เล่าเรื่อง 'พระราชพิธีโสกันต์' ในราชสำนักสยาม
“พระราชพิธีโสกันต์" (โกนจุก) เชื่อกันว่า ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู และถูกนำเข้ามาใช้ในราชสำนักไทย ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เพื่อแสดงถึงความรัก ความเอาใจใส่ และทะนุถนอมต่อเด็กของคนในอดีต มิใช่ปล่อยไปตามยถากรรม
คนโบราณเชื่อว่า บริเวณกระหม่อมของเด็กยังมีความบอบบางอยู่ ฉะนั้นจึงต้องเกล้าผมจุกไว้กลางกระหม่อม เพื่อป้องกันอันตรายและช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายหรือโรคภัยต่าง ๆ ออกจากตัวเด็ก กระทั่งอายุครบตามกำหนด คือ พระราชโอรสเจริญพระชันษา 13 ปี และพระราชธิดาเจริญพระชันษา 11 ปี จึงจะเข้าสู่พระราชพิธี
‘อาจารย์บุหลง ศรีกนก’ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และประเพณีในราชสำนัก อธิบายว่า การโกนจุกของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ หรือชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป จะใช้คำว่า พระราชพิธีโสกันต์ ส่วนเจ้านายระดับหม่อมเจ้าจะใช้ คำว่า ‘พิธีเกศากันต์’ และคนทั่วไปใช้ ‘พิธีโกนจุก’
ทั้งนี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีในราชสำนักฝ่ายในขึ้นตามแบบกรุงศรีอยุธยา เพื่อหวังมิให้สูญหาย
‘เจ้าฟ้าพินทวดี’ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับกรมหลวงพิพิธมนตรี จึงรับอาสาถ่ายทอดทั้งหมด เพราะเป็นเจ้านายเพียงไม่กี่พระองค์ที่มีพระชนมายุยืนยาวอีกสมัย
จึงรับสั่งว่า “จะทำอะไรก็ให้ถามฉันนะ จะได้บอกให้ว่าทำอย่างไร”
เมื่อมีการรื้อฟื้นพระราชพิธีทั้งหมด หนึ่งในนั้น คือ พระราชพิธีโสกันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีในราชสำนัก เล่าต่อว่า จัดขึ้นเป็นทางการครั้งแรกกับ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี’ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาทองสุก (พระราชธิดาในพระเจ้าอินทวงศ์ เวียงจันทร์)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พระราชพิธีดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นกับพระโอรสเเละพระธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพราะพระราชโอรสเเละพระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 ยังพระเยาว์นัก
“พระราชพิธีโสกันต์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นับเป็นงานหรูหรามาก เจ้านายทุกคนในราชสำนักจะตั้งตารอคอย ซึ่งหากมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา เจริญพระชันษาใกล้เคียงกันก็จะจัดพร้อมกันไป เพื่อไม่ให้สิ้นเปลือง”
(อาจารย์บุหลง ศรีกนก)
อาจารย์บุหลง อธิบายต่อว่า ในพระราชพิธีโสกันต์ ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ดำเนินไปด้วยดี โดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ในฐานะพระราชบิดา ฉลองพระองค์เป็นพระศิวะรับพระกรที่เขาไกรลาส (ที่ประทับพระศิวะ) เพื่อให้สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสระอโนดาต
แต่สำหรับ ‘เจ้าฟ้าจุฑามณี’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) กลับเป็นลมล้มพับคาเสลียงตั้งแต่วันแรก จากพระราชพิธีทั้งหมด 3 วัน ที่ต้องแห่กระบวนไปฟังเทศน์และพระราชพิธีสรงน้ำก่อน เพราะฉลองพระองค์ทรงเครื่องแบบโขนนั้นรัดแน่นเกินไป พระองค์จึงปฏิเสธ
ถึงกับรับสั่งว่า “ทำไมเอาคนธรรมดามาแต่งเป็นตุ๊กตาเล่น”
ก่อนจะเปลี่ยนมาฉลองพระองค์ธรรมดาแทน เพื่อเข้าสู่พระราชพิธีโสกันต์ จึงนับว่า ‘เจ้าฟ้าจุฑามณี’ ทรงมีหัวคิดก้าวหน้า และปฏิวัติพระองค์ตั้งแต่ยังพระเยาว์
ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีในราชสำนัก บอกต่อว่า เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงมีพระบรมราชโองการให้นำพระราชพิธีสงฆ์เข้ามาไว้ใน ‘พระราชพิธีโสกันต์’ ด้วย
ทั้งนี้ พระองค์ได้ฉลองพระองค์เป็นพระศิวะ เพื่อรับพระกร ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์’ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) ในฐานะพระราชโอรส เรียกว่าครั้งนั้น ได้จัดอย่างยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบตามโบราณราชประเพณี
(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา)
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลง ‘พระราชพิธีโสกันต์’ หลายประการที่ทรงเห็นว่าล้าสมัย โดยเฉพาะการยกเลิกสร้าง ‘เขาไกรลาส’ ชั่วคราว และให้สร้างถาวรขึ้นที่พระบรมมหาราชวัง เขตพระราชฐานชั้นใน เพราะการสร้างรื้อบ่อยครั้ง จะทำให้เกิดความสิ้นเปลือง
อาจารย์บุหลง ยังเล่าด้วยว่า เจ้านายพระองค์สุดท้ายที่เข้าสู่พระราชพิธีโสกันต์ คือ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา’พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
ถึงปัจจุบัน พระราชพิธีโสกันต์ในราชสำนักไทยไม่มีอีกแล้ว คงเหลือสืบทอดถึงปัจจุบันเพียง ‘พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่’ ซึ่งเป็นประเพณีการรับขวัญจนรัชกาลปัจจุบัน
และล่าสุด คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ นั่นเอง...