รองรับสังคมสูงอายุ นักวิชาการ เสนอรัฐตั้งศูนย์ดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ
นักวิชาการแนะรัฐบาลพิจารณาความเป็นไปได้จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในลักษณะไปเช้าเย็นกลับ-ประชาสัมพันธ์ปลูกฝังทัศนคติในการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้สูงอายุใหม่
1 ธันวาคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดเวทีสกว. TRF FORUM เรื่อง "สู่สังคมผู้สูงวัย:สวัสดิการผู้สูงอายุเปรียบเทียบไทย-จีน" ณ ตึกเอสเอ็มทาวเวอร์ ชั้น 14 ห้องประชุม 1
ผศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยเรื่องการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ:บทเรียนจากประเทศจีน ว่า จากการศึกษาพบจุดอ่อนของระบบสวัสดิการผู้สูงอายุของจีนในปัจจุบัน คือ การที่ช่องทางของเงินทุนมีจำกัด ทำให้สภาพการรับ-จ่ายไม่สมดุลกันอย่างเห็นได้ชัด หนี้สินจากอดีตก่อนที่จะเข้าสู่การปฏิรูปมีจำนวนมากทำให้เงินออมไม่เพียงพอในกองทุน รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การเกษียณอายุที่ต่ำเกินไป คือ เพศชายจะเกษียณอายุที่ 60 ปี และเพศหญิงจะเกษียณอายุที่ 55 ปี ซึ่งการเกษียณอายุที่เร็วเกินไปนั้นส่งผลให้เกิดการขาดดุลระหว่างรายรับและรายจ่าย อีกทั้งการบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพต่ำ เนื่องจากใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ และมีการทุจริตคอร์รัปชัน
ผศ.ดร.ธีระ กล่าวว่า จีนได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาของระบบสวัสดิการผู้สูงอายุด้วยการขยายช่องทางที่มาของเงินทุนที่จะเข้ามาสู่กองทุน มีการเพิ่มเกณฑ์การเกษียณอายุโดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งผลวิจัยระบุว่า หากเพิ่มเกณฑ์การเกษียณไปอีก 5 ปีจะทำให้มีจำนวนผู้เกษียณอายุน้อยลง 10 ล้านคน และจะสามารถช่วยลดรายจ่ายในการดูแลผู้เกษียณอายุลงไปได้ถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้การเสริมประกันผู้สูงอายุแบบสะสมทรัพย์ให้มากขึ้นเพื่อให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญ แยกบัญชีสำหรับพนักงานแต่ละคนเพื่อให้มีการออมสำหรับการเกษียณอายุ อีกทั้งประเทศจีนยังมีการสร้างระบบการตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์และมีการทุจริตคอร์รัปชัน
“ที่สำคัญประเทศจีนมีการสร้างระบบสวัสดิการผู้สูงอายุให้ครอบคลุมแรงงานชาวนา ซึ่งนอกจากจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ยังจะช่วยลดระดับปัญหาของการดูแลผู้สูงอายุในชนบทอีกด้วย”
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการจัดรัฐสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุในไทยนั้น ดร.ธีระ กล่าวว่า เงินสมทบควรจะมีการพิจารณาเปิดเป็นทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น หากประชาชนมีความต้องการและการสมทบผู้ประกอบการควรมีสัดส่วนมากขึ้น ส่วนคนจนผู้สูงอายุควรจัดสวัสดิการเพิ่มเติม นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรจะเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลในยามแก่ชราในอนาคตอันใกล้
“อยากจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในลักษณะไปเช้าเย็นกลับในทุกชุมชนอย่างเป็นทางการ รวมถึงการบริการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุให้ทั่วถึงทุกหลังคาเรือน เพื่อให้บริการผู้สูงอายุที่มีความต้องการการดูแลทั้งในเรื่องร่างกาย จิตใจและสังคม เนื่องจากการตั้งศูนย์แบบไปเช้าเย็นกลับจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้ห่างบ้านไปไหน”
อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กล่าวอีกว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดการประชาสัมพันธ์ รวมถึงปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้สูงอายุรวมถึงต้องสนับสนุนให้ครอบครัวของผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุเพื่อเป็นการผลักดันบทบาทหน้าที่ของผู้สูงอายุให้รู้สึกว่า ชีวิตหลังเกษียณอายุแล้วยังมีความหมาย มีกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้บั้นปลายชีวิตมีความสุข