ไขปริศนา "ประยุทธ์"สั่งระบายข้าวจำนำสต็อกรัฐ กระทบคดีสอบ"ยิ่งลักษณ์"หรือไม่
"..การขออนุมัติขายข้าวจำนวน 0.205 ล้านตัน ไม่มีผลกระทบต่อรูปคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากข้าวในสต็อกรัฐบาลไม่ใช่ของกลางในคดี ส่วนคดีแพ่ง ที่มีต่อผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวให้เป็นไปตามสัญญา.."
นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ หลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57
หนึ่งในประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจและติดตามข่าวสารกันมาตลอด ก็คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีแนวทางการบริหารจัดการข้าวในสต็อกรัฐบาล อันเป็นผลพ่วงสืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายเป็นจำนวนเงินนับแสนล้านบาทอย่างไรบ้าง
ขณะที่ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวออกมาว่ากระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบข้าวในสต็อกรัฐบาล มีการเปิดระบายข้าวอยู่เป็นระยะๆ
ทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาจำนวนมาก ว่า เรื่องนี้สามารถทำได้หรือไม่ และจะส่งผลอะไรต่อคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่หรือไม่
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณาแนวทางการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวนกว่า 17 ล้านตัน และอีกจำนวน 0.205 ล้านตัน ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งระบายไปก่อนหน้านี้
โดยหนังสือฉบับนี้ ระบุเนื้อหาสำคัญว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ย.57 ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานต่อที่ประชุม ว่า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบช.) ได้หารือคณะกรรมการ กฤษฎีาในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1. การอนุมัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการ นบช. ให้ขายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ที่ผ่านมา จำนวน 0.205 ล้านตัน จะมีผลกระทบทางกฎหมายอย่างไร หรือไม่
2.การจะขายข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ที่จำแนกเป็นข้าวที่ได้มาตรฐาน ข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ข้าวที่เสื่อมสภาพ และผิดชนิดข้าว จำนวน 17 ล้านตัน จะกระทำได้หรือไม่
3. การขายข้าวจะมีผลต่อการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในอนาคตหรือไม่
เบื้องต้นสรุปผลได้ดังนี้
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยแจ้งความเห็นให้กระทรวงพาณิชย์ทราบแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 ว่า การระบายสินค้าเกษตรแบบ G to G เป็นดุลยพินิจของกรมการค้าต่างประเทศ ดังนั้น การอนุมัติให้ขายข้าวดังกล่าวจึงสามารถดำเนินการได้
2. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.57 ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะให้ความสนใจเฉพาะเรื่องปริมาณของข้าวที่เหลืออยู่
ส่วนคุณภาพของข้าวจะยืดถือตามผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ
ดังนั้น ข้าวจำนวน 17 ล้านตัน สามารถระบายได้แต่ควรเก็บหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย และการตรวจดีเอ็นเอไว้ และการขายให้ยึดหลักสุจริต โปร่งใส รวมทั้งคำนึงกฎหมายว่าด้วยการสมยอมราคาด้วย
3. การขออนุมัติขายข้าวจำนวน 0.205 ล้านตัน ไม่มีผลกระทบต่อรูปคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากข้าวในสต็อกรัฐบาลไม่ใช่ของกลางในคดี ส่วนคดีแพ่ง ที่มีต่อผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวให้เป็นไปตามสัญญา
เบื้องต้น คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ลงมติรับตามที่นายวิษณุ รองนายกรัฐมนตรี รายงานต่อที่ประชุม ครม.
ทั้งนี้ คือ ความชัดเจนเกี่ยวกับ แนวทางการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ส่วนในขั้นตอนการดำเนินงาน จะสุจริต โปร่งใส ไม่มีปัญหาเรื่องการสมยอมราคากันตามที่ป.ป.ช.คาดหวังไว้หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป