นายกฯรับชวนอานันนท์-ประเวศนำขบวนปฏิรูป ฟันธงภาค ปชช.ปฏิเสธบทบาทรัฐไม่ได้
หมออำพลแนะกระแสปฏิรูปกำลังแรงต้องติดเครื่องก่อนเป็นไฟไหม้ฟาง หมอประเวศชี้ให้สังคมนำการเมือง ลดความเหลื่อมล้ำใช้เวลา 10 ปี แต่ใน 3 เดือนต้องมีกลไกขับเคลื่อน อภิสิทธิ์ฟันธงภาคประชาชนปฏิเสธบทบาทรัฐไม่ได้ รับทาบทามอานันท์-หมอประเวศ-ไพบูลย์-อคิน นำขบวนปฏิรูปภายใน 1 สัปดาห์ คาดสิ้นปีมีแผนงานชัดเจน ด้าน ม.ร.ว.อคิน บอกต้องเริ่มจากระดมปัญหารากหญ้าขึ้นมา และต้องมีองค์กรอิสระไม่ขึ้นกับรัฐขับเคลื่อนปฏิรูป
วันนี้(17 มิ.ย.) ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดเวที“ระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน ภาคธุรกิจ นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐเข้าร่วม นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ไทยต้องเผชิญวิกฤติการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกระทั่งเกิดการเรียกร้องและขานรับ ให้ปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มความเป็นธรรม ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระแสเป็นเหมือนไฟไหม้ฟางจึงต้องกำหนดแนวทางการปฏิรูปที่ เหมาะสมเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เสนอรัฐบาลนำไปสร้างรูปธรรม
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า วิกฤติการณ์ของประเทศครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สะสมมานานมีความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง ซึ่งอำนาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องใช้หลัก “สังคมนำ-การเมืองตาม” เพราะพื้นฐานของคนไทยจิตใจดี ถ้าใช้สังคมขับเคลื่อนจะทำให้ไม่เกิดความรุนแรงดังที่ผ่านมา เสนอให้ขับเคลื่อนโดยใช้หลัก 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือควบคู่กันไปทั้งพลังสังคม-พลังปัญญา-พลังอำนาจรัฐ โดยพลังทางสังคมต้องขับเคลื่อนอย่างอิสระกว้างขวางหลากหลายและเข้มแข็ง เพื่อให้ได้คำตอบว่าประชาชนต้องการอะไร จนเป็นเป้าหมายร่วมที่ชัดเจนของสังคม
นพ.ประเวศ วะสี ยังกล่าวว่า ภารกิจสำคัญของการปฏิรูปประเทศไม่ใช่การสร้างความปรองดอง แต่เป็นการแก้ความเหลี่ยมล้ำทางสังคม สร้างความเป็นธรรม แก้ปัญหาความยากจน ซึ่งจะทำให้ความสามัคคีปรองดองตามมา ภารกิจนี้ใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ที่เร่งด่วนตอนนี้คือภาคสังคมต้องสร้างกลไกปฏิรูปที่เป็นอิสระ โดยภาครัฐสนับสนุนแต่ไม่ครอบงำ ซึ่งทำได้โดยออกเป็นมติ ครม.หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน ซึ่งต้องมีมาตรการแก้ปัญหาที่เข้มข้นพอ เช่น มาตรการทางภาษี การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สร้างสังคมสวัสดิการ ระบบยุติธรรม ระบบการศึกษา และกลไกที่จะตั้งขึ้นมาต้องมีความยั่งยืนไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
“อย่ารอให้รัฐจัดประชานิยมมาช่วยเหลือ เพราะสุดท้ายจะทำลายความเข้มแข็งของสังคม ประชาชนจะรอแต่ความช่วยเหลือโดยไม่ช่วยตัวเอง แต่ถ้าส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง จะเกิดพลังขับเคลื่อนด้วยชุมชนเองแก้ปัญหาทุกอย่างได้เอง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัตน์ ผู้จัดการ สสส. นำเสนอผลการระดมความคิดเห็นคือ 1.ด้านการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากร รัฐต้องให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตัดสินใจและแก้ไขปัญหา มีการศึกษาผลกระทบการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ 2.ด้านอาชีพ รายได้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เอาเปรียบคนจนทำลายเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาสให้ทั่วถึงเป็นธรรม ปกป้องวิถีชีวิตชุมชน แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร 3.ด้านการศึกษา ปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรมและจริยธรรม สร้างการเรียนรู้ที่เท่าทันและยอมรับความแตกต่าง 4.การบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมาย ปฏิรูประบบราชการให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีจิตสำนึกที่ดี และมีระบบประเมินผลโดยประชาชน 5.ด้านการเมืองการปกครองและประชาธิปไตย พัฒนาคนที่จะเข้าสู่อาชีพการเมืองให้มีคุณธรรมจริยธรรม สร้างความโปร่งใสในระบบการเมืองการปกครองและความยุติธรรม 6.สื่อ เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด ทำ ร่วมผลิตรายการและเป็นเจ้าของรายการ
ส่วนข้อเสนอเชิงกลไกและกระบวนการขับเคลื่อนปฏิรูป ให้ยึดหลัก 5 ส. คือ สันติภาพ สามัคคี สัตยาบัน สื่อสาร ส่วนร่วม สร้างกลไกลที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนแต่ไม่เข้าไปทำเอง ตั้งกองทุนปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการดำเนินการเป็นหลักประกันความต่อเนื่อง ในการทำงาน และยังเสนอให้นายกรัฐมนตรีเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน, ศ.นพ.ประเวศ วะสี, นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ มาเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาหลักคือการรวมคนไทยให้มีส่วนร่วมปฏิรูป เพราะยังมีคนที่ไม่เห็นรวมทั้งที่หวาดระแวงไม่เชื่อมั่น อย่างไรก็ตามอยากให้ใช้วิกฤติเป็นโอกาสแก้ปัญหายากๆซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครง สร้าง และที่ต้องทำจากนี้มี 2 ส่วนคือ ด้านเนื้อหาสาระซึ่งอาจเพิ่มมาเรื่อยๆ จึงต้องเชื่อมโยงประเด็นต่างๆอย่างมีทิศทางเป็นระบบ มีวิสัยทัศน์ร่วมคือทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิพื้นฐาน มีศักดิ์ศรี อย่างเป็นรูปธรรม
“ทำให้คนไทยมีความมั่นคงอยู่ได้ท่ามกลางกระแสความผันผวน สร้างโอกาสทั้งอาชีพ รายได้ การศึกษา อาจต้องมองไปที่ระบบสวัสดิการซึ่งไม่ใช่รัฐสวัสดิการที่พึ่งรัฐอย่างเดียว ทั้งนี้ต้องทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและมีกติกาการอยู่ร่วมกัน ด้วย”
ส่วนกลไกการทำงาน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าอายุรัฐบาลนี้เหลืออีกไม่นานจึงต้องเร่งสร้างกลไก ปฏิรูปที่สามารถทำงานก้าวข้ามรัฐบาลได้ และพร้อมจะไปทาบทามผู้ใหญ่ที่เวทีเสนอชื่อมาให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ รวมทั้งเร่งให้เกิดความชัดเจน 2 เรื่องคือ กรอบเวลาทำงาน ซึ่งมองว่า 3 ปีน่าจะเกิดรูปธรรมได้ ส่วนกระบวนการจัดทำแผนขณะนี้ได้เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินสิ้นปี และส่วนตัวมองว่าในการปฏิรูปประเทศนั้นภาคประชาชนควรทำงานควบคู่ไปกับรัฐ
“ที่เป็นคำถามมากคือความคิด 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งบอกการเมืองแก้ปัญหาไม่ได้ไม่ต้องการให้รัฐบาลมายุ่ง อีกขั้วมองว่ารัฐไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ แต่ที่สุดแม้หลายท่านรังเกียจกระบวนการการเมืองหรืออำนาจรัฐ แต่การแก้ไขปัญหาต้องใช้กระบวนการทางการเมืองหรืออำนาจรัฐอยู่ดี”
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอจากเวทีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง และยังมีเครือข่ายประชาชนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะเสนอความคิดเห็นและมีส่วน ร่วม ทั้งนี้มองว่าทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้งทั้งระดับตำบล และจังหวัด และรัฐเป็นฝ่ายอำนวยการเพราะการปฏิรูปจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีคน กลไก และงบประมาณ
ด้าน ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักพัฒนาอาวุโส เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ยินดีเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป และมองว่าถ้าสามารถเริ่มจากการรวบรวมปัญหาและแนวทางแก้ไขจากประชาชนรากหญ้า ในพื้นที่ได้ ก็จะเกิดกระบวนการปฏิรูปที่แท้จริง สิ่งที่ต้องเร่งทำคือให้สิทธิ์และเสียงของคนรากหญ้าขึ้นมาข้างบนให้ได้ นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้ และต้องมีหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลมาขับเคลื่อน เพราะเมื่อรัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลง กลไกจึงจะสามารถเดินหน้าต่อได้
“เริ่มจากเวทีในหมู่บ้าน มีองค์กรพัฒนาเอกชนที่เชื่อมได้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ดิน มลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรรม ฯลฯ และอาจรวมประชาชนที่ร่วมระดมความคิดเห็นมาเป็นสภาประชาชนทำงานควบคู่กับคณะปฏิรูปประเทศไทย” ดร.ม.ร.ว. อคิน กล่าว .