พบ“ผู้สูงอายุไทยสุขภาพเสีย”มากถึง 9. 2 ล้านคน
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจล่าสุดในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 9.7 ล้านคน เพิ่มปีละ 5 แสนคน ในจำนวนนี้สุขภาพไม่ดีร้อยละ 95 หรือจำนวน 9.2 ล้านคน มากสุดป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 41 พิการร้อยละ 6 นอนแซ่วติดเตียงร้อยละ 1 เร่งพัฒนาระบบดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมให้ดีกว่าประเทศเจริญแล้ว ขยายผลลงทุกตำบล หวังให้ผู้สูงอายุไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 มีพฤติกรรมสุขภาพดี ได้รับการดูแลทุกคน
วันที่ 8 ธันวาคม 2557 ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 250 คน เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ ทั้งที่ยังไม่เจ็บป่วยและเจ็บป่วยแล้ว หรือพิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือเรียกว่าการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care)
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากในปี 2553 มี 7.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 เพิ่มเป็น 9.7 ล้านคน ในปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ เฉลี่ยเพิ่มปีละ 500,000 คน เป็นวัยที่ร่างกายอยู่ในสภาวะเสื่อมถอยตามธรรมชาติ เช่น สายตาไม่ดี เข่าเสื่อม ไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งและเน้นมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงพัฒนาสังคมฯร่วมจัดทีมในการอบรมประเมินความต้องการทางสังคมของผู้สูงอายุ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯออกแบบโปรแกรมเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนงานในระดับท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมองค์ความรู้ เป็นต้น
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการจัดบริการที่สำคัญ จะเพิ่ม 2 เรื่อง คือการส่งเสริมสุขภาพดี โดยเฉพาะพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อชะลอความชรา และจัดทีมดูแลผู้สูงอายุที่ป่วย พิการ นอนติดเตียง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้อยู่ที่บ้าน ต้องการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษซึ่งมีประมาณ 97,000 คน ให้ได้รับการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างทัดเทียมหรือสูงกว่าประเทศที่เจริญแล้ว ในปี 2557 นี้ จะนำร่องใน 20 จังหวัด ขณะนี้ได้อบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) ไปแล้ว 9 จังหวัด รวม 71 คน ภายในเดือนนี้จะเพิ่มให้ได้ จำนวน 100 คน และขยายผลให้ครบ 500 คนในเดือนเมษายน 2558 สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุมและกระจายตามพื้นที่ในทั่วประเทศ ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้จัดทำแผนพัฒนาผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น สอดคล้องแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ ทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบทและในเมือง
ด้าน นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี2556 โดยกรมอนามัยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 26 เช่นออกกำลังกายทุกวัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ผู้สูงอายุร้อยละ 95 หรือ 9.2 ล้านคนป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 41 โรคเบาหวาน ร้อยละ 10 โรคเข่าเสื่อมร้อยละ 9 โรคซึมเศร้าร้อยละ 1 เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงร้อยละ 1 และผู้พิการร้อยละ 6 ในจำนวนนี้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้เพียงร้อยละ 57
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 50 มีภาวะอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน ทำให้การเดินลำบากยิ่งขึ้น มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 6 แสนคน จึงต้องเร่งสร้างระบบการดูแลให้เหมาะสม กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ คือ มีการออกกำลังกายควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน มีสุขภาพจิตดี ดื่มน้ำสะอาด รับประทานผักผลไม้เพียงพอ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ให้ได้ร้อยละ 30 ของผู้สูงอายุ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยชะลอการเจ็บป่วยลงได้มาก