อดีตพูโลแนะแนวพูดคุยดับไฟใต้ "รวมกลุ่มคิดต่าง-รักษาความลับ"
"ที่ผ่านมาถือว่าเป็นบทเรียนที่พูดคุยเจรจาไม่สำเร็จ วันนี้รัฐบาลรู้แล้วว่ารัฐบาลชุดที่แล้วเดินทางผิด เพราะไปพูดคุยหรือเจราจาแค่กลุ่มเดียวทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีอีกหลายกลุ่มที่เป็นตัวแทนของประชาชนชาวปัตตานี"
เป็นทัศนะของ "สะมะแอ สะอะ" หรือที่รู้จักกันในนาม "หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ" อดีตหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล เกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยสันติสุข ในวันที่วัยของเขาล่วงเลย 60 ปี และต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ...
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน เมื่อปลายปี 2554 แต่ยังดีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยุค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ทำโครงการร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ขอย้ายนักโทษเด็ดขาดที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และมีภูมิลำเนาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กลับไปคุมขังยังเรือนจำบ้านเกิด เพื่อให้ครอบครัวญาติมิตรไปเยี่ยมได้อย่างสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดยะลา และถึงแม้ไม่ใช่ช่วงที่มีการริเริ่มพูดคุยเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพหรือสันติสุข ก็มักมีเจ้าหน้าที่รัฐแวะเวียนเข้าพบปะเยี่ยมเยียนและขอฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องเดือนละหลายๆ ครั้งอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ คือนักต่อสู้ผู้มีอุดมการณ์แบบที่เรียกได้ว่า "สู้จริง-เจ็บจริง" และเข้าใจปัญหาชายแดนใต้มากที่สุดคนหนึ่ง
ฉะนั้นเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเริ่มกระบวนการพูดคุยรอบใหม่ หลังจากหยุดชะงักไปจากปัญหาการเมืองภายใน และประเด็นการพูดคุยที่ไม่คืบหน้าในรัฐบาลชุดที่แล้ว การรับฟังทัศนะของเขาเกี่ยวกับการพูดคุยจึงถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
"ส่วนหนึ่งของสันติภาพคือการเจรจา ประเทศอื่นจะใช้คำว่า 'เจรจา' แต่ประเทศไทยใช้คำว่า 'พูดคุย' ก็ไม่เป็นไร จะใช้คำอะไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้มีการดำเนินการต่อไป เพราะการพูดคุยหรือการเจรจาทำให้ทุกฝ่ายสนใจและสร้างความหวังว่าจะเกิดสันติสุข"
กุญแจสู่ความสำเร็จของการพูดคุยเจรจาในมุมมองของ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ มีอยู่ 2 อย่าง คือ การรักษาความลับ และการที่คู่เจรจามีเอกภาพ รวมกันเป็นหนึ่ง
"อย่างกรณีปาเลสไตน์ มีหลายกลุ่ม หลายองค์กรมาพูดคุยทำข้อตกลงกัน แล้วตั้งกลุ่มพีแอลโอขึ้นมา (หมายถึงองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ เป็นการรวมกลุ่มชาตินิยมหลากหลายกลุ่มที่ต่อต้านอิสราเอล) แต่ละกลุ่มมาเลือกกันว่าใครเหมาะสมเป็นประธาน ใช้เวลาหลายปีในการเจรจาแบบเงียบๆ เมื่อได้ข้อตกลงกันถึงมาร่วมกันเซ็นสัญญา แล้วจึงเปิดเผยต่อสาธารณะ"
"สำหรับประเทศไทย หากจะพูดคุยหรือเจรจากับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดคงไม่สำเร็จ เพราะแต่ละกลุ่มเขามีความคิดไม่เหมือนกัน หากรัฐบาลจะพูดคุยหรือเจรจาจริงๆ ต้องทำให้กลุ่มเหล่านั้นเป็นหนึ่งเดียวกันก่อน"
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ กล่าวต่อว่า ขอสนับสนุนการพูดคุยให้ดำเนินต่อไป แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย รอให้ได้ข้อตกลงก่อนแล้วค่อยมาเปิดต่อสาธารณะ ที่สำคัญการพูดคุยต้องมีความจริงใจให้กัน และต้องรักษาสัญญาในการพูดคุย ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่อาจกระทบต่อกระบวนการหรือกระทบกับอีกฝ่าย เพราะแนวทางการพูดคุยนั้น ไม่ใช่ว่าประชาชนในประเทศจะเห็นด้วยกันหมด
"จะทำให้เกิดสันติภาพต้องมาช่วยกันคิดหาแนวทาง จากนั้นจึงมาทำสัญญาร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มใช้ความรุนแรงในพื้นที่ และเมื่อรักษาสัญญาร่วมกันได้ ถึงจะสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะ สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องรวมกลุ่มขบวนการที่คิดต่างจากรัฐให้ได้"
"ที่ผ่านมาถือว่าเป็นบทเรียนที่ทำไม่สำเร็จ วันนี้รัฐบาลรู้แล้วว่ารัฐบาลชุดที่แล้วเดินทางผิด เพราะไปพูดคุยหรือเจราจาแค่กลุ่มเดียว ทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีอีกหลายกลุ่มที่เป็นตัวแทนของประชาชนชาวปัตตานี รัฐบาลต้องให้ตัวแทนประชาชนปัตตานีที่มีหลายกลุ่มมารวมตัวเป็นกลุ่มเดียวแล้วตั้งตัวแทนของกลุ่มเพื่อเป็นตัวแทนพูดคุย"
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ บอกด้วยว่า มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร อีกอย่างประเทศไทยกำลังจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 ถ้ายังมีปัญหาอยู่แบบนี้ต่อไปก็จะพัฒนาตัวเองไม่ได้ เพราะว่าประชาชนอยู่ในความโศกเศร้า และขณะนี้เหลืออีกเพียง 2 ประเทศในอาเซียนเท่านั้นที่ยังมีปัญหาความไม่สงบภายในอย่างชัดเจน คือ เมียนมาร์ กับปัญหาโรฮิงญา และไทย กับปัญหาชายแดนใต้
"ผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถพูดคุยเจรจาจนประสบความสำเร็จ เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ถือเป็นโอกาสที่ดี"
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา รับรองว่าการพูดคุยเจรจาจะประสบความสำเร็จ ส่วนจะใช้เวลาเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่าย แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยนไป คนที่จะพูดคุยก็เปลี่ยน ต้องมานับหนึ่งกันใหม่
จึงหวังว่าปัญหาเดิมๆ จะไม่เกิดซ้ำรอยอีก!