เทียบชัดๆ "กองทุนเงินออม VS ผู้ประกันตน ม.40"
เราคงได้เห็นภาพ "ผู้สูงอายุ" แห่ไปสมัครเข้ารับสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 40 หวังออมเงินไว้ใช้บั้นปลายชีวิตกันแล้ว หลังจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขยายความคุ้มครองประกันสังคม มาตรา 40 ให้แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทุกทางเลือก ส่วนผู้สูงอายุเกิน 65 ปีนั้นให้สมัครทางเลือกที่ 3 คือ รับสิทธิออมเงินยามชราภาพซึ่งได้รับความสนใจจากคนสูงวัยมาสมัครกันอย่างล้นหลามนั้น
ผู้สูงอายุอาจเข้าใจว่า ประเทศไทยมีเพียงทางเลือกเดียวของการเข้าสู่ระบบบำนาญยามชราภาพ ความจริงแล้ว เรายังมี "กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.)" เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับสมัครสมาชิกแต่อย่างใด แม้จะมีพระราชบัญญัติกองทุนเงินออมแห่งชาติ ออกมาเป็นกฎหมายแล้ว ตั้งแต่ปี 2554
สำนักข่าวอิศรา รวบรวมรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ระหว่าง การเข้าเป็นสมาชิกประกันตนตามมาตรา 40 และกองทุนเงินออมแห่งชาติ
หมายเหตุ:
ระบบสวัสดิการ และระบบการออมเพื่อการเกษียณ มีความแตกต่างกัน ควรแยกออกจากกัน
การจัดสวัสดิการ เป็นภาระผูกพันระยะสั้น มีขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการดำรงชีวิตขณะที่อยู่ในวัยทำงาน ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน ตาย ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
ขณะที่การออมเพื่อการเกษียณ เป็นภาระผูกพันระยะยาว และกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ ควรอยู่ใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่กำกับการดูแลการออมเพื่อการเกษียณส่วนใหญ่ของประเทศ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ รวมถึงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ