รอยยิ้ม 'กะเหรี่ยง-กะหร่าง' ณ บ้านโป่งลึก-บางกลอย
“ถ้าไม่สอนให้เขาเรียนรู้ และรู้จักอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ป่าก็จะถูกบุกรุกเข้าไปเรื่อยๆ”
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานและเลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เริ่มต้นชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก บางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่นอกจากไม่มีอาชีพ ไม่มีจะกิน ที่อยู่อาศัยก็ไม่มั่นคง บางส่วนยังเป็นชนเผ่ากระหร่าง ไร้สัญชาติอีก
ม.ร.ว.ดิศนัดดา เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ โครงการแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ บ้านบางกลอย - โป่งลึก ตั้งแต่ปี 2555 ได้ยึดหลักตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และนำศาสตร์ของพระราชาที่ดำเนินการกว่า 4,000 โครงการมาประยุกต์ใช้ด้วย ก่อนที่จะไปเริ่มพูดคุยกับชาวบ้าน โดยใช้ยุทธศาสตร์ “หยอดเมล็ดพันธุ์แห่งการคิด” ให้ชาวบ้านรู้จักคิด และรู้ถึงสิ่งที่ต้องแก้ไขในพื้นที่
แล้วนำสิ่งที่ได้พูดคุยเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ในที่สุดก็พบข้อมูล “น้ำ” ขาดแคลน ทั้งน้ำในการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยหลักต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน รองลงมาคือเรื่องดิน
ความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกันอันสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐที่พยายามผลักดันให้คนที่อาศัยกับป่า อพยพย้ายถิ่นฐานลงมายังบ้านบางกลอย เมื่อปี 2539 จนคนเหล่านั้นไม่มีที่ดินทำกิน หมดหนทางทำกิน
รวมถึงปัญหาการบุกรุกป่า ปัญหาความยากจนในพื้นที่ ปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน ปัญหาทัศนคติ ทำให้ดูเหมือนสถานการณ์ในพื้นที่จะไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ได้
แต่เกือบ 3 ปี สถานการณ์ดังกล่าว ได้คลี่คลายลง
“ในปีแรกเราเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวไร่ที่ต้องปลูกแบบขั้นบันได ผลผลิตที่ได้ออกมาเฉลี่ยกว่า 158 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งยังไม่พียงพอต่อการบริโภค เนื่องจากยังคงประสบปัญหาน้ำที่ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ธาตุอาหารในดินไม่เพียงพอตามไปด้วย ประกอบกับการปรับขั้นบันไดเพาะปลูกยังไม่สมบรูณ์มากนัก และยังเผชิญกับปัญหาฝนที่ตกหนักในฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก
ปี 2557 คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว จาก 158 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ เชื่อว่า น่าจะเพียงพอต่อการบริโภคของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยตลอดทั้งปี”
รวมไปถึงการส่งเสริมการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด ทั้งกล้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลองกอง ส้มโอ มะขาม ละมุด ให้กับเกษตรกรจำนวน 75 ราย เพื่อเป็นพืชอาหารและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ถึงวันนี้มีปริมาณกล้วยที่ปลูกไม่ต่ำกว่า 20,000 ต้น ให้ผลผลิตกว่า 70,000 เครือ สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ
เลขาธิการมูลนิธิ ปิดทองหลังพระฯ ยังเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของชาวกระเหรี่ยงที่เห็นชัด อย่างแรกคือ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสกว่าตอนเข้ามาทำโครงการใหม่ๆ
ที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือนก็ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะดูไม่ดีนักตามสายตาคนเมือง แต่สำหรับคนที่เข้ามาคลุกคลีประจำจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง
“อาหารการกินเพิ่มมากกว่า 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบในอดีต ส่วนเสื้อผ้าในวันนี้เขาเริ่มรู้จักการแต่งตัวแบบผู้คนภายนอก นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่คนที่เคยออกไปทำงานนอกพื้นที่ ในวันนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้คนเหล่านั้นกลับเข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น เพราะงานที่มีให้ทำ มีที่ดินทำมาหากิน มีรายได้ และมีบ้านให้อยู่อาศัย”
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แม้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากซึมซับมากๆ อาจะส่งผลทบในเรื่องของความยากได้อยากมีมากเกินพอดี ฉะนั้น ในอนาคต ม.ร.ว.ดิศนัดดา เห็นว่า จำเป็นต้องนำเรื่องการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเข้ามาปลูกฝังให้ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผลลัพธ์จากการพัฒนา“พื้นที่ต้นแบบโป่งลึก-บางกลอย” คงไม่ต้องตอบว่า ตอบโจทย์ชาวบ้านหรือไม่ เพราะวัดได้จากวันแรก มีชาวบ้านร่วมเพียง 86 ครัวเรือน ถึงวันนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้น 123 ครัวเรือนแล้ว
"สุธี ต้นน้ำเพชร" ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย บอกว่า เขาพึ่งพอใจกับโครงการฯ นี้เป็นอย่างมาก เพราะหลายปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในพื้นที่บ้านบางกลอยแห่งนี้ มีทั้งการจัดสรรที่ดินใหม่ให้แต่ละครอบครัวในพื้นที่ จากเดิมเป็นพื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ มีเพียงทำการเกษตรเพียงเล็กน้อย หลังจากโครงการปิดทองหลังพระ เข้ามาให้ความรู้ในการปลูกพืช ทั้งสอนให้รู้ถึงการปลูกพืชหมุนเวียน และปลูกข้าวไร่ คนในพื้นที่บ้านบางกลอยก็เริ่มลุกขึ้นมาทำเกษตรอีกครั้ง
เมื่อดินและน้ำอุดมสมบรูณ์ การปลูกพืชก็ให้ผลผลิตมีรายได้เลี้ยงคนในครอบครัว ที่เหลือส่งขายในตลาดตัวเมืองเพชรบุรี
……………………………………………….
การพัฒนาพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อีกหนึ่งตัวอย่างเล็กๆ ที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ ไม่ใช่แค่การพัฒนาเฉพาะที่ดินทำกิน สร้างอาชีพเท่านั้น ยังเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน พัฒนาองค์ความรู้ ความเข้าใจ จนทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘โป่งลึก-บางกลอย’ ต้นแบบพัฒนาชุมชนยึดคนเป็นศูนย์กลาง