"อักษรา"บินถก"ซัมซามิน"แล้ว จับตาข้อเสนอตั้งสนง.ขับเคลื่อนพูดคุยในไทย
กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเดินหน้าแล้ว ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเยือนมาเลเซียเมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธ.ค.57 และได้หารือเรื่องดังกล่าวกับ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
ในการพบปะกันระหว่างสองผู้นำ ฝ่ายไทยได้แนะนำ พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ขณะที่มาเลเซียแจ้งว่าจะมอบหมายให้ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการทำหน้าที่ต่อเนื่องจากเมื่อครั้งที่ไทยเปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
3ข้อตกลงเบื้องต้น
สำหรับกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งผู้นำของสองประเทศได้ตกลงกันไว้มี 3 ข้อ คือ 1.ยุติความรุนแรงและไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา 2.พูดคุยกับผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่ชูหรือเน้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ และ 3.นำความต้องการของทุกกลุ่มในพื้นที่มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ กลับจากเดินทางเยือนมาเลเซียแล้ว ก็มีข่าวว่านายกฯได้ลงนามโครงสร้างคณะพูดคุยสันติสุข อันประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมายเป็นประธาน, คณะพูดคุยสันติสุข มี พล.อ.อักษรา เป็นประธาน และคณะประสานงานระดับพื้นที่ มี พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธาน
ขณะเดียวกันก็มีข่าวมาตลอดว่า พล.อ.อักษรา จะเดินทางไปมาเลเซียอีกครั้งช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อพบปะทำความรู้จักและหารือเกี่ยวกับกรอบการพูดคุย รวมถึงตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย
ดอดถก"ซัมซามิน"
กระนั้นก็ตาม มีรายงานอีกกระแสหนึ่งว่า พล.อ.อักษรา พร้อมคณะ ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ท.กิตติ อินทรสร แม่ทัพน้อยที่ 4 และผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เดินทางไปมาเลเซียแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อทำความรู้จักกับคณะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ มีรายงานว่าคณะของ พล.อ.อักษรา ได้พบกับ ดาโต๊ะซาซามินและคณะ พร้อมได้หารือกันเกี่ยวกับกรอบการพูดคุยสันติสุข โดยเฉพาะการยกร่างทีโออาร์ หรือขอบเขตภารกิจที่เป็นรายละเอียดของการพูดคุยฉบับใหม่ โดยฝ่ายมาเลเซียมีข้อเสนอให้ตั้ง "สำนักงานขับเคลื่อนการพูดคุย" ขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมาเลเซียจะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเองด้วย หากทำได้คาดว่าจะจัดทำข้อตกลงหยุดยิงได้ภายในกลางปี 58
เผชิญ2ข้อสังเกต
อย่างไรก็ดี ไม่มีความชัดเจนว่าคณะพูดคุยฝ่ายไทยรับข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่ แต่มีข้อสังเกตว่าการเดินทางไปพบปะกับคณะของดาโต๊ะซัมซามิน เป็นการพบปะอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพราะคณะพูดคุยสันติสุขที่มี พล.อ.อักษรา เป็นประธานนั้น ยังไม่ได้ตั้งคณะทำงาน 10-15 คนตามกรอบนโยบายและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีลงนาม
ประกอบกับคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ยังไม่ได้ประชุมกันแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การขับเคลื่อนกระบวนการของคณะพูดคุยน่าจะเกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการอำนวยการฯได้ประชุมและมอบนโยบายการพูดคุยอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนทีโออาร์ที่จะยกร่างใหม่นั้น ไม่ชัดว่าซ้ำซ้อนกับทีโออาร์ที่ทีมงาน สมช.ของไทยกับมาเลเซียได้จัดทำไว้แล้วก่อนที่นายกฯประยุทธ์เดินทางเยือนมาเลเซียหรือไม่
แจงร่างทีโออาร์ใหม่
ด้านแหล่งข่าวในรัฐบาลที่รับรู้ความคืบหน้ากระบวนการพูดคุย เปิดเผยว่า พล.อ.อักษราพร้อมคณะเดินทางไปมาเลเซียแล้วจริงเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ธ.ค. แต่เป็นการไปพบปะพุดคุยทำความรู้จักกันตามปกติ และยังไม่มีฝ่ายผู้เห็นต่างเข้ามาเกี่ยวข้อง
สำหรับทีโออาร์ที่จะยกร่างร่วมกันใหม่นั้น เป็นทีโออาร์ที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดภารกิจของทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาลไทย ผู้อำนวยความสะดวก และผู้เห็นต่าง ส่วนทีโออาร์ที่ สมช.เคยไปร่วมยกร่างก่อนนายกฯเดินทางเยือนมาเลเซีย เป็นเพียงการกำหนดบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทีโออาร์ที่จะยกร่างใหม่
"นโยบายเปลี่่ยนแปลงไปมาก ก็ต้องปรับทีโออาร์ใหม่ สมมติเราจะตั้งคณะพูดคุย 10 คน จากเดิม 15 คน ตรงนี้ก็ต้องปรับแก้ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องทางธุรการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่าใครจะรับผิดชอบส่วนไหน เหล่านี้ต้องบรรจุในทีโออาร์ฉบับใหม่" แหล่งข่าวกล่าว
เร่งส่งชื่อทีมพูดคุย
แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการประสานให้ผู้เห็นต่างทุกกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ ส่งตัวแทนมาร่วมพูดคุย ขณะที่การประสานงานกันระหว่างไทยกับมาเลเซียจะมีเป็นระยะๆ ต่อไป และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้พื้นที่ประเทศไทยในการพบปะและทำงานร่วมกัน
ส่วนคณะพูดคุย 10-12 คนที่ยังไม่ได้แต่งตั้งตัวบุคคลอย่างเป็นทางการนั้น แหล่งข่าวบอกว่า คำสั่งที่นายกฯลงนาม เป็นคำสั่งตั้ง พล.อ.อักษรา เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย และมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน แต่ยังไม่มีการระบุตัวบุคคล ขณะนี้ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวให้เร่งพิจารณาแล้ว คาดว่าจะส่งชื่อกลับมาภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับองค์ประกอบของคณะพูดคุย นอกจาก พล.อ.อักษรา แล้ว ได้แก่ ผู้แทน สมช. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทน กอ.รมน. ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 4 นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดย พล.อ.อักษรา เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะดึงแม่ทัพภาคที่ 4 มาอยู่ในโครงสร้างด้วย
พูโลขานรับเจรจา
ด้านองค์กรพูโล ที่นำโดย นายกัสตูรี มาห์โกตา หนึ่งในกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เคลื่อนไหวปลดปล่อยปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีในเว็บไซต์ puloinfo.net ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนมาเลเซียและแถลงเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุข โดยประกาศว่าพูโลยืนหยัดสนับสนุนกระบวนการเจรจาที่จะมีขึ้นอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของพูโลกลุ่มนายกัสตูรี ระบุตอนหนึ่งว่า นายกฯของทั้งสองประเทศได้ตกลงเห็นพ้องว่าหลักเกณท์ของกระบวนการเจรจาจะสามารถดำเนินต่อเนื่องได้นั้นต้อง 1.หยุดความรุนแรงทุกรูปแบบ 2.ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาของทุกขบวนการ และ 3.พยายามให้ทุกขบวนการตกลงกันเองให้มีเสียงอันหนึ่งอันเดียวกันในการยื่นข้อเสนอต่างๆ
เฮ2เงื่อนไขถูกเลิก
"จากทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นศิลาฤกษ์ในการดำเนินการต่อไป ซึ่งจะเห็นว่าประเด็นพื้นฐานบางส่วนได้รับการแก้ไขและยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอำนวยความสะดวกที่สามารถรู้สึกภาคภูมิใจมีดังนี้
1.เงื่อนไขการเจรจาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยถูกตัดออกอย่างสิ้นเชิง นี่คือข้อบ่งชี้ว่าทิศทางของการมีกระบวนการเจรจาที่เหมาะสมได้ก่อตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเห็นได้ชัดว่าไทยได้เข้าใจและใช้ความระมัดระวังในการจัดการกับประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกในหมู่ชนชาวมลายูปตานีและรัฐบาลไทยเอง
2.ผลสำเร็จของการเยือนในครั้งนี้ มีจุดที่น่าภูมิใจอีกอย่างก็คือการกำหนดกฎเกณท์ที่จะเจรจากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะนั้น ถูกยกเลิกเช่นกัน กระบวนการของการเจรจาที่จะมีขึ้นครั้งหน้านี้ ทุกขบวนการจะมีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยไม่มีฝักฝ่าย ตามสภาพจริงและสถานะของกลุ่มจะได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคตามสัดส่วน"
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ดาโต๊ะซัมซามิน (ขวา) พล.อ.อักษรา
อ่านประกอบ :
1 นายกฯคุมเองพูดคุยดับไฟใต้ "อักษรา" เตรียมจัดทีมไปมาเลย์
2 นายกฯถกนาจิบเปิดตัว"อักษรา" - ซัมซามิน เจ้าเก่าอำนวยความสะดวกพูดคุย
3 เสนอ"คณะทำงาน10คน"พูดคุยดับไฟใต้ นายกฯเยือนมาเลย์1ธ.ค.คิกออฟสันติสุข