“เด็กนอกระบบ” เหยื่อบริสุทธิ์จากดอกผล ครอบครัว–ชุมชน- โรงเรียน”
สังคมเต็มไปด้วยกับดักที่เยาวชนคือเหยื่อ ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถพัฒนาการทันกับสิ่งเร้าที่แฝงอยู่ เด็กจำนวนมากถูกครอบงำโดยอบายมุข เป็นโรคภูมิคุ้มกันศีลธรรมบกพร่อง ผู้ใหญ่น้อยคนกล้ายืดอกรับว่าปัญหาเกิดขึ้นนั้นครอบครัว-สถาบันการศึกษาคือสารตั้งต้น เพื่อนฝูง-สังคม-วัตถุคือตัวเร่งปฏิกิริยา
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ฉายภาพความจริงข้างต้นให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับเทศบาลนครขอนแก่น ลงพื้นที่สัมผัสกับกลุ่มเด็กนอกระบบ(ถูกขับออกจากสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เพื่อถอดรหัสจนถึงแก่น
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อดีต ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ในฐานะที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์เด็กนอกระบบซึ่งอยู่ในระดับรุนแรงว่า จากที่ได้เก็บข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่ามีเด็กที่ออกจากระบบไปก่อนจะถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประมาณ 3 ล้านคน หรือเฉลี่ยปีละกว่า 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงคือสภาพครอบครัว ส่งผลกระทบต่อการเรียน ท้ายที่สุดถูกตีตราว่าเป็นเด็กที่ “บกพร่องทางการเรียนรู้” และถูกแรงขับทางสังคมบีบออกมานอกระบบ
อาจารย์อมรวิชช์ วิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมว่า ปัจจุบันสังคมไทยเต็มไปด้วย “เด็กกำพร้าเทียม” กล่าว คือมีผู้ปกครองแต่กลับไม่ได้พบหน้าหรืออยู่ด้วยกัน มีพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาและเลือกที่จะใช้เงินเลี้ยงลูก ขณะที่ระบบการศึกษาไทยก็เป็น “ระบบอำนาจ” เป็นการร่างนโยบายจากส่วนกลางเพื่อสอนเด็กทั้งประเทศที่มีความแตกต่างกัน เมื่อทั้ง 2 ส่วนผนึกเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว ปัญหาเด็กและเยาวชนจึงเกิด
“ผมเชื่อว่าเมื่อพระเจ้าเอาสิ่งหนึ่งไปจากพวกเขา พระเจ้าย่อมประทานอีกสิ่งหนึ่งมาทดแทนให้พวกเขาเสมอ”
นักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน ระบุและว่า โอกาสและความเข้าใจคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กกลุ่มนี้ กล่าวคือส่วนตัวมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ “เด็กหลังห้อง” ซึ่งมีอยู่แทบทุกชุมชน เด็กกลุ่มนี้จะไม่เป็นที่โปรดปรานของครูผู้สอน ทำอะไรขวางหูขวางตาไปหมด สอบวัดผลก็ได้คะแนนไม่ได้ แต่หลังจากที่ลองเปิดโอกาสให้พวกเขาคิดอะไรเชิงสร้างสรรค์ เช่น ผลิตหนังสั้น ปรากฎว่ากลับทำได้ดีมาก ผู้ที่ชนะเลิศหลายโครงการคือเด็กหลังห้องแทบทั้งสิ้น
“มีแต่พูดว่าเด็กคนนั้นคนนี้บกพร่องทางการเรียนรู้ แต่กลับไม่เคยมีการพูดถึงครูที่บกพร่องทางการสอนบ้าง” ดร.อมรวิชช์กล่าว
ขณะที่เด็กหนุ่มวัย 18 ปี รอยสักเต็มตัว นามว่า โกเบ สะท้อนละครชีวิตให้ฟังว่า ช่วงประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-5 มีผลการเรียนดีมาก แม่จึงซื้อรถจักรยานยนต์ให้เป็นรางวัล พอมีก็เริ่มเที่ยวเริ่มไปกลับเพื่อน นานเข้าก็ไม่กลับบ้านและเริ่มดื่มเหล้าสูบบุหรี่ตามคำชวนของเพื่อน พอกลับบ้านไปก็ถูกพ่อแม่ดุด่า ประกอบกับวิถีชีวิตของเด็กธรรมดาคือไม่ชอบทำอะไร เมื่อไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานก็ถูกดุด่าอีก รถจักรยานยนต์ก็เอาไปขาย
“บ้านมันอยู่ไม่ได้แล้ว ผมจึงตัดสินใจเลิกเรียนแล้วไปอยู่กับเพื่อน” โกเบ ย้อนอดีตต่อไปว่า พอไปอยู่บ้านเพื่อนก็เริ่มลองยาเสพติด หนักเข้าก็ไม่มีเงินก็ไปขอแม่ แม่ก็ด่าเหมือนเดิม เราก็เลยไปทำอะไรที่ผิดกฎหมาย
“ผมเคยทำเรื่องชั่วๆ มาเยอะมาก เคยมีคดีนับไม่ถ้วนทั้งเรื่องยาเสพติดหรือจี้ปล้น แต่ก็ไม่ใช่เพราะอยากทำตั้งแต่เริ่ม จำได้ว่าครั้งนึงเรามีเงินเพียงเล็กน้อยก็ไปซื้อรถมอเตอร์ไซด์ของโจรมาราคา ถูก ขับๆ อยู่ก็ถูกตำรวจจับ จับไปก็ซ้อมอีก หาว่าของทั้งหมดที่เราขโมยไปอยู่ไหน เราก็คิดในตอนนั้นว่าทำไมผู้ใหญ่คิดกับเราถึงขนาดนี้ ก็เลยทำมันซะเลย” หนุ่มวัย 18 เล่าด้วยเสียงน้อยเนื้อต่ำใจ
ส่วน เบียร์ เด็กหนุ่มวัยไล่เลี่ยกับโกเบ ถูกขับออกจากระบบโดยที่ตัวเขายังไม่เข้าใจจนถึงบัดนี้ เบียร์ เล่าว่า เริ่มมีปัญหากับที่บ้านคล้ายๆ กับคนอื่น คือถูกพ่อแม่ดุด่า และด้วยวุฒิภาวะที่ยังเป็นเด็ก พอมีโอกาสได้เห็นพี่ๆ ไม่เรียนหนังสือแล้วอยู่ได้ก็อยากทำตาม ผนวกกับที่ไม่ชอบให้ครูมาจุกจิก สุดท้ายก็ออกจากโรงเรียนมาโดยไม่ได้บอกใคร กระทั่งเวลาผ่านไประยะหนึ่งรู้สึกตัวว่าไม่ดีจึงขอกลับเข้าไปเรียนใหม่ ทว่าโรงเรียนไม่รับเด็กชายเบียร์อีกแล้ว
“ผมคิดว่าครูคงไม่ชอบหน้าผม พูดก็ด่า เงียบก็ด่า ยอมรับว่าอิจฉาน้องๆ ที่ได้ไปเรียน ผมอยากเรียนแต่คงเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว” เด็กนอกระบบรายนี้ตัดพ้อชีวิต
ด้วยปัจจัยข้างต้น จึงเป็นที่มาของโครงการพลิกฟื้นหนุ่มสาวสู่ก้าวย่างใหม่วัยสะออนท้องถิ่นนคร ขอนแก่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนในระดับท้องถิ่น (เทศบาล) ซึ่งใช้กลไก “ระบบประกบตัว” หรือการจัดการดูแลรายกรณี เพื่อแก้ไข เยียวยา และป้องกันเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง
นายอังคาร ชัยสุวรรณ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ อธิบายสถานการณ์ในพื้นที่ขอนแก่นว่า ผลสำรวจของเทศบาลพบว่ามีเด็กและเยาวชนในวัยเรียนทั้งสิ้นประมาณ 1.5 หมื่นคน อยู่ในระบบโรงเรียนประมาณ 1.4 หมื่นคน อยู่นอกระบบ 1,000 คน แต่จากการลงพื้นที่จริงกลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น โดยตัวเลขในความเป็นจริงสูงกว่าข้อมูลถึง 3 เท่าเศษ โดยคาดว่าในขณะนี้มีเด็กไม่ต่ำกว่า 3,600 คน ที่อยู่นอกระบบ
อังคาร เล่าต่อว่า ปัญหาของเด็กนอกระบบเริ่มจากการพูดกับผู้ปกครองแล้วไม่เข้าใจ เช่น พ่อแม่หวังดีแต่กลับใช้วิธีด่าสอนลูกขณะที่ลูกก็รู้สึกว่ารับไม่ได้ พอเด็กเหล่านี้ไปโรงเรียนก็ถูกจำกัดความคิดด้วยกฎระเบียบ หรือประเมินค่าความดีของเด็กจากตัวเลขเพียงอย่างเดียว ท้ายที่สุดเด็กก็ไม่มีทางออกและหลุดออกมานอกระบบ
“ผมทำงานกับเด็กมามาก สามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับเด็กเหล่านั้นได้เป็นเนื้อเดียวด้วยการจัดค่าย 3 วัน 2 คืน แต่กับเด็กนอกระบบเหล่านี้มันไม่ใช่เลย” พี่มหาของเด็กๆ ที่นี่กล่าวเน้นเสียง และว่า กว่าจะเชื่อมต่อกับเด็กกลุ่มนี้ได้ต้องใช้ยุทธวิธีพิเศษและนอกระบบมากๆ โดยขณะนี้ได้สรุปเป็นองค์ความรู้ไว้
พี่มหา เรียกองค์ความรู้นั้นว่า “กลยุทธ์ 5 C” ได้แก่ 1.Core person หรือ หาคนที่ใช้และสร้างเครือข่ายคนที่ชอบ คือการจัดตั้งทีมงานที่สนใจปัญหานี้และมีบทบาทต่อการผลักดัน อาทิ ประธานชุมชน ผู้ปกครองเด็ก 2.Connect หรือการติดต่อเกาะเกี่ยวเชื่อมสัมพันธ์เชิงลึก โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าเด็กจะเปิดใจยอมรับ เช่น หลังจากอบรมเข้าค่ายกันแล้ว ทุกเย็นจะต้องมานั่งตั้งวงกินเนื้อย่างด้วยกัน บางครั้งก็ไปดูหนังฟังเพลง หรือเด็กบางคนดื่มสุราก็จะเป็นต้องใช้สุราเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงเขา
3.Control หรือควบคุมกำหนดทิศทาง คือการค่อยๆ พาเขาออกมาจากที่มืด 4.Continue หรือติดตามต่อเนื่องและยืดเยื้อ นั่นเพราะธรรมชาติของเด็กเหล่านี้อารมณ์เปลี่ยนได้ง่ายและเร็ว จึงจำเป็นต้องดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างพื้นที่ให้เด็กมารวมกันมากๆ จะได้มีโอกาสดึงเขาออกมาได้ง่าย อาทิ การเปิดร้านนมให้เขาบริหาร การสร้างบ้านหลังที่ 2 ให้ หากเด็กเหล่านั้นไม่สามารถอยู่บ้านของตัวเองได้อีก 5.Complete คือเป้าหมายสูงสุดที่เราวางไว้ ได้แก่ เด็กกลับไปเรียนหนังสือ และมีอาชีพเลี้ยงตัวได้ในอนาคต
ผลผลิตจากโครงการนี้อย่าง พี่เปี๊ยก อายุ 40 ปี หัวหน้าแก๊งค์มังกรดำ ที่หักเหชีวิตออกจากมุมมืดที่ตัวเองจมอยู่ร่วม 20 ปี เล่าว่า ที่บ้านมีปัญหาครอบครัวตั้งแต่อายุ 18-19 ปี จึงเลิกเรียนหนังสือและออกมาจากบ้าน ในขณะนั้นรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งและไปไหนก็ถูกรังแก จึงได้จัดตั้งกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อปกป้องตัวเองและสร้างความอบอุ่นให้กันและกัน จากนั้นก็เริ่มมีเด็กที่ประสบปัญหาเดียวกันเพิ่มมากขึ้นและเข้ามาในกลุ่มมาก ขึ้น ท้ายที่สุดกลายเป็นจุดกำเนิดของแก๊งค์มังกรดำแห่งขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 500 คน
“มังกรดำเกิดจากความอบอุ่น การดูแลกันและกัน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นความสัมพันธ์ที่เด็กนอกระบบอย่างพวกเราไม่เคยได้รับ” หัวหน้าแก๊งค์มังกรดำระบุ และว่า พื้นฐานของเด็กนอกระบบคือถูกตอกย้ำว่าเป็นคนไม่ดีทำอะไรก็ผิด ส่วนใหญ่มักถูกผู้ใหญ่รังแกทางสีหน้า คำพูด บางครั้งถึงขั้นลงไม้ลงมือ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ ที่กระทำเด็กเหล่านี้จนฝังใจและกลายเป็นความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน
“เด็กก็คือเด็ก เขาไม่รู้หรอกว่ากำลังเล่นอยู่กับอะไร เขาก็แค่คิดอยากเก่ง อยากเป็นที่ยอมรับเพราะไม่เคยถูกยอมรับ อยากเป็นฮีโร่ ก็แสดงออกทางการแข่งรถ ยกพวกตีกัน” มังกรดำที่ถอดเขี้ยว บอกว่า ที่ผ่านมามีน้องเป็นสมาชิกแก๊งค์มากมาย บางคนเลือกทางชีวิตผิดด้วยคึกคะนองก็ติดคุก ติดยาเสพติด ในฐานะผู้ก่อตั้งก็คิดได้ว่าน่าจะถึงเวลาจบแก๊งค์มังกรดำได้แล้ว
“มังกรดำเกิดขึ้นจากความอบอุ่น แต่ความอบอุ่นก็มีทางอื่นที่สร้างได้ มันน่าจะถึงเวลาที่จบได้แล้ว เราไม่อยากให้น้องๆ เป็นแบบอดีตของเรา” พี่เปี๊ยกยืนยันเจตนารมณ์ และสานต่อแนวคิดด้วยการชวนน้องๆ ในแก๊งค์มังกรดำ รวมถึงโกเบ และเบียร์ กลับเนื้อกลับตัว
“อำนาจไม่ได้ทำให้เรามีกินหรืออยู่ได้ อาชีพต่างหากคือของจริง” พี่เปี๊ยกพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ
ด้านนายสมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม ซึ่งมีเด็กนอกระบบอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบคืออย่ามองว่าเด็กเหล่านี้ไม่มี คุณค่าในสังคม เขาไม่ใช่ส่วนเกินหรือขยะอย่างที่ใครหลายคนอยากให้เป็นเช่นนั้น สำหรับวิธีการจัดการปัญหาในชุมชนคือเราพยายามเรียกเด็กเหล่านี้มาพูดคุย ถามเขาว่าอยากได้หรืออยากทำอะไร ซึ่งแน่นอนว่าแรกๆ ย่อมไม่ได้ผล แต่พอนานเข้าก็สำเร็จขึ้นเป็นลำดับ
“วันหนึ่งเด็กมาบอกว่าอยากเล่นฟุตซอล์ เราก็บอกสบายมาก แล้วก็จัดลูกฟุตซอล์ให้เขาไป 2 ลูก เมื่อเขาเปิดใจให้เราแล้วมันก็ง่ายขึ้น เขาเชื่อมั่นเราว่าเราทำให้เขาจริงและเห็นความสำคัญในตัวเขา มากไปกว่านั้นคือเราเชื่อว่าเขาก็อยากมีพื้นที่ในสังคมหรืออยากแสดงออก เราก็ต่อยอดให้ด้วยการหาทุนมาซื้อชุดกีฬา จัดซ้อม ส่งลงแข่งขัน ผลงานเขาก็ถือว่าดี เข้ารอบลึกๆได้” ประธานสมชาติกล่าว
ผู้นำชุมชนรายนี้ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ชุมชนต้องหันมามองเด็กกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพราะเด็กประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะทางสังคม ผู้ใหญ่และชุมชนต้องเข้าถึงตัวเขาให้เร็วที่สุด อย่าคิดว่าเขาผิดอย่างเด็ดขาด ให้หาคุณค่าในตัวเขา ส่งเสริมเขา เมื่อเขามั่นใจในตัวเราก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะชักจูงให้กลับไปศึกษาต่อยัง การศึกษานอกโรงเรียน หรือฝึกวิชาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวอย่างถูกต้องต่อไป .