สัญญาณบวกก่อนนายกฯเยือนมาเลย์ คาด "พูดคุยสันติสุข" ดับไฟใต้ฉลุย
1 ธ.ค.57 นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่านอกจากข้อราชการสำคัญๆ และความร่วมมือต่างๆ ที่ผู้นำทั้งสองชาติจะหารือกันแล้ว ยังน่าจะเป็นการ "คิกออฟ" นับหนึ่งกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
กระบวนการพูดคุยยุติไปอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ปลายปี 56 หลังจากที่คณะของฝ่ายไทยที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ได้เปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เพียง 3 ครั้ง นับจากมีพิธีลงนามข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.56 ซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การพูดคุยหยุดชะงักลง คือปัญหาการเมืองภายในของประเทศไทยเอง
ขณะนี้เมื่อการเมืองเริ่มนิ่ง การพูดคุยรอบใหม่จึงสมควรเริ่มขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวคราวไม่ค่อยดีจนส่งผลให้เกิดอาการ "กระท่อนกระแท่น" มาเป็นระยะก็ตาม เช่น ข่าวมาเลเซียไม่ค่อยสบายใจกับชื่อหัวหน้าคณะพูดคุยที่เป็นนายทหารระดับสูงนอกราชการ กระทั่งต่อมามีข่าวการเปลี่ยนตัว หรือข่าวรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยบินไปอินโดนีเซีย และไปหารือกับ นายยูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดีที่เคยมีบทบาทจัดวงพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างมาแล้ว เป็นต้น
ทว่าจนถึงขณะนี้ทุกเรื่องที่คับข้องใจกันน่าจะจบลงด้วยดี...
และท่าทีของผู้นำทั้งสองฝ่ายก็ส่งสัญญาณเป็นบวกต่อกระบวนการพูดคุย
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ยังไม่ได้ลงนามแต่งตั้งทีมพูดคุยสันติสุข (แม้ สมช.จะเสนอขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว) โดยให้เหตุผลว่า "ต้องเดินทางไปหารือกับมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกก่อนว่าเห็นชอบร่วมกันอย่างไร ทางเราจะตั้งใคร เขาจะตั้งใคร หากเราเสนอไปแล้วฝ่ายเขาไม่เห็นด้วย ก็จะได้นำมาทบทวนกัน ทุกอย่างไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะต้องมีการพูดคุยกันก่อน ส่วนทางมาเลเซียเขามีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้สองฝ่ายมาเจอกันเท่านั้น ไม่ใช่คนกลางประสานพูดคุยแก้ปัญหา"
ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จัดว่า "เก๋า" พอตัว เพราะสอดรับกับการวิเคราะห์ของหน่วยงานความมั่นคงที่ว่า เรื่องการแต่งตั้งคณะพูดคุยไม่ควรดำเนินการจนเรียบร้อยก่อนนายกฯเดินทางเยือนมาเลเซีย เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าฝ่ายไทยจัดทำโครงสร้างเรียบร้อยแล้วไปเสนอให้มาเลเซียอนุมัติ ซึ่งไม่ถูกต้อง และเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับไทยเอง
สำหรับโครงสร้างคณะพูดคุยที่ สมช.ได้เสนอไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังไม่มีการลงนาม แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 คณะกรรมการระดับอำนวยการ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ สมช. เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ร่วมเป็นกรรมการ
นอกจากนั้นยังมีคณะที่ปรึกษาของคณะพูดคุย คาดว่ามี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษา
ระดับที่ 2 คณะกรรมการพูดคุยสันติสุข ประกอบด้วยประธานและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องราวๆ 10-12 คน ได้แก่ พล.อ.อักษรา เกิดผล ได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทน สมช. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทน กอ.รมน. ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทน สขช. ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 4 นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ
ระดับที่ 3 คณะกรรมการประสานงานในพื้นที่ มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
ทางด้านท่าทีของฝ่ายมาเลเซีย มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ได้เสนอรายงานปกขาวต่อรัฐสภา เป็นรายละเอียดของมาตรการที่จะต่อสู้และป้องกันการก่อการร้ายในประเทศ
นายอาห์หมัด ซาอิด ฮามิดิ รัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซีย ระบุว่า มาเลเซียตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง จากการที่กลุ่มเคลื่อนไหวในประเทศได้ร่วมมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางตอนใต้ของไทย ฟิลิปปินส์ และจากพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้เกิดความวิตกว่า ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในมาเลเซียจะเพิ่มสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งแล้ว เพราะการที่กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นกับต่างชาติสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทำให้มีการหาทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมก่อการร้ายได้จำนวนมาก
ทั้งนี้ รายงานปกขาวที่นายกฯนาจิบยื่นต่อรัฐสภานั้น เป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับภัยคุกคามอันแท้จริงที่กลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) และกลุ่มอื่นๆ ในภูมิภาคมีต่อมาเลเซีย
"เราจะทำทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ 7 ฉบับให้เข้มแข็งขึ้น ผ่านการแก้ไขมาตรการต่างๆ หรือเสนอให้มีการออกกฎหมายต่อต้านก่อการร้ายฉบับใหม่เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน" นายอาห์หมัด ระบุ พร้อมเสริมว่าความมั่นคงของประเทศตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม เพราะกลุ่มไอเอสทำการดัดแปลงคำสอนของศาสนาอิสลามเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มที่ต้องการใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย และก่อตั้งรัฐอิสลามขึ้นมา ทั้งยังไม่ลังเลที่จะสังหารทุกคนที่ไม่เห็นพ้องกับเป้าหมายของกลุ่ม แม้คนคนนั้นจะเป็นชาวมุสลิมเหมือนกันก็ตาม
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ระบุว่า มีชาวมาเลเซียราว 100 คนที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายก่อการร้ายต่างๆ รวมถึง 39 คนที่เชื่อว่าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มติดอาวุธในซีเรีย และอิรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กลุ่มไอเอส" โดยในจำนวนนี้มีอยู่ 5 คนที่เดินทางกลับมามาเลเซียและถูกจับกุมแล้ว ส่วนอีก 2 คนยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงไทย เผยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของมาเลเซีย ตลอดจนสถานการณ์การก่อการร้ายภายในประเทศ จะส่งผลให้ทางการมาเลเซียมีท่าทีดีขึ้นกับไทย โดยเฉพาะการช่วยเหลือไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ไอเอสมีเซลล์อยู่ในมาเลเซีย เพื่อจัดหาคนไปร่วมรบในซีเรีย เช่นเดียวกับในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ทุกประเทศเจอสภาพคล้ายมาเลเซีย คือมีเซลล์ทำหน้าที่จัดหาคนส่งไปซีเรีย ไม่ใช่ส่งเข้าไปในมาเลเซียหรือประเทศเหล่านั้น มีเพียงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเท่านั้นที่ยังไม่พบความเคลื่อนไหวลักษณะนี้"
"สถานการณ์ที่ทุกประเทศกังวลเหมือนกัน คือ กลุ่มคนเหล่านี้สามารถจะประสานความร่วมมือกัน ถ้าเมื่อใดไอเอสคิดจะขยายปฏิบัติการในภูมิภาคนี้ เครือข่ายที่มีในแต่ละประเทศอาจเชื่อมโยงถึงกันได้หมด"
"ฉะนั้นมาเลเซียน่าจะมีท่าทีดีขึ้นกับเรา เพราะภัยคุกคามของมาเลย์กลายเป็นเรื่องก่อการร้ายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากไทยมาก เพราะคนมาเลย์ที่ไปร่วมรบที่ซีเรียหรือกลับจากซีเรีย มักเดินทางผ่านประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทยด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกด้วยว่า กรณีขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของไทยที่พำนักอยู่ในมาเลเซียนั้น เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งมาเลเซียมองแยกส่วนกัน แต่หากคิดในแง่ร้าย กลุ่มเหล่านี้หันไปร่วมมือกับไอเอส จะส่งผลร้ายกับมาเลเซียมากขึ้น ฉะนั้นมาเลเซียจึงต้องร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขทั้งสองปัญหา และจะส่งผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย
นับเป็นสัญญาณดีๆ ก่อนคิกออฟพูดคุยสันติสุข!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ขวา) นายนาจิบ ราซัก
อ่านประกอบ :
เสนอ"คณะทำงาน10คน"พูดคุยดับไฟใต้ นายกฯเยือนมาเลย์1ธ.ค.คิกออฟสันติสุข
มาเลย์มองกลุ่มเคลื่อนไหวชายแดนใต้ของไทยเป็นหนึ่งในภัยคุกคาม
* กันยาภรณ์ เผือกวิสุทธิ์ เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ NOW TV26