เบื้องหลัง!บ.อดีตส.ว.ก่อนคว้าซื้อรถ รฟท. 4.6พันล. "กรุงไทย"ไล่บี้ค้างหนี้ 623ล.
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกายัน บ.อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี หนี้สินล้นพ้นตัว ถูกยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ก่อนคว้าสัญญาจัดหารถโดยสาร 155 คัน 4,668.89 ล้าน รฟท. -พบข้อมูลใหม่ที่แท้ "กรุงไทย" เจ้าหนี้ตามไล่บี้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด หลังค้างหนี้ 623 ล้าน
ในการทำหนังสือด่วนมาก จำนวน 2 ฉบับ เลขที่ ตผ 0016/4610 และ ตผ 0016/4611 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ช่วงปลายเดือนกันยายน 2557 เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริหารเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน วงเงิน 4,668.89 ล้านบาท
สตง.กล่าวอ้างถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีความกังวลว่าโครงการนี้อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต และจะส่งผลเสียหายต่อราชการ คือ การตรวจสอบพบว่า บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด (หนึ่งในกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า บีบีซี ประกอบไปด้วย บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊กชั่น จำกัด ที่เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้จัดดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริหารเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน) มีหนี้สินล้นพ้นตัว และถูกยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจากศาลฎีกา
(อ่านประกอบ : เปิดหนังสือ สตง. จี้ รฟท. ทบทวนจัดหารถโดยสาร4.6พันล.-บริษัทอดีตส.ว.ซิวงาน!)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบคำพิพากษาศาลฎีกา ที่พิพากษายกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของ บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555 มานำเสนอ ณ ที่นี้
"ลูกหนี้ (บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด) ยื่นคำร้องขอว่า ลูกหนี้ (บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด) เป็นหนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน
โดยลูกหนี้ได้กู้เงินดังกล่าวมาเพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารโรงแรมเป็นเงิน 512,000,000 บาท และมีต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเงิน 623,298,564 บาท นอกจากนี้ลูกหนี้ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อีกหลายราย ไม่สามารถชำระต้นเงินและดอกเบี้ยได้ ประกอบกับถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ลูกหนี้ประกอบกิจการด้านโรงแรมและการบริการอยู่ริมทะเลอันดามัน จังหวัดพังงา หลังจากโรงแรมของลูกหนี้ซึ่งมีมูลค่า 600,000,000 บาท ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว โรงแรมของลูกหนี้ได้ประสบภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้จากแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเซีย ทำให้อุปกรณ์และทรัพย์สินของโรงแรมลูกหนี้เสียหายเป็นอันมาก
ธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานดีทำผลกำไรได้สูง ธุรกิจโรงแรมของลูกหนี้มีสถานที่ตั้งอยู่ริมชายหาด ซึ่งเป็นชายหาดส่วนตัวติดทะเลอันดามันยาวถึง 2 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการก่อสร้างโรงแรมที่พัก เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลโดยเฉพาะ และปัจจุบันตำบลเขาหลัก จ.พังงา ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศไทย ลูกหนี้ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ เจ้าหนี้รายใหญ่พร้อมจะให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนในการพื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย เนื่องจากบรรดาเจ้าหนี้ต่างเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจของลูกหนี้ว่าหากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วจะประสบความสำเร็จ หากลูกหนี้ได้รับการฟื้นฟูกิจการก็จะสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ อีกทั้งสามารถรักษาการจ้างงานบุคคลไว้ได้
ลูกหนี้มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ กล่าวคือ ที่ดินตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวโดยลูกหนี้จะปรับปรุงและรีบซ่อมแซมก่อสร้างเพื่อให้ลูกค้ากลับมาท่องเที่ยว มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากจะเขามาร่วมทุนกับลูกหนี้ โดยขอให้ นายประสิทธิ์ โพธสุธน ผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งนายประสิทธิ์ โพธสุธน เป็นผู้ทำแผน หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่ตั้งผู้ทำแผน ขอให้มีคำสั่งตั้งนายประสิทธิ์ โพธสุธน เป็นผู้บริหารชั่วคราว
ผู้คัดค้าน (ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)) ยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้ประสบธรณีพิบัติภัยถูกคลื่นสึนามิ พัดเสียหายหมดทั้งโครงการ ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เหลือแต่ที่ดินว่างเปล่าทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และกิจการไม่มีกระแสเงินสดชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน
ลูกหนี้เคยแจ้งต่อผู้คัดค้านตั้งแต่ปี 2548 ว่าจะหาผู้ร่วมทุนต่างชาติเพื่อดำเนินโครงการใหม่แต่ก็ยังไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนใหม่ได้ แผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ไม่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2548-2550 กิจการประสบผลขาดทุนเป็นจำนวนสูงต่อเนื่อง 3 ปี ไม่มีความสามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งลูกหนี้ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการ
ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการโดยมีเจตนาเพื่อประวิงการขายทอดตลาด เนื่องจากตามแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ ไม่สามารถแก้ไขสภาวะทางการเงินและหนี้สินให้อยู่ในสภาวะที่จะดำเนินการต่อไปได้ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงแรมและสถานบริการเมื่อปี 2546 ลูกหนี้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11804,11814 และ 6534 ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เนื้อที่กว่าร้อยไร่เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทำธุรกิจโรงแรม ห้องอาหารและสปา
ต่อมาลูกหนี้กู้เงินจากผู้คัดค้าน 512,000,000 บาท โดยมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองประกันหนี้ คำนวณยอดหนี้ถึงวันที่ 1 เมษายน 2551 ลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นเงิน 623,298,564 บาท และปัจจุบันลูกหนี้มีเจ้าหนี้รายเดียว
ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม2547 ได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ อันเป็นผลมาจากเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลในประเทศอินโดนีเซีย พัดเข้าโรงแรมของลูกหนี้เสียห่ยทั้งหมด ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทรณ์ของลูกหนี้ว่า กรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามคำร้องหรือไม่
เห็นว่าลูกหนี้มีผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียว และในการฟื้นฟูกิจการนั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาสภาพธุรกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่ประสบภาวะวิกฤติทางด้านการเงิน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
เมื่อปรากฏว่ากิจการของลูกหนี้ได้ประสบภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิได้รับความเสียหายทั้งหมด คงเหลือเฉพาะที่ดินว่างเปล่า กรณีจึงไม่มีกิจการของลูกหนี้ที่จะดำเนินการฟื้นฟู และนอกจากนี้หากว่าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว จะต้องมีการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อลงมติตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนดังกล่าวหรือไม่
ดังนั้น การที่ลูกหนี้จะฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความยินยอมของเจ้าหนี้เป็นสำคัญ
เมื่อผู้คัดค้านคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ แสดงว่าผู้คัดค้านมิได้ยินยอมด้วยในการฟื้นฟูกิจการแล้ว การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควร และไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามคำร้องขอที่ศาลล้มละลายกลาง
มีคำสั่งยกคำร้องขอของลูกหนี้มานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น
ทั้งนี้ ในการทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหาร รฟท. เพื่อขอให้ทบทวนโครงการฯ นี้ สตง.ระบุว่า " บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการยังศาลล้มละลายกลาง และศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วว่า การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งรฟท.ได้หารือสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับสถานะของบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด และสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตอบข้อหารือโดยพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องของบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อสถานะความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของบริษัทโดยไม่ถือว่าบริษัทเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236(5)"
แต่ปรากฎจากคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ว่า ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด มีหนี้สินล้นพ้นตัว
กรณีนี้จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ รฟท.พึงพิจารณาด้วยความรอบคอบว่าสมควรเข้าทำสัญญาในโครงการที่มีจำนวนทุนทรัพย์สูงเช่นนี้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ และยังได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคาตามประกาศประกวดราคาโครงการดังกล่าวซึ่งมีนัยสำคัญอีกด้วย"
ขณะที่ นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2557 หลังการลงนามในสัญญาโครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริหารเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน วงเงิน 4,668.89 ล้านบาท ว่า การลงนามในสัญญาจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่ กับกิจการร่วมค้าบีบีซีนั้น พิจารณาข้อเสนอแนะจาก สตง. อย่างรอบคอบแล้วก่อนลงนามเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่ได้ ล้มละลาย แต่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ!
อ่านประกอบ :
แกะรอยบ.อดีตส.ว.คว้าสัญญาซื้อรถรฟท.4.6พันล.-ชื่อหราถูกยกคำร้องฟื้นฟูกิจการ
เจาะทรัพย์สิน 519 ล.“ส.ว.ประสิทธิ์” ผู้คว้าสัญญาซื้อรถ รฟท. 4.6 พันล.