ขบวนองค์กรชุมชนพิษณุโลก ขยับ “จัดการภัยพิบัติเชิงรุก”
ชาวบ้าน-สภาองค์กรชุมชน จับมือ พอช.-พม.-ม.นเรศวร-ภาคเอกชน ตื่นตัวจัดการภัยพิบัติผ่านกลไกขบวนองค์กรชุมชน เร่งเยียวยาปัญหาน้ำท่วมเร่งด่วน ไม่รอรับแบบสงเคราะห์ เตรียมต่อยอดแก้ปัญหาเชิงรุก
สถานการณ์ภัยพิบัติในหลายพื้นที่ภาคเหนือ พิษณุโลกเป็นอีกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว้างขวาง มีแนวโน้มท่วมขังอีกไม่ต่ำกว่าสองเดือน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคส่วนต่างๆในจังหวัดพิษณุโลก จึงร่วมกันตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ขึ้นโดยใช้อาคารช่วยเหลือคนพิการอำเภอบางระกำเป็นศูนย์ประสานงาน ระยะแรกได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดซื้อสิ่งของจำเป็นเร่งด่วน เช่น ข้าวสาร น้ำดื่ม น้ำมันพืช รวมถึงสร้างกลไกวางแผนร่วมในการจัดการภัยพิบัติชุมชน เป็นการจัดการปัญหาของคนในชุมชนแทนรอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานและประเมินพื้นที่ความเสียหายเพื่อการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนของความช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่นๆ โดยให้น้ำหนักช่วยเหลือไปที่ผู้เปราะบาง คือ ผู้ชรา ผู้พิการ เด็กและบุคคลที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เป็นลำดับแรก โดยอาศัยกลไกสภาองค์กรชุมชนเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ และไม่เพียงแค่อำเภอบางระกำ ยังมีการประสานความร่วมมือและกระจายความช่วยเหลือไปยังองค์กรชุมชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆสนับสนุน เช่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิษณุโลก, ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและมูลนิธิฉือจี้ตั้ง, อบจ., ทหารจากกองทัพภาคที่3, กลุ่มเครือซีเมนต์ไทย, สภาองค์กรชุมชนตำบลวังโพรง, เครือข่ายคนพิดโลกรักษ์แผ่นดิน, คณะอาจารย์นิสิตบุคลากรของมหาวิทยาลัยนเรศวร,โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา, ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลก, คณะทำงานสนับสนุนการเมืองภาคพลเมืองจังหวัดพิษณุโลก, สภาพัฒนาการเมือง,เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก, อาสาดุสิต(เครือข่ายสังคมออนไลน์), เว็บไชต์ www.kapook.com
นอกจากนี้ทางศูนย์ฯและภาคีความร่วมมือต่างๆมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่จะต่อยอดไปสู่การตั้งรับและปรับตัวทั้งระบบ เช่น การอยู่อย่างไรกับภัยพิบัติ, แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต,แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน, การพัฒนากลุ่มเยาวชนและผู้นำในการจัดการภัยพิบัติชุมชน โดย รศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ภักดีวงศ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าการช่วยเหลือต้องมองภาพรวมทั้งระบบที่มากกว่าการช่วยเหลือในขณะประสบภัยเท่านั้น และให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลทั้งระบบ
“แผนงานควรครอบคลุมทั้งสามระดับ ทั้งแผนเร่งด่วนในการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แผนระยะกลางช่วยเหลือควบคู่กับฟื้นฟูคุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพและความเป็นอยู่ในขณะที่รอน้ำลด และแผนเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตหลังจากน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งควรมีการเตรียมการและสามารถทำได้ทันทีหลังน้ำลด เช่น การพัฒนาอาชีพ”
นางกัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญที่สมดุลนิเวศน์ถูกทำลายมากขึ้น ขบวนองค์กรชุมชนต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและลุกขึ้นมาจัดการปัญหาโดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมใหม่ในการทำงานเชิงรุกแทนการเรียกร้องและตั้งรับโดยตลอด บนฐานคิดการอยู่อย่างมีความสุขกับภัยพิบัติควบคู่กับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในระยะยาวต่อไป .
ที่มาภาพ : http://www.tv5.co.th/news/show2.php?id=5290