นายกฯถกนาจิบเปิดตัว"อักษรา" - ซัมซามิน เจ้าเก่าอำนวยความสะดวกพูดคุย
"ประยุทธ์" หารือทวิภาคี "นายกฯมาเลย์" ยันเดินหน้าพูดคุยสันติสุข มอบหมาย "ดาโต๊ะซัมซามิน" ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกต่อ พร้อมเปิดตัว "อักษรา เกิดผล" หัวหน้าทีมพูดคุยฝ่ายไทย ขณะที่สองผู้นำชูเพิ่มมูลค่าการค้าให้ได้ 1 ล้านล้านในปีหน้า เชื่อมโยงระบบรางถึงจีน-อินเดีย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือทวิภาคีเต็มคณะกับ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธ.ค.57 ระหว่างการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการในโอกาสดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการหารือ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์กับมาเลเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและมาเลเซีย ให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างทุกภาคส่วนของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมความเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน โดยไทยจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของมาเลเซียในฐานะเป็นประธานอาเซียน และสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี 2558
ทั้งนี้ ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 6 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยไทยได้เสนอให้มาเลเซียพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 13 และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ 4 ด้วย
ในด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความพอใจกับผลการพบหารือกลุ่มเล็กกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันจะเดินหน้าสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และจะได้มีการหารือในรายละเอียดกันต่อไป เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขมีความคืบหน้าอย่างแท้จริง
ดันมูลค่าการค้าแตะ1ล้านล.ปีหน้า
ด้านเศรษฐกิจ ไทยกับมาเลเซียต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งรถและราง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดน ซึ่งไทยได้มีการเร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา-ปาดังเบซาร์ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ ไทยยังอยากเห็นนักลงทุนมาเลเซียเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เช่นเดียวกันกับที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย
ทั้งนี้ ไทยและมาเลเซียเห็นพ้องกันในการตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้านบาทในปี 2556 ให้ได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2558 ซึ่งไทยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้นในลักษณะแพคเกจ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สอดคล้องกับนโยบายของไทยที่จะกำหนดให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยด้วย
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังได้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทั้งการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้งการส่งเสริมการเชื่อมโยง (Connectivity) ด้วยเส้นทางถนนและรถไฟจากไทย-มาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า อาจเชื่อมต่อไปยังอินเดียและจีนในอนาคต
แนะนำ"อักษรา"หัวหน้าคณะพูดคุย
มีรายงานว่าในการหารือทวิภาคีแบบเต็มคณะ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ นายนาจิบ ราซัค นั้น มีประเด็นเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไทยขอให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ต่อไป โดยข้อสรุปในเบื้องต้น คือ มาเลเซียพร้อมทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก โดยให้ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกเหมือนเดิม
ในขณะที่ฝ่ายไทยได้แจ้งว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก (ทบ.) จะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย แทน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยในรัฐบาลชุดที่แล้ว ในขณะที่หัวหน้าคณะพูดคุยในส่วนของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มบีอาร์เอ็น และกลุ่มอื่นๆ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในรายละเอียด
ยังไม่ถกกรอบพูดคุย-ย้ำปัญหาภายใน
อนึ่ง ก่อนหน้าออกเดินทางเยือนมาเลเซีย นายอนุสิษฐ์ คุณากร เลขาธิการ สมช. เปิดเผยว่า การเยือนมาเลเซียของนายกฯเที่ยวนี้ นอกจากเพื่อแนะนำตัวอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมหลังดำรงตำแหน่งนายกฯแล้ว ยังจะมีการแนะนำตัว พล.อ.อักษรา ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยด้วย แต่จะยังไม่มีการลงลึกในรายละเอียด เพราะทางมาเลเซียต้องไปพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มต่างๆ ก่อนที่จะมีการนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการกับฝ่ายไทยในลำดับต่อไป
"การเยือนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุย ส่วนกรอบการพูดคุยสันติสุขยังไม่มีการเปิดเผยหรือนำไปหารือในครั้งนี้ เพราะถือเป็นเรื่องภายในของไทย ไม่เกี่ยวกับว่าฝ่ายไหนจะพอใจหรือไม่ วันนี้มาเลเซียเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย แต่การดำเนินการเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย" เลขาธิการ สมช.ย้ำ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 การหารือทวิภาคีแบบ "เต็มคณะ" นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ กับ นายนาจิบ โดยในคณะฝ่ายไทยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล นั่งอยู่ด้วย
ขอบคุณ : ภาพจาก www.thaigov.go.th