ตัดไฟแต่ต้นลม! ชงโมเดลอุดช่องโหว่รัฐ ‘ซื้อสื่อ’ เล่ห์ครอบงำความอิสระ
นายกสมาคมนักข่าวฯ หนุนร่างกม.พีอาร์รัฐ ป้องกันสื่อถูกแทรกแซง แนะตั้งสภาวิชาชีพประกอบธุรกิจสื่อ หวังบริหารบนหลักธรรมาภิบาล ประกันความอิสระนักข่าว สตง.พร้อมเดินหน้าตรวจสอบความโปร่งใสเบิกจ่ายงบฯ โฆษณารัฐ ชงสร้างระบบควบคุมจากหลายภาคส่วน
เร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรม สวิซโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเวทีเสวนา ‘เครื่องมือป้องกันการแทรกแซงสื่อสาธารณะของภาครัฐ’ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ารับฟังหนาตา อาทิ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้บริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจในเวทีมานำเสนอ
“10 ปีที่ผ่านมา มักได้ยินเสมอหากสื่อไม่นำเสนอข่าวสนับสนุนรัฐบาลหรือพรรคการเมืองก็จะถูกถอดโฆษณา”
‘ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์’ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดประเด็นเกี่ยวกับการครอบงำสื่อของรัฐ โดยสาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะปัจจุบันมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่ยอมรับการโฆษณาจากภาครัฐ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 45 ระบุชัดเจนว่า การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่น เพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้
“เราได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารือระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อหาวิธีการบริหารจัดการงบประมาณการประชาสัมพันธ์โฆษณาของภาครัฐ” นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าว และว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
ส่วนประเด็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกับการจ้างจัดอีเวนท์ของภาครัฐหรือไม่ ประดิษฐ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน มิฉะนั้นภาครัฐคงกระทำผิดกฎหมายกันหมด
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณของภาครัฐซื้อสื่อเพื่อหวังเข้าไปแทรกแซง จำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ และสื่อมวลชนจะไม่มีความกดดันในการนำเสนอข่าว จนสูญเสียความอิสระไป
นายกสมาคมนักข่าวฯ อธิบายต่อว่า การจะผลักดันให้พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ถูกบังคับใช้ได้ต้องมีกฎหมายอื่นประกอบ ดังเช่น ในอดีตเคยผลักดันร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลที่ผ่านมา
โดยทราบกันดีว่า การทำหน้าที่ในกองบรรณาธิการข่าวนั้นย่อมมีการตรวจสอบข่าว เพื่อจะตัดสินใจว่า ข่าวใดสามารถตีพิมพ์ได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ข้อนี้นักข่าวและบรรณาธิการข่าวทราบ ดังนั้น สมาชิก สปช.ด้านสื่อยืนยันจะออกกฎหมายประกอบ และยืนยันพร้อมคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชน
แนะปฏิรูปสื่อฯ ประสิทธิภาพ สร้างธรรมาภิบาลผู้ประกอบธุรกิจ
เมื่อมองไกลถึงทิศทางการปฏิรูปสื่อมวลชน ประดิษฐ์ ระบุว่า สื่อมวลชนเป็น ‘ลูกผสม’ ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสื่อกับผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งด้านหนึ่งผู้ประกอบวิชาชีพจะถูกวิจารณ์จากสังคม ไม่มีความรับผิดชอบ ไร้จริยธรรม หรือชอบสร้างวาทกรรมความขัดแย้ง แต่ด้านผู้ประกอบธุรกิจสื่อกลับไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง
ดังนั้น จำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ ยกตัวอย่าง สภาวิชาชีพผู้ประกอบธุรกิจสื่อ เพื่อดำเนินธุรกิจให้มีกำไรภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยสร้างหลักประกันจะให้ความอิสระในการทำหน้าที่สื่อมวลชน
“ถ้าจะปฏิรูปสื่อมวลชนเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพฝ่ายเดียว โดยไม่กล่าวถึงผู้ประกอบธุรกิจ การปฏิรูปก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะมีเสรีภาพมากเพียงใด”
นายกสมาคมนักข่าวฯ ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้คนตรวจสอบด้านจริยธรรมกระโดดหนีระหว่างสอบสวน ต้องแก้ไขเนื้อหาในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จดแจ้งการพิมพ์ บังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ (หนังสือพิมพ์) ต้องสมัครเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพที่มีข้อบังคับด้านจริยธรรม
ส่วนสื่อวิทยุโทรทัศน์จะถูกกำกับดูแลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่ดูเหมือนที่ผ่านมา กสทช.มักไม่ค่อยใส่ใจเรื่องดังกล่าวเท่ากับการประมูลคลื่นหรือแจกกล่องทีวีดิจิตอล
ท้ายที่สุด ประดิษฐ์ เสนอว่า การป้องกันรัฐครอบงำสื่อจะบังคับใช้เฉพาะกฎหมายไม่ได้ แต่ต้องสร้างการกำกับสื่อร่วมกับภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ในลักษณะ ‘องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ’ ซึ่งที่ผ่านมาจะคึกคักเพียงชั่วคราว แล้วก็อ่อนแอไป
ชงคัดคนนั่ง กก.บอร์ดสื่อรัฐจากหลายภาคส่วน
“การแทรกแซงสื่อมวลชนที่ผ่านมามักเกิดจาก ‘ภาคการเมือง’ โดยเฉพาะสื่อภาครัฐอย่าง ช่อง 11 ฉะนั้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะทำอย่างไรให้ปลอดจากการเมือง มิฉะนั้นคนทำสื่อจะลำบาก ทำหน้าที่ไม่เต็มที่”
‘วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์’ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขยายความต่อ ช่อง 11 จะมีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารให้มาจากอำนาจรัฐ เช่นเดียวกับ ช่อง 9 แม้จะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ยังคงแต่งตั้งโยกย้ายประธานบอร์ดไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลใด
จึงควรใช้โอกาสการปฏิรูปประเทศเปลี่ยนแปลง โดยเสนอให้คัดเลือกบุคคลจากกลุ่มวิชาชีพหรือผู้บริโภคเข้ามาอยู่ในสัดส่วนบอร์ดบริหารอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่ภาคการเมือง 100%
“หลายคนมักมองการเปลี่ยนผู้บริหารเป็นการเปิดโอกาสแทรกแซงสื่อ แต่เรามักมองไม่เห็นว่าบุคคลเหล่านี้เป็นเพียงตัวอำพราง จนลืมที่จะสังเกตบุคคลธรรมดาที่เข้ามาทำหน้าที่ชงร่างระเบียบหรือกฎเกณฑ์” อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ กล่าว และว่าโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับธุรการ เพราะถ้าคนในองค์กรสื่อไม่เอาด้วยก็ขยับยาก ฉะนั้นจึงแต่งตั้งเข้ามาตั้งแต่ระดับกรรมการ ธุรการ เดินเอกสาร จัดซื้อ ตำแหน่งเล็ก ๆ เหล่านี้ กำลังเคลือบอยู่ในองค์กรนั้น
วิสุทธิ์ ยังเห็นว่า ต้องสร้างเครื่องป้องกันให้กับผู้ประกอบวิชาชีพ มิใช่ปล่อยให้ผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของสังคมต้องถูกฟ้องร้อง โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรสื่อ นอกจากศาลอย่างเดียว ที่สำคัญ สื่อภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนตัวเองว่า มีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่ขายข่าวเพื่อกำไรสูงสุดขององค์กร
สตง.รับลูกทีดีอาร์ไอสร้างโปร่งใสเบิกจ่ายงบฯ พีอาร์รัฐ
“บางครั้งการนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของนักบริหารท้องถิ่นในหนังสือพิมพ์จำหน่ายทั่วประเทศ ถามว่าประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้ สตง. เจ็บปวด เพราะดูแล้วไม่ได้ประโยชน์”
‘พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส’ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า สตง.ไม่ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐถูกหรือผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบแง่ประสิทธิภาพด้วย แต่เรามักคิดว่าเมื่อมีงบประมาณแล้วต้องใช้ให้หมด สิ่งเหล่านี้ถือว่าไม่ประหยัดและคุ้มค่า รัฐจะเกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ การนำงบประมาณใช้จ่ายในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายหรือผลงาน ในลักษณะแอบแฝงผลประโยชน์ทับซ้อน การกระทำลักษณะนี้ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เป็นเพียงการหวังผลทางการเมืองหรือประชานิยมเท่านั้น
ผู้ว่า สตง. ยกตัวอย่างกรณีการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในแง่การโฆษณาประชาสัมพันธ์พื้นที่กทม.ว่า มีการติดป้ายประกาศถนนเส้นนี้สนับสนุนโดยสมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) เมื่อสอบถามไปยังเขตพื้นที่จึงทราบว่า บริษัทรับทำป้ายอยู่เบื้องหลัง ต้องการติดป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อตอบแทนสภาฯ ในการอนุมัติจัดจ้างเท่านั้น มิได้ใช้งบประมาณรัฐ จึงถือเป็นพัฒนาการแทรกแซงสื่อแบบใหม่
สำหรับภาพใหญ่อย่างรัฐบาล ปัจจุบันใช้วิธีการจ้างบริษัทรับจัดงานอีเวนท์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็ต้องไปซื้อพื้นที่สื่ออยู่ดี ที่สำคัญ บางบริษัทนอกจากจะรับจัดงานอีเวนท์แล้ว ยังเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ด้วย
พิศิษฐ์ จึงยินดีที่จะรับข้อเสนอของทีดีอาร์ไอในการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ โดยเราสามารถทำได้
“ภาคเอกชนสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจ หากมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จะมีโอกาสอุดหนุนสื่ออยู่แล้ว แต่การที่ภาครัฐใช้งบประมาณแผ่นดินนำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ไร้สาระ เรารับไม่ได้ จึงต้องสร้างระบบควบคุม แต่จะอาศัยความร่วมมือฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะการซื้อสื่อได้พัฒนาไปในลักษณะครบวงจรแล้ว” ผู้ว่า สตง. กล่าว .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ-ไทยพีบีเอส-Siamintelligence