“ถ่านหินไม่ใช่คำตอบ” เอ็นจีโอแนะบริหารจัดการพลังงานที่มีอยู่ให้ดีก่อน
ภาคประชาชนชี้การนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้า ไม่ใช่คำตอบแก้ไขขาดแคลนพลังงาน แนะบริหารจัดการพลังงานที่มีอยู่ให้ดีก่อน
วันที่ 8 ธันวาคม 2557 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดงานเสวนาเรื่อง “พลังงานถ่านหินสะอาดและวิกฤติโลกร้อน...เส้นทางสู่ความมั่นคงทางพลังงานไทย?” ณ มาดี เอกมัยซอย 4 กรุงเทพ
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มจับตาพลังงาน กล่าวถึงการนำพลังงานถ่านหินมาใช้ในขณะนี้ที่หลายกลุ่มถกเถียงถึงทางเลือกและจุดสมดุลที่จะมาทดแทน และหากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดขึ้น รวมถึงทิศทางพลังงานของไทยว่า ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพูดถึงวิกฤติไฟฟ้ากันอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะกรณีจะไม่มีไฟฟ้าใช้ในอนาคต ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน
“การบอกว่าเกิดวิกฤติไฟฟ้าแล้วต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือเพื่อได้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ว่า ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าน้อย แต่เป็นปัญหาเรื่องการจัดการบริหารกับระบบพลังงานที่มีอยู่มากกว่า”กลุ่มจับตาพลังงาน กล่าว และว่า โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันมีการปิดซ่อม หรือปิดซ่อมแท่นขุดเจาะ ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นหน้าร้อน ถือเป็นช่วงที่ประชาชนใช้ไฟฟ้ามากที่สุด จึงเกิดคำถามว่า การบริหารจัดการทำไมต้องปิดซ่อมในช่วงเวลาดังกล่าว
นายสันติ ได้ยกตัวอย่างคือ เหตุการณ์ภาคใต้ไฟดับเมื่อปี 2556 การสอบสวนหาสาเหตุที่สรุปออกมาเนื่องจากฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับ แต่จากการตรวจสอบ พบว่า ฟ้าผ่าสายส่งนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ไฟฟ้าไม่ได้ดับในทันที ดับหลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้นายสันติ กล่าวถึงถ่านหินพลังงานสะอาดด้วยว่า เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น 2 ส่วน คือ การทำให้เชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการทำให้เชื้อเพลิงมีการปล่อยมลพิษให้น้อยลง ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่สร้างเสร็จมาแล้ว 20 ปี ก็ยังไม่มีถ่านหินสะอาด
"เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้น การปล่อยมลพิษสามารถควบคุมได้มากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนเป็นสำคัญ หากใช้ต้นทุนมากก็ปล่อยมลพิษน้อย และก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายว่าจะสามารถควบคุมให้ปล่อยมลพิษได้ในระดับไหน ประเทศนั้นๆจะอนุญาตให้ปล่อยสูงกว่าเกณฑ์สากลกำหนดหรือไม่"
กลุ่มจับตาพลังงาน กล่าวด้วยว่า ช่องว่างสำคัญคือเรื่องกฎหมาย ปัญหาใหญ่มากของการใช้ถ่านหินคือ ปัญหาโลกร้อน อีกประมาณ 30 ปีข้างหน้าถ้าหากยังปล่อยอยู่ในอัตราที่ใช้ในปัจจุบัน โลกจะวิกฤติจนไม่สามารถหมุนกลับได้แน่ๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 2556 จากกระทรวงพลังงาน พบว่า ภาพรวมของประเทศมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้ารายสาขาจากมากไปหาน้อย ได้แก่ อุตสาหกรรม 45% ธุรกิจ 17% กิจการขนาดเล็ก 10% ที่อยู่อาศัย 22% และอื่นๆ 6% ซึ่งจากข้อมูลนี้ กำลังผลิตของทั้งประเทศเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าเพียงแต่ต้องการบริหารจัดการที่ดี
ขณะที่นางสาวฝ้ายคำ หาญณรงค์ ผู้ประสานงาน คณะโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า สิ่งที่จะช่วยในเรื่องพลังงานทดแทนนั้นต้องเป็นพลังงานแบบใหม่ ไม่ใช่การวางแผนการบริหารจัดการพลังงานแบบรวมศูนย์ จำเป็นต้องกระจายพลังงานออกไปให้อยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการ ผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนเมกะวัตต์เล็กๆสำหรับพื้นที่นั้นๆ
“ถ่านหินไม่ใช่คำตอบเรื่องพลังงาน ถึงแม้ว่าจะสามารถทำให้สะอาดมากขึ้นกว่าเดิมได้ แต่หากมองในแง่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วก็ยังไม่สามารถทำให้เป็นศูนย์ได้อยู่ดี”ผู้ประสานงาน คณะโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าว