ภาคีเชียงใหม่ฯ ร่วมออกแบบการศึกษาล้านนาสไตล์ เล็งประกาศใช้ มี.ค.58
"ศธ.-สปช.-สนช.”ประสานเสียงเหนียวแน่น เดินหน้ากระจายอำนาจ เชื่อปฏิรูปการศึกษามีความหวัง ยก ‘เชียงใหม่’ ต้นแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่บนฐานสำนึกรักท้องถิ่น
วันที่ 8 ธันวาคม 2557 ณ ชั้น 6 ห้องบ้านล้านตอง โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกันจัด “เวทีภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งเป็นการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่มุ่งเปิดโอกาสให้ภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม มีส่วนร่วมออกแบบการศึกษาล้านนาสไตล์อย่างไรเพื่อคนถิ่น
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า การศึกษาปัจจุบันเป็นระบบไซโลที่เน้นการเรียนรู้แบบแยกส่วนตามช่วงชั้นการศึกษา ทำให้เด็กเรียนรู้แบบท่องจำ สร้างให้เกิดการศึกษาที่ส่งผลให้ 1) ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ 2) เส้นทางการศึกษาแออัด 3) มุ่งสู่การติว 4) การศึกษากลายเป็นการค้า 5) สร้างคนที่พิการ ไม่ทราบข้อเท็จจริงเน้นแต่ตำรา 6) ความอ่อนแอทางวิชาการของมหาวิทยาลัย 7) เกิดความสูญเสียแก่เศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องแก้ไขโดยมุ่งปฏิรูปการศึกษา 5 ด้านได้แก่ 1) ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา 2) ปฏิรูประบบการศึกษาจากแท่งไซโลไปสู่ระบบที่มีความหลากหลาย 3)ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การท่องตำรา 4) สร้างให้ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ และ 5) ปฏิรูประบบบริหารจัดการศึกษา
“กระทรวงศึกษาจึงต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนเชิงนโยบายและวิชาการ โดยการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการศึกษาตอบโจทย์ท้องถิ่น”
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงปัญหาการศึกษาไทยจะพบปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาด้วยวุฒิระดับมัธยมศึกษา กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือและขาดทักษะชีวิต เช่น เชียงใหม่พบเฉลี่ยสูงถึง 60-70% ส่วนกลุ่มเด็กเก่งที่มีโอกาสเรียนในเมือง หรือเรียนต่อในกรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบก็มักหางานทำไม่กลับถิ่นฐาน ซึ่งขัดกับเป้าหมายของการศึกษาที่ต้องการให้เด็กสามารถหาเลี้ยงชีพและใช้ชีวิตอย่างมั่นคงในบ้านเกิดตนเองได้ ฉะนั้นโจทย์การศึกษาของคนไทยทั้งประเทศต้องเปลี่ยนใหม่ ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มั่นใจว่าพวกเขาสามารถสร้างอาชีพและอนาคตของตนเองได้ในถิ่นฐาน มิใช่ส่งแต่เงินกับภูมิลำเนา แต่ไม่ได้กลับมาช่วยกันสร้างเชียงใหม่ให้เติบโตอย่างมั่นคง
“โจทย์การศึกษาไทยจึงไม่ใช่เน้นเพียงวิชาการ แต่ต้องเน้นวิชาชีวิต วิชาชีพและวิชาการ ที่สำคัญต้องสร้างให้คนเห็นโอกาสและมีความหวังว่าพวกเขามีอนาคตได้ในบ้านเกิด เพื่อที่ทุกคนจะได้มีใจกลับมาช่วยลูกหลานคนเชียงใหม่ด้วยกัน นี่คือหัวใจที่เด็กทุกพื้นที่ต้องเจริญเติบโตไปเป็นกำลังของพื้นที่ ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ต้องการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ให้มาก และที่สำคัญจะต้องมีการสร้างกลไกระดับชาติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับกระบวนการปฏิรูปเพื่อความต่อเนื่อง โดยเสนอผ่านสภาปฏิรูปในบทเฉพาะการที่พูดถึงการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อหนุนให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการศึกษาของตนเอง โดยไม่ให้การเมืองที่ไม่ดีเข้ามาแทรกแซงได้ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันคิดกันทำ เพื่อพลิกโฉมหน้าการศึกษาของเชียงใหม่ที่ไม่ใช่แค่การยกคะแนนโอเน็ต 5 วิชาเท่านั้น แต่เพื่อปฏิรูปการศึกษาให้เด็กเชียงใหม่ฉลาดเท่าทันชีวิต รักท้องถิ่นมองเห็นวิสัยทัศน์และพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เชียงใหม่เดินไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในอีก 20 ปี"
ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีลงไปที่จังหวัดให้สามารถรับรองสถานภาพกลไกจังหวัดได้จะทำให้พื้นที่เข้มแข็ง โดยทั้งหมดนี้ จะทำให้ฝันเป็นจริงได้นั้น ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า ศธ.ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยคอยสนับสนุนให้พื้นที่สามารถจัดการศึกษาแทน ส่วน ศธ.เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ติดตามดูแลคุ้มครองประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม
"สำหรับการปฏิรูปการศึกษาในยุค คสช. ผมเชื่อว่า จะทำได้สำเร็จเพราะเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ประสาน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สปช.และสนช.” ดร.อมรวิชช์ กล่าว
นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง “ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา” ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ผลิตนักเรียน 2) กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากผลผลิตนักเรียน และ 3) กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ รวมได้ทั้งสิ้น 120 ภาคีเครือข่าย 80 หน่วยงาน 40 บุคคล อาทิ นากยกสมาคมโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว หอการค้า ร่วมกันเสนอวิธีสร้างบุคลากรให้ตรงกับตลาดแรงงาน เพื่อให้เด็กเรียนจบแล้วมีงานทำ ไม่จำเป็นต้องมุ่งให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัย
“วิสัยทัศน์จังหวัดเชียงใหม่มุ่งไปสู่จัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามศักยภาพที่หลากหลายใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) สร้างจิตสำนึก 2) สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 3) สร้างสัมมาชีพ 4) สร้างกลไกขับเคลื่อนการศึกษาจังหวัด อาทิ สภาการศึกษาจังหวัด ในวันนี้จึงนำร่างข้อเสนอดังกล่าวมาให้ภาคีและสมาชิกเครือข่ายได้วิพากษ์ร่วมกัน โดยหลังจากนี้จะมีการลงพื้นที่ทำประชาพิจารณ์ใน 25 อำเภอทั่วเชียงใหม่ เพื่อนำสู่การทำข้อตกลงและประกาศใช้ร่วมกันในช่วงเดือนมีนาคม 2558 เพื่อฉลองเชียงใหม่ครบ 720 ปีในเดือนเมษายน 2559 โดยอบจ.จะกระตุ้นให้เกิดการทำแบบร่วมกันระหว่างเครือข่ายพันธมิตร ป้องกันการทำงานแบบไฟไหม้ฟาง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องยากที่สุด แต่ท่ามกลางความยากก็เป็นความท้าทาย แต่เมื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ก็เกิดความภาคภูมิใจเกิดแรงบันดาลใจในการจะสู้ต่อไปเพื่อลูกหลานเชียงใหม่” นายบุญเลิศ กล่าว