บรรหารแนะ เสริมคันกั้นน้ำอีก 1.5 เมตรแก้ปัญหาน้ำท่วมบางบาล
บางบาลวิกฤติหนักชาวบ้านอาศัยถนนคันกั้นน้ำเป็นที่หลับนอน ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ จี้ จับตาสถานการณ์น้ำบางไทร หวั่นท่วมกรุงเทพ กรมชลฯ สนองนโยบายรัฐ เตรียมจัดระบบปลูกข้าวนาปรังปีละ 2 ครั้ง เพิ่มพื้นที่รับน้ำ
วันที่ 8 ก.ย. 54 นายบรรหาร ศิลปะอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายชุมพล ศิลปะอาชา รองนายกรัฐมนตรี นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กษ. และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษา รมว.กษ.และคณะ เดินทางลงพื้นที่ อ.บางบาล และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อแจกถุงยังชีพ รับฟังและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
นายทวี นริสศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยาว่า ขณะนี้ มีพื้นที่น้ำล้นตลิ่งใน 9 อำเภอ ได้แก่ ผักไห่ บางไทร บางปะอิน เสนา พระนครศรีอยุธยา มหาราช บางปะหัน บางบาล และนครหลวง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 115 ตำบล 919 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 8 อำเภอ ได้แก่ ผักไห่ บางไทร บางปะอิน เสนา พระนครศรีอยุธยา มหาราช บางปะหัน และบางบาล เกษตรกร 4,336 ราย พื้นที่ประสบภัย ประมาณ 53,000ไร่ แยกเป็น นาข้าว ประมาณ 48,800 ไร่ พืชไร่ ประมาณ 66 ไร่ พืชสวน และอื่นๆ 4,200 ไร่ พื้นที่ คาดว่าจะเสียหาย ประมาณ 48,800 ไร่ แยกเป็นนาข้าว 44,500 ไร่ พืชไร่ 66 ไร่ พืชสวน และอื่นๆ 4,200 ไร่
ทางจังหวัดฯ ได้สำรวจพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 16 อำเภอ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 667,000 ไร่ ได้เก็บเกี่ยวแล้ว 279,000 ไร่ คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 387,900 ไร่ ขณะนี้ได้ทำการสำรวจและมีมาตรการในการดูแลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ 6 ทุ่ง โดยกำหนดช่วงวันเก็บเกี่ยวภายในวันที่ 15 กันยายน 2554 ซึ่งอาจจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 30,000 ไร่ คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 60,000 ไร่
เมื่อพื้นที่ดังกล่าวเก็บเกี่ยวแล้วจะประสานให้ชลประทานระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพื่อรองรับน้ำจากทางภาคเหนือซึ่งจะทยอยลงมาตามที่กรมชลประทาน ตามนโยบายพื้นที่รองรับน้ำ แก้มลิงของรัฐบาล คาดการณ์ประมาณระดับน้ำสูงขึ้น 30-70 เซนติเมตร ในเดือนกันยายน 2554 ซึ่งจะมีพื้นที่รองรับน้ำได้ประมาณ 336,449,000 ลูกบาศก์เมตร
นายนพพร ชัยพิชิต ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 20 กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.บางบาล บริเวณคลองบางบาล และคลองโผงเผง นั้น เกิดจากการที่น้ำเหนือมีปริมาณมากเกินไป คลองบางบาลสามารถรองรับน้ำได้ที่ ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 893 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เกินกำลังรับน้ำจึงเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ซึ่งปกติก็เป็นแหล่งรับน้ำตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงทำได้เพียงการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือเท่านั้น และต่อไปจะดำเนินมาตรการจัดระบบการปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรทำนาปีละ 2 ครั้ง เพื่อสามารถจัดการพื้นที่รองรับน้ำได้
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ในพื้นที่ อ.บางบาล ที่คลองบางบาลและคลองโผงเผงนายนายบรรหาร ศิลปะอาชา เสนอให้เร่งเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นอีก 1.5 เมตร (เดิมสูง 6 เมตร) และให้กรมชลประทานเร่งสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวที่เก็บเกี่ยวข้าวได้เร็วก็จะสามารถเป็นพื้นที่รับน้ำจากทางตอนเหนือได้อีกมาก ซึ่งต้องมีการสำรวจให้ดีก่อนว่าทุ่งใดเก็บเกี่ยวข้าวแล้วหรือไม่ โดยต้องไม่สร้างกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหารือกับสำนักทางหลวงชนบทให้เป็นผู้ดำเนินการเรื่องคันกั้นน้ำแล้ว
“ที่มาในวันนี้ อยากช่วยรัฐบาลให้เป็นผลงานว่า ปัญหาน้ำท่วมบางบาลได้รับการแก้ไขแล้ว ปีหน้าจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมอีก” นายบรรหารกล่าว พร้อมฝากให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ดี โดยต้องควบคุมไม่ให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อป้องกันน้ำท่วมทางตอนใต้ และกทม. ซึ่งกรมชลฯ ต้องประสานงานกับเขื่อนภูมิพลในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้ปล่อยน้ำลงมามากจนเกินไป
ด้านนายอนุรักษ์ ชูประวัติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.น้ำเต้า อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นมา เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ. บางบาล 3 รอบ แล้ว ซึ่งครั้งนี้ เริ่มท่วมตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นมา ถือได้ว่ามีความวิกฤติเทียบเท่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 53 ที่ผ่านมา โดยมีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตรในหลายจุด
นายอนุรักษ์ กล่าวถึงสาเหตุที่น้ำท่วมหนักว่า เกิดจากน้ำเหนือเดินทางมาถึงพื้นที่เร็วกว่ากำหนด ซึ่งปกติจะมาถึงเดือนก.ย.- ต.ค. ถือเป็นช่วงที่ชาวนายังไม่เก็บเกี่ยวผลผลิต จึงไม่สามารถปล่อยน้ำเข้าสู่ทุ่งบางบาลซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วมได้ แต่คาดว่า หลังจากวันที่ 15 ก.ย. ชาวนาส่วนที่เหลือจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด จะทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มประมาณ 30,000 ไร่ ช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำท่วมได้ระดับหนึ่ง ซึ่งขณะนี้มีหลายครัวเรือนต้องอพยพมาอยู่ริมถนนบริเวณคันกั้นน้ำแล้ว