ปราบโกงสะดุด ฉุดงานปฏิรูปรัฐบาล-คสช.?
"...ขนาดเข้มงวดกวดขันขนาดไหนก็ตาม ก็มีคนมุ่งจะโกง ไม่ว่าจะให้เงินเท่าไหร่ อย่างเช่นไปช่วยชาวนา ก็มีข่าวมาตลอด กำลังเช็คอยู่ ถ้าเจอก็ลงโทษสถานหนัก”
วาระแห่งชาติเร่งด่วนเรื่อง “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น” รวมทั้งการปฏิรูปประเทศไทยใน 1 ปี ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ล่าสุด “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยอมรับผ่านสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า “...ฝันอยากเห็นการปฏิรูปทุกองค์กรให้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่เกิดความขัดแย้ง หรือเกิดกระบวนการทุจริตผิดกฎหมาย หรือใช้อำนาจไปแสวงหาผลประโยชน์”
“แต่ขนาดเข้มงวดกวดขันขนาดไหนก็ตาม ก็มีคนมุ่งจะโกง ไม่ว่าจะให้เงินเท่าไหร่ อย่างเช่นไปช่วยชาวนา ก็มีข่าวมาตลอด กำลังเช็คอยู่ ถ้าเจอก็ลงโทษสถานหนัก”
นอกจากนี้ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี ยังออกมาประเมินการทำงาน 6 เดือน คสช.บนเวทีสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอประจำปี 2557 หัวข้อ “สนทนา 30 ปี ทีดีอาร์ไอ: สังคมเศรษฐกิจไทย:ความท้าทายและการปฏิรูป (24 พฤศจิกายน) โดยระบุว่า
“...มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้ทำมาแล้วสบายใจ แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอึดอัดใจ ผมชักเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่า ความพยายามที่จะดูแลปัญหาคอร์รัปชั่นจริงใจแค่ไหนและจะทำหรือเปล่า เพราะข่าวลือมันมากเหลือเกิน”
“ผมหวังว่าข่าวลือข้างนอก ทหารก็คงจะได้ยินบ้าง ผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อข่าวลือ แล้วก็ไม่ใช่เป็นคนฟังแล้วไปขยายต่อข่าว แต่เมื่อได้ยินมา ผมก็หวังว่าไม่ใช่”
“อานันท์” บอกว่า “...มีการพูดกันต่างๆนานว่ามีการตกลงกันนอกรอบ ผมไม่รู้ แต่ผมรู้สึกว่า ถ้ายังสนใจทำเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องแยกให้ถูก การปรองดองเรื่องหนึ่ง การปฏิรูปก็อีกเรื่องหนึ่ง”
“ปฏิรูปคือการพยายามแก้ปัญหาปัจจุบัน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่อนาคต แต่การปรองดอง เป็นเรื่องที่ยังค้างอยู่ในอดีต คงจะต้องดูต่อไปว่า ที่ผ่านมาทำไมไม่มีความปรองดอง ต้องจับประเด็นให้ถูกว่า ความไม่ปรองดองเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นจากตัวบุคคลหรือเปล่า”
“อดีตนายกฯ" ยังชี้ว่า “ ปัญหาความไม่ปรองดองส่วนหนึ่งเกิดจากตัวบุคคล แต่ผมไม่คิดว่าปรองดองระหว่างบุคคลแล้ว เมืองไทยจะมีความปรองดองได้ ผมไม่คิดว่าปรองดองกับการประสานผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว จะนำไปสู่ความปรองดองที่ถาวรได้”
ก่อนหน้านี้ ภาพลักษณ์รัฐบาลเรื่องการปราบโกง สะดุดมารอบหนึ่งแล้วจากกรณี “ไมค์โครโฟน” ในห้องประชุมครม. 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบฯ ร้อนถึงคนในรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง ต้องออกมาชี้แจงเป็นพัลวัน
แม้ผลสอบ “ไมค์แพง” ของคณะกรรมการติดตามเเละตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ระบุว่า ไม่ถึงขั้นทุจริต เพียงเเค่ยอดวงเงินไม่สูงมากนัก และมีส่วนต่างเยอะมาก แต่นับเป็นผลสอบที่ค้านสายตาสังคมจำนวนมาก
ขณะที่ไม่นานมานี้ “วิชัย อัศรัสกร” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ออกมาเผยว่า การต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยังพบว่ามีการทุจริตอยู่ 30–50%
“ขณะนี้ประชาชนเปลี่ยน แต่กลไกภาครัฐยังไม่เปลี่ยน นายกรัฐมนตรีทุกคนจะมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายแรก แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเดิม จึงขจัดทุจริตไม่ได้ เดิมพูดกันว่าจ่ายให้นักการเมือง 30% ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ไม่มีนักการเมือง ต้นทุนก็น่าจะลดลงสัก 30% แต่ผู้ประกอบการพูดกันว่ามันไม่ได้ลดลงเลย แต่ระมัดระวังมากขึ้น”
ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อ 12 กันยายน ว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ระบุว่า
ในระยะแรก กระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริหารสาธารณะได้รวดเร็ว ทั้งจะวางมาตรการทางกฎหมาย มิให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยง ประวิงเวลา หรือใช้อำนาจโดยมิชอบก่อให้เกิดการทุจริต หรือสร้างความเสียหายแก่ประชาชนโดยเฉพาะนักลงทุน
ในระยะเฉพาะหน้า จะเน้นการปรับปรุงหน่วยงานให้บริการด้านการทำธุรกิจ การลงทุน และด้านบริการสาธารณะในชีวิตประจำวันเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ยังเสริมสร้างระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้ายบุคลากรภาครัฐ วางมาตรการป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมือง และส่งเสริมให้มีการนำระบบพิทักษ์คุณธรรมมาใช้ในการบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ
ทว่า การป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะในระยะแรก ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก หนำซ้ำยังฉุดการทำงานเรื่องปฏิรูปของรัฐบาลและคสช.ไม่ใช่น้อย
ขอบคุณภาพจาก:คลังภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ