คปส.ออกโรงค้าน “พ.ร.บ.คลื่นฉบับ ท.ทหารฉุกเฉิน” ซัดวุฒิสภาขัดเจตนารมย์ปฏิรูปสื่อ
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อออกโรงค้าน พ.ร.บ.คลื่นฉบับ“ท.ทหารฉุกเฉิน”ที่ผ่านวุฒิสภา ระบุทำลายเจตนารมณ์ภาคประชาชนที่เรียกร้ององค์กรอิสระกำกับสื่อมากว่า 10 ปี เปิดโอกาสกองทัพแทรกแซงจัดสรรผลประโยชน์ให้ตนเองอีกครั้ง ชี้ปัจจุบันกลาโหมมี 201 สถานีวิทยุ เป็นเจ้าของทีวีช่อง 5 คุมช่อง 7 เรียกร้องร่างเดิมของสภาผู้แทนฯ และตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาพิจารณาใหม่
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ออกแถลงการณ์ค้านร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ "ฉบับ ท.ทหาร ฉุกเฉิน" โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญนัดพิเศษ วันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.53 เพื่อกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ….
และวุฒิสภามีมติผ่านร่างกฎหมาย โดยแก้ไขในหลักการสำคัญ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มองค์ประกอบในองค์กรอิสระให้กับฝ่ายความมั่นคง และกำหนดให้มีกรรมการมาจากฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนเปิดให้หน่วยงานความมั่นคงส่งตัวแทนเข้าคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการ และ 2.การกำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับฝ่ายความมั่นคงได้ใช้อย่างเพียงพอ
คปส.เห็นว่าการกลั่นกรองร่างกฎหมายของวุฒิสภาครั้งนี้ เป็นการทำลายหลักการสำคัญและเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อของภาคประชาชน ที่เรียกร้องให้มีองค์กรที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนกิจการโทรคมนาคมมากว่าสิบปี กล่าวคือเป็นการอาศัยสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่หน่วยงานความมั่นคงหรือกองทัพเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ และจัดสรรผลประโยชน์ให้กับตนเองอีกครั้งหนึ่ง
เพราะภายหลังที่กองทัพทำการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ผ่านร่างกฎหมายและบังคับใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีสาระสำคัญคือเปิดให้กองทัพสามารถแสวงหารายได้เชิงพาณิชย์จากการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ได้ต่อไปดังที่ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมา
วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตทรัพย์สินประชาชนไทย ส่วนหนึ่งสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการปฏิรูปสื่อ ส่งผลให้สังคมไทยขาดกลไกที่เป็นอิสระกำกับดูแลสื่อเป็นเวลายาวนาน อีกทั้งการที่หน่วยงานรัฐและทุนที่ครอบครองสื่อผูกขาดเดิมได้เข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.)จนไม่สามารถจัดตั้งองค์กรอิสระดังกล่าวได้เป็นระยะเวลากว่าสิบปี กระทั่งการรัฐประหารในปี 2549 มีผลล้มล้างรัฐธรรมนูญมาตรา 40 โดยแก้ไขเป็นมาตรา 47 สาระสำคัญที่เปลี่ยนไปคือกำหนดให้รวมสององค์กรกำกับดูแลเข้าด้วยกันเป็น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)จนนำมาสู่การร่างกฎหมายดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่ง คปส.สนับสนุนร่างฉบับสภาผู้แทนราษฎร แต่คัดค้านร่างที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาที่ได้แก้ไขสาระสำคัญอันขัดต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ
หากรัฐบาลยินยอมต่อข้อขัดแย้งในหลักการสำคัญที่วุฒิสภาแก้ไข ย่อมไม่ต่างจากปกป้องผลประโยชน์ให้กองทัพมีอำนาจครอบงำกิจการสื่อกระจายเสียง อีกทั้งตอกย้ำปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะปัจจุบันกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุมากถึง 201 สถานี สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และเป็นผู้ดูแลสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มายาวนาน ดังนั้นถ้าหน่วยงานจากฝ่ายทหารเข้ามาเป็นตัวแทนในองค์กรกำกับดูแลอิสระย่อมเป็นไปได้ยากมากที่จะปฏิรูปสื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แท้จริง
คปส. ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามตรวจสอบและผลักดันการปฏิรูปสื่อมากว่าหนึ่งทศวรรษ จึงมีข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชน และสาธารณชน ดังนี้
1.ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านการแก้ไขหลักการสำคัญโดยวุฒิสภาที่เปิดให้ตัวแทนกองทัพเข้ามาเป็น กสทช. และจัดสรรผลประโยชน์ล่วงหน้าให้หน่วยงานตน และขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งยึดมั่นเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ อันเป็นหลักการรองรับสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และการได้มาซึ่งองค์กรอิสระที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง
2.ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบการทำหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมายฉบับนี้ของวุฒิสภา และตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่างสองสภาขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้และมีส่วนร่วมตรวจสอบโดยตรง
3.ขอให้สื่อมวลชนและสาธารณชนติดตามการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิดและให้ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรสื่อสารของสาธารณะ.