"คุ้มครองครู" ภารกิจเหนือจริง!?!
ซุ้มนิทรรศการของ “กลุ่มดงตาล” จากโรงเรียนบ้านกือเม็ง ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา ในงานมหกรรมวิชาการการศึกษาพื้นฐาน “ยะลายาลัน มหัศจรรย์ชายแดนใต้” บริเวณสนามของโรงเรียนนิบงชนูปถัมภ์ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 1 เมื่อวันพุธที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา เงียบเหงาไปถนัดใจ เพราะการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ ครูคณิต ลำนุ้ย
ครูคณิตถูกลอบยิงและราดน้ำมันจุดไฟเผาซ้ำอย่างโหดเหี้ยมเมื่อบ่ายวันที่ 6 ก.ย. ก่อนวันงานเพียง 1 วัน ภายหลังเดินทางออกจากโรงเรียนเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน ทั้งๆ ที่เป็นวันหยุด เพราะเป็นวัน “รายอแน” ของพี่น้องมุสลิม แต่ครูคณิตนัดติวภาษาอังกฤษเป็นพิเศษให้กับเด็กนักเรียนที่จะไปร่วมกิจกรรมในงานมหกรรมวิชาการที่ตัวเมืองยะลา
การทุ่มเทเวลา พลังกาย และพลังใจให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ กลายเป็นช่องโหว่ในการเดินทางเพียงลำพังให้กลุ่มคนร้ายฉวยโอกาสสังหารเขาจนเป็นข่าวโด่งดัง สมความตั้งใจของผู้ก่อเหตุที่ต้องการสื่อสารว่าดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีปัญหาความรุนแรง โดยใช้ครูดีๆ คนหนึ่งเป็นเหยื่อ
ศพของครูคณิตตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดสุนทรประชาราม ในเขตเทศบาลตำบลเมืองรามันห์ อ.รามัน เด็กนักเรียนที่โรงเรียนและที่ไปร่วมกิจกรรมของกลุ่ม “ดงตาล” จึงไม่มีใครมีกะจิตกะใจทำอะไร นอกจากรอเวลาไปร่วมงานศพของครูที่พวกเขารัก
ครูคณิตเป็นชาว อ.รามัน อยู่บ้านเลขที่ 3/3 หมู่ 6 ต.กายูบอเกาะ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ เมื่อปี 2545 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เริ่มต้นอาชีพครูด้วยการเป็นครูอัตราจ้างสอนภาษาอังกฤษ และได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการในปี 2547 และสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านกือเม็ง
ครูคณิตจากไปด้วยวัยเพียง 38 ปี เขายังไม่มีครอบครัว เพราะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการสั่งสอนเคี่ยวกรำลูกศิษย์ กระทั่งได้รับคัดเลือกจากองค์กรในท้องถิ่นให้เป็นครูสอนดีระดับจังหวัดประจำปี 2554 แต่ยังไม่ทันได้รับรางวัล เขาก็ต้องจบชีวิตลงเสียก่อน
ทำไม “ครู” จึงตกเป็นเป้า?
การสูญเสียครูคณิต และบุคลากรทางการศึกษาคนอื่นๆ อีกร่วม 150 ชีวิตตลอดเกือบ 8 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกรณีของครูคณิตเป็นรายที่ 4 ที่ถูกลอบสังหารในห้วงเวลาเพียง 1 เดือน เพราะมีครูถูกยิงติดๆ กันถึง 3 คนในช่วงต้นเดือน ส.ค. ทำให้มาตรการ รปภ. หรือรักษาความปลอดภัยครูที่รับผิดชอบโดยฝ่ายความมั่นคงถูกตั้งคำถามอีกครั้ง
เป็นการตั้งคำถามเดิมๆ พร้อมๆ กับการได้รับคำตอบเดิมๆ ทำนองว่าจะต้องเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดเข้มแข็งมากขึ้น...
น่าสนใจว่าภารกิจ “คุ้มครองครู” ของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมีชุด รปภ.ทั้งตำรวจ ทหาร และ อส. (อาสารักษาดินแดนจากฝ่ายปกครอง) นั้นทำกันอย่างไร มีจุดอ่อน ช่องโหว่ที่ตรงไหน หรือว่าการรักษาชีวิตครูให้ปลอดภัยในดินแดนสามจังหวัดภาคใต้จะเป็นภารกิจเหนือจริง?
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ต้องเริ่มจากการค้นหาคำตอบว่าเหตุใดครูถึงตกเป็นเป้าหมายของการทำลายชีวิตเสียก่อน...
“ครู” ถือเป็นเป้าหมายบุคคล ซึ่งนอกจากจะเป็นเป้าหมายอ่อนแอ คือมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนด้วยเส้นทางซ้ำๆ กันในเวลาเดียวกันทุกวัน และแทบไม่มีทางต่อสู้กับผู้ที่จ้องประทุษร้ายได้แล้ว ครูยังเป็นสัญลักษณ์การศึกษาของรัฐไทย การโจมตีเอาชีวิตครูจึงมีความหมายการปฏิเสธรัฐไทยอย่างชัดเจนและง่ายที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้นการลอบทำร้ายครูทุกครั้งยังเป็นข่าวโด่งดังสมประโยชน์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เป็นข่าวอยู่แล้ว ดังที่เคยมีคำกล่าวว่า “ยิงครู 1 ศพ สะเทือนทั้งสามจังหวัด และยังเขย่าไปถึงทำเนียบรัฐบาลด้วย” สอดรับกับทฤษฎีการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยที่ใช้ยุทธวิธีก่อการร้าย เพราะไม่มีกองกำลังขนาดใหญ่พอที่จะรบกับกองกำลังของรัฐชาติได้ จึงต้องฉวยโอกาสใช้การก่อเหตุเล็กๆ แต่สามารถสร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลของรัฐชาติ ด้วยหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อชนกลุ่มน้อย หรือยอมเจรจาในบริบทที่ตนเองต้องการ
ผ่ามาตรการ รปภ.ครู
การ รปภ.ครู เป็นหนึ่งใน 10 เป้าหมายพิเศษของภารกิจรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินซึ่งฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบ โดย 10 เป้าหมายดังกล่าวประกอบด้วย ชุมชนเมือง ชุมชนไทยพุทธ วัด พระ โรงเรียน ครู เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า รถไฟ และเขื่อน
ปัจจุบันการ รปภ.ครูถือว่าใช้กำลังแบบเต็มพิกัดของหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่แต่ละพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เพราะนอกจากจะมีชุด รปภ.ที่เดินทางไปพร้อมกับครู ก็ยังมีชุดลาดตระเวนล่วงหน้า ทั้งชุดลาดตระเวนเดินเท้าและใช้ยานพาหนะ กับมีชุด รปภ.บริเวณโรงเรียนช่วงก่อนและหลังจากที่คณะครูไปถึงโรงเรียนอีกด้วย
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในระดับคุมกำลัง และมีหน้าที่จัดกำลัง รปภ.ครู ใน จ.ยะลา เล่าให้ฟังว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยครูมีการวางกำลังถึง 2 ระดับ คือ กำลังสำหรับตรวจตราเส้นทาง เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงหรือจุดล่อแหลมระหว่างจุดนัดพบครูกับโรงเรียน และกำลังที่จัดเป็นชุดปฏิบัติการติดตามครู คือเดินทางพร้อมกับครู
“ชุด รปภ.ที่เป็นชุดติดตามครู จะมีทั้งที่ใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ มีกำลังพลพร้อมอาวุธครบมือ ขับประกบทั้งหน้าและหลังคณะครู ซึ่งในคณะก็มีทั้งครูที่ขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือลงขันว่าจ้างรถสองแถวเพื่อเดินทางพร้อมกัน”
สำหรับกำลังพลชุดตรวจตราเส้นทางนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า จะปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มงวดและตรวจตรากันอย่างละเอียด โดยเฉพาะวัตถุต้องสงสัยที่อาจฝังไว้ใต้ผิวถนน ต้องคอยสังเกตสายไฟหรือวัสดุอะไรที่ผิดสังเกต รวมทั้งตามศาลาที่พักริมทาง หลักกิโลเมตรหรือเสาจราจรริมถนน เพราะอาจเป็นระเบิดก็ได้ รวมทั้งต้องจับตากลุ่มบุคคลที่อาจดักซุ่มยิงด้วย
“การทำงานของชุดตรวจตราเส้นทางถือว่ามีความสำคัญมาก และเน้นหนักตามสภาพพื้นที่และรายงานด้านการข่าว ขอยืนยันว่าครูที่อยู่ในแผน รปภ.มักไม่ค่อยเกิดเหตุร้าย แม้จะเกิดระเบิดตามถนนหรือเส้นทางไปโรงเรียนก็จะไม่ค่อยมีครูสูญเสียหรือได้รับบาดเจ็บ แต่ครูที่ถูกทำร้ายและสูญเสียส่วนใหญ่เป็นครูที่อยู่นอกแผนเกือบทั้งหมด” แหล่งข่าว ระบุ
นอกจากการจัดกำลังอย่างเข้มงวด 2-3 ระดับตามความล่อแหลมของพื้นที่แล้ว สิ่งที่สามารถเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยได้เป็นอย่างดีในความเห็นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายนี้ก็คือ "ข้อมูลด้านการข่าว" โดยเฉพาะข่าวที่แจ้งเตือนจากหน่วยเหนือ หากมีความแม่นยำสูง จะช่วยป้องกันได้มาก และสามารถจัดกำลังเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วดูแลพื้นที่ข้างเคียงเส้นทางที่คณะครูใช้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ช่องโหว่ทางยุทธวิธี และหัวอกชุดรปภ.
แม้ฝ่ายความมั่นคงจะจัดกำลังรักษาความปลอดภัยดีอย่างไร แต่ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือหลายๆ พื้นที่ยังมีช่องโหว่ให้คนร้ายก่อเหตุได้อยู่ดี ซึ่งมีทั้ง “ช่องโหว่โดยสภาพ” จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่และข้อจำกัดของแผน รปภ. กับ “ช่องโหว่โดยพฤติกรรม” ซึ่งเกิดจากตัวครูเอง
ทั้งนี้ ในส่วนของ “ช่องโหว่โดยสภาพ” ก็เช่นเส้นทางระหว่างบ้านครูกับจุดนัดพบเจ้าหน้าที่ชุด รปภ. ซึ่งมีหลายครั้งที่เกิดเหตุร้ายขึ้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปรับครูจากบ้านของแต่ละคน วิธีการที่ใช้คือนัดพบกันในย่านชุมชนในตำบลหรืออำเภอนั้นๆ เมื่อครูมาครบจึงเดินทางไปพร้อมกัน ทำให้เส้นทางระหว่างบ้านครูแต่ละคนถึงจุดนัดพบกลายเป็น “ช่องโหว่” เพราะครูต้องเดินทางเพียงลำพัง แม้จะมีความพยายามจัดกำลังลาดตระเวนตามถนน แต่ก็ทำไม่ได้ครอบคลุมทุกสาย
“ช่องโหว่โดยสภาพ” อีกประการหนึ่งที่เห็นเด่นชัดก็คือ ทั้งจุดนัดพบและเส้นทางที่ใช้เดินทางไปโรงเรียน มักเป็นจุดเดียวกันและเส้นทางเดียวกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล หลายโรงเรียนมีถนนเพียงสายเดียวที่ไปถึง ทำให้ชุด รปภ.ไม่มีทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงหรือสับเปลี่ยนเส้นทาง
ส่วน “ช่องโหว่โดยพฤติกรรม” เท่าที่พบอยู่บ่อยๆ ก็คือ ครูบางพื้นที่ไม่ต้องการให้มีกำลังของฝ่ายความมั่นคงติดตาม คืออาจจับกลุ่มเดินทางกันเอง เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า แล้วให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รปภ.ตามเส้นทางเท่านั้น
ขณะเดียวกันก็ยังมีครูอีกจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธการ รปภ. เพราะเป็นคนในพื้นที่ จึงค่อนข้างมั่นใจในความปลอดภัย และบางรายมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนมาก แต่นั่นได้กลายเป็นช่องโหว่ เพราะมีครูในกลุ่มนี้หลายรายที่ถูกลอบยิง
นายทหารระดับผู้บังคับกองร้อยซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ รปภ.ครูในอำเภอหนึ่งของ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการ รปภ.ครู ก็คือเส้นทาง เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งแทบจะมีถนนสายเดียวเท่านั้นที่ไปถึง ทำให้ชุด รปภ.ไม่สามารถซิกแซกหรือเปลี่ยนเส้นทางได้เลย
“ไม่ใช่แค่มีถนนสายเดียว แต่ถนนยังแคบและสองข้างทางก็เป็นป่าทั้งนั้น ทำให้ยากลำบากในการป้องกัน ต้องเข้าใจว่าครูแต่ละคนก็สอนอยู่โรงเรียนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนโรงเรียนทุกวัน ฉะนั้นก็ต้องเดินทางในเส้นทางเดียวกันซ้ำๆ มันก็ง่ายสำหรับฝ่ายที่จ้องก่อเหตุ”
ส่วนในระยะหลังที่มีการจัดชุดลาดตระเวนล่วงหน้า โดยเฉพาะชุดลาดตระเวนเดินเท้าที่จะตรวจเส้นทางล่วงหน้าก่อนการเดินทางของคณะครูนั้น นายทหารผู้นี้ บอกว่า เป็นมาตรการที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยได้มาก แต่ก็เสี่ยงมากสำหรับชุดลาดตระเวนล่วงหน้าเช่นกัน ทั้งการถูกดักซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืนและระเบิด
“หลายๆ ครั้งจะพบว่าชุด รปภ.ครูที่ถูกซุ่มโจมตีเป็นชุดลาดตระเวน ไม่ใช่ชุดที่ไปพร้อมกับครู นี่คือความเสี่ยงของชุดปฏิบัติการชุดนี้”
จากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งสภาพพื้นที่และอันตรายที่แฝงอยู่รอบด้าน ทำให้นายทหารที่เคยทำหน้าที่ รปภ.ครู เผยความรู้สึกที่เขาเชื่อว่าตรงกับเพื่อนร่วมอาชีพที่เคยปฏิบัติภารกิจนี้ทุกคน
“ทหารเราก็ได้แต่ภาวนาก่อนปฏิบัติหน้าที่ว่าถ้าวันนี้ถูกซุ่มโจมตี ก็ขอให้คนร้ายอย่ายิงโดนครูและพวกเราเลย หรือถ้ายิงโดนก็ขอให้แค่บาดเจ็บไม่มาก เราจะได้ยิงสู้กลับไปบ้าง มันไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว เพราะพื้นที่การรบเป็นพื้นที่ของเขา ซ้ำยังมีชาวบ้านเป็นแนวร่วมจำนวนมาก เขารู้ว่าเราเป็นทหาร แต่เราไม่รู้ว่าคนไหนเป็นคนร้าย ที่ว่ารู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งนั้น แต่ที่นั่นเราไม่รู้เขา แต่เขารู้เราหมด แล้วจะชนะได้อย่าไร ชีวิตครูกับทหารที่ทำหน้าที่ รปภ.แขวนอยู่บนเส้นด้ายไม่ต่างกันเลย”
ภารกิจเหนือจริง?
ด้านคำแถลงอย่างเป็นทางการจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ภายหลังจากแกนนำครูในพื้นที่ตำหนิถึงความหย่อนยานในการ รปภ.ครู แม้จะวางแผนไว้ดีแล้ว แต่เชื่อว่าช่องโหว่เกิดจากระดับปฏิบัตินั้น
พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รองผอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยครูและ บุคลากรทางการศึกษามีการใช้กำลังทหารหลัก ทหารพราน ตำรวจภูธร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และฝ่ายปกครอง รวมถึงกองกำลังภาคประชาชนร่วมในภารกิจ โดยจัดสรรว่าพื้นที่ไหนจะใช้กำลังอย่างไร จากนั้นก็จะทำข้อตกลงระหว่างกำลัง 3 ฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นพื้นที่ป่าเขา ก็จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารพรานเป็นหลัก หากเป็นพื้นที่ชนบทนอกเขตเทศบาล ก็จะใช้เจ้าหน้าที่ทหาร หากเป็นในเขตเทศบาลจะใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกำลังฝ่ายปกครอง เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาให้พื้นที่และครูเกิดความปลอดภัย ก็จะปฏิบัติตามข้อตกลงในส่วนนี้ สำหรับจุดที่มีความเสี่ยง หรือเป็นจุดที่น่าห่วงใย มีประชาชนแจ้งเบาะแสถึงความไม่ปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ก็จะกำชับไปยังผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัว (รับผิดชอบระดับอำเภอ) ว่ามีจุดไหนบ้างที่ยังบกพร่อง ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่จุดที่ยังเป็นปัญหา
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดกับครูคณิต เป็นเพราะโรงเรียนส่วนใหญ่หยุดการเรียนการสอน ทางเจ้าหน้าที่จึงลดระดับกำลัง รปภ.ลงบ้าง จึงอาจกลายเป็นช่องว่างให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงออกมาเคลื่อนไหวและปฏิบัติการ
จากคำชี้แจงของ พล.ต.อัคร จึงพอสรุปได้ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุนอกจากจะรู้ความเคลื่อนไหวของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมทั้งวงรอบการปฏิบัติภารกิจแล้ว ยังล่วงรู้ถึงความเคลื่อนไหวของ “ครู” ที่เป็นเป้าหมายด้วย นั่นแสดงว่าฝ่ายก่อความไม่สงบยังแฝงตัวอยู่อีกเป็นจำนวนมากตามหมู่บ้านและชุมชนในสามจังหวัด เรียกว่าอยากก่อเหตุเมื่อไหร่ก็ทำได้ทันที
การทุ่มกำลังของฝ่ายความมั่นคงเพื่อคุ้มครองครูจึงเป็นมาตรการ “ตั้งรับ” ที่รอวันสูญเสียอย่างแท้จริง ไม่ต่างอะไรกับการตกเป็น “เป้าเคลื่อนที่” ของฝ่ายผู้ก่อการ การโยนความผิดไปให้ฝ่ายที่ทำหน้าที่ รปภ. จึงดูไม่ค่อยเป็นธรรมนัก...
ดูเหมือนโจทย์รักษาชีวิตครูจะยังคงความยาก และอาจเป็นภารกิจเหนือจริงที่ไม่มีทางประสบความสำเร็จ 100% ได้ หากการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ยังวนอยู่ในกรอบเดิมๆ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การ รปภ.เส้นทางช่วงก่อนคณะครูเดินทาง
หมายเหตุ : ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ ผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา