ปชช.จี้รัฐตั้ง กก.สอบเหตุรุนแรง เยียวยา ชบ.-พระไพศาลชี้กับดักความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
เครือข่ายประชาสังคมจี้รัฐตั้ง กก.อิสระสอบเหตุรุนแรง มูลนิธิชุมชนไทยชี้คนไทยเข้าใจสถานการณ์บกพร่อง เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมบอกชุดความจริงต้องแยกแยะผู้ก่อการร้าย-ชาว บ้าน รัฐต้องไม่สร้างภาพแก้ความเดือดร้อนรากหญ้า ความรุนแรงจึงจะลด พระ ไพศาลชี้ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่ความแตกแยก แนะปัญญาเห็นกับดักความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 14 เครือข่ายประชาสังคมและเครือข่ายเยาวชน เช่น มูลนิธิชุมชนไท, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายวิทยุเด็กและครอบครัว, สภาเครือข่ายครูอีสาน, กลุ่มประชาชนปกป้องขาติหรือเสื้อหลากสี, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ แถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลเร่งตั้งคณะ กรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรง โดย นายนิมิต เทียนอุดม กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามการเมือง กล่าวว่าแม้สถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่ความหวาดระแวงยังขยายวงกว้างและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ข่าวสารสร้างความสับสนให้ประชาชน จึงต้องทำความจริงให้ปรากฏรอบด้าน
“คุณอภิสิทธิ์พูดหลังเหตุการณ์กลับสู่ความสงบ แต่วันนี้ยังไม่คืบหน้าใดๆ และการปล่อยข้อมูลข่าวสารให้กระจัดกระจายสร้างความเกลียดชังในสังคมย่อมไม่ เป็นผลดี” นายนิมิต กล่าว
นางปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการอิสระฯ เป็นประโยชน์กับสังคม เพราะขณะนี้ภาพรวมของความ เข้าใจกับสถานการณ์ทั้งหมดบกพร่อง เนื่องจากกระแสของความคิดที่ไปคนละทิศละทาง ซึ่งหากทำให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ จะทำให้พี่น้องประชาชนท้องถิ่นทั่วประเทศได้รู้ข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่เพียง ข่าวลือ และยังจุดประกายการเรียนรู้ระยะยาวที่สอดคล้องกับการปรองดองต่อไป
นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร เลขาธิการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างมองภาพที่ตรงข้ามกัน คือชาวบ้านที่กลับภูมิลำเนาเข้าใจว่าคนที่ทำร้ายพี่น้องของเขาคือรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายนักธุรกิจ ทหาร ตำรวจ บอกว่าความสูญเสียเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม สิ่งที่จะทำให้ความเกลียดชังซึ่งฝังรากหายไปคือทำความจริงให้ปรากฏเร็วที่ สุด
“ความจริงชุดนี้ต้องแยกระหว่างผู้ก่อการร้ายและผู้ชุมนุมที่เรียกร้องแก้ ปัญหาความยากจน ประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นความแค้นจะทำให้รู้สึกไม่ชอบธรรม เกิดการทำร้ายกันอีก”
เลขาธิการเครือข่ายธุรกิจฯ ยังกล่าวว่า อีกเรื่องที่ สำคัญคือการดูแลผู้ได้รับความเดือดร้อนตามกระบวนการกฎหมายหรือสวัสดิการ เยียว ซึ่งรัฐต้องทำด้วยความจริงใจไม่ผิวเผิน ถ้าเปรียบเป็นสมการคือการทำงานภาครัฐบวกความรุนแรงเท่ากับร้อย ถ้ารัฐทำงานด้วยความจริงใจจะทำให้ความรุนแรงลดลง ตรงข้ามถ้าทำเพียงชั่วคราวแล้วละทิ้งชาวบ้านย่อมทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นเป็นจุดท้าทายการทำงานของรัฐบาล ประการสุดท้ายคือการเยียวยากันเองของภาคประชาชนที่ต้องเร่งทำให้เกิด อย่างกว้างขวางในสังคม
สาระของแถลงการณ์คือ 1.คณะกรรมการอิสระควรประกอบด้วยคนจากทุกภาคส่วนที่มีความรู้และประสบการณ์ ด้านนี้และเป็นที่ยอมรับของสังคม 2.ต้องแสวงหาความถูกต้องทั้งทางนิติรัฐและจริยธรรมการปกครอง เพื่อตอบคำถามว่าทุกปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมีทางเลือกอื่นหรือ ไม่ 3.ต้องมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ผู้ชุมนุม สื่อมวลชน ประชาชน มาให้ข้อเท็จจริง 4.ต้องนำผลการตรวจสอบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งสาเหตุจากแพทย์ผู้เกี่ยวข้องเปิดเผยต่อสาธารณะ 5.เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมสังเกตการณ์ 6.มีมาตรการปกป้องคุ้มครองพยาน 7.รัฐบาลต้องนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการไปดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับความรุนแรง เน้นสร้างความยุติธรรม ขจัดเงื่อนไขความรุนแรง สร้างความปรองดองในชาติ 8.รัฐบาลต้องสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณแก่คณะกรรมการอิสระ นอกจากนี้รัฐบาลควรเยียวยาอย่างเป็นธรรมทั่วถึงทุกฝ่าย ทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากเหตุการณ์ เพื่อแสดงความจริงใจและความเป็นกลาง
วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 พระไพศาล วิสาโล กล่าวปาฐกถาในงานมอบรางวัลคลิปวีดีโอสุขแท้ด้วยปัญญา ของเครือข่ายพุทธิกา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เรื่อง “สุข แท้ด้วยปัญญาท่ามกลางความขัดแย้งของสังคม” ว่าคนไทยต้องรู้จักเก็บ เกี่ยวบทเรียนและฉลาดถอนพิษจากความทรงจำที่เลวร้าย เหตุการณ์รอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ให้บทเรียน 4 ประการ หนึ่ง-เมื่อหลงติดในตัณหา มานะทิฐฐิ เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดก็ทำร้ายกันได้ สอง-เมื่อใช้วิธีการรุนแรง ทุกฝ่ายต่างก็พ่ายแพ้ทั้งนั้น สาม-เมื่อไม่มีฝ่ายไหนถอย ย่อมเกิดความพินาศ สี่-ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคม นำไปสู่ความแตกแยก
“ต้องนำบทเรียนนี้พาชีวิตและสังคมพ้นขวากหนาม กับดักความรุนแรงสู่ความสุขทางปัญญา เผชิญหน้าความจริง ไม่ใช่เรียกร้องให้สามัคคีด้วยคำขวัญ หรือหลงลืมเหตุการณ์”
ตอนนี้คนทุกข์มากมายไม่ว่าเหลือง แดง ไม่เหลือง ไม่แดง เพราะมีภูเขาขวางกั้น คือความโกรธเกลียดทำให้เร่าร้อนเห็นอีกฝ่ายเป็นคนเลว ถ้ามองเห็นทุกคนเป็นมนุษย์ ศัตรูแท้จริงคือความโกรธเกลียดโลภ ก็จะใช้ความรัก เมตตา ดีต่อกัน การมีปัญญาเห็นความจริงว่าความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาทำให้อดทนต่อกัน ใจกว้าง คลายความโกรธเกลียดลงได้เช่นกัน
“ปัญญายังทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน คนที่เคยเข่นฆ่ากันเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 6 ตุลา 19 ฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐ อีกฝ่ายคอมมิวนิสต์ วันนี้อยู่พรรคการเมืองเดียวกัน ถ้าเราเห็นความจริงในมุมที่กว้างไกล รู้เท่าทัน ก็จะรู้ว่าจะเข่นฆ่ากันไปทำไม” พระไพศาล กล่าว
พระไพศาล กล่าวว่า การเห็นว่าคนอื่นก็ทุกข์ ทำให้เปลี่ยนความคิดว่าเขาและเราต่างเป็นผู้ถูกกระทำ สร้างความสูญเสียแก่กัน และได้รับผลพวงความทุกข์เสมอหน้า ก็จะให้อภัยกันได้ และถ้าเยียวยาจิตใจตัวเองได้ ควรช่วยคนอื่นด้วยไม่ว่าอุดมการณ์หรือสีใด อย่างน้อยอย่าซ้ำเติม มากว่านั้นคือรับฟังเข้าใจความทุกข์เขาโดยไม่ตัดสิน ถ้าช่วยเยียวยาด้วยการกระทำยิ่งดี ที่สำคัญต้องเปิดพื้นที่ให้เขาได้พูด และอย่าให้พื้นที่นั้นจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม.
“ตอนนี้มีกับดักความรุนแรงแฝงในโครงสร้างมากมายผลักดันให้คนทำร้ายกัน ต้องใช้ปัญญาเห็นรากเหง้าที่อยู่ในใจเรา ในโครงสร้าง มีทัศนะกว้างไกลเชิงประวัติศาสตร์ ไม่หลงลืมซ้ำรอยอย่างที่เป็นอยู่” .