการมีบุตรที่ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ของไทยในอนาคต
ทั้งนี้ นายโฆสิต กล่าวด้วยว่า นอกจากไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เรื่องการออมเงินในกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ ยังมีอัตราการออมต่ำมาก เพราะนโยบายการกระตุ้นการบริโภคทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยหวังให้ตัวเลขเศรษฐกิจโต ที่ส่งผลให้ประชาชนไม่มีเงินออม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขและรัฐควรวางนโยบายในระยะยาวที่เหมาะสมเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ
"จากความท้าทายเหล่านี้ ได้นำไปสู่บทสรุปของการวางกรอบแนวคิดทิศทางนโยบายประชากรในการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี ที่ครอบคลุม 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การเพิ่มศักยภาพประชากรไทยให้สนับสนุนต่อการเจริญเติบโตของประเทศที่เพียงพอ การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและหลักประกันทางสังคมให้กับประชากรไทย และการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับครอบครัวไทย ซึ่งในขั้นต่อไปจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดของแผนที่ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของฝ่ายๆต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยมารองรับและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดรายละเอียดมาตรการได้อย่างรอบคอบ"
ขอบคุณภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจ