ใบลาออก กก.อัคราไมนิ่ง"จักรมณฑ์"ก่อนนั่ง รมต.-ปั้นแผนสร้างเหมืองปลายปี 57
ย้อนรอยเส้นทาง"จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช"ก่อนประกาศดันแผนอนุมัติสร้างเหมืองปลายปี 57 พบเคยนั่งกก.บริษัททำธุรกิจเหมืองก่อนยื่นลาออกเตรียมตัวนั่งเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม13 วัน ระบุเนื้อหาสำคัญมีภารกิจในภาครัฐ เป็นเกียรติที่เคยได้ทำงานใกล้ชิดกับ คกก.-ผู้บริหาร
ไม่ว่าการออกมาประกาศผลักดันแผนอนุมัติสร้างเหมืองแร่โปแตช ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปลายปี 2557 ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เป็นแห่งแรก ของนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่
แต่มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่น่าสนใจ และสังคมไม่ควรมองข้าม คือ สถานะของนายจักรมณฑ์ ในฐานะกรรมการบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจเหมืองแร่แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะลาออกและเข้ามารับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ในช่วงระยะเวลาแค่ 12 วัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย.57 (ป.ป.ช.รับจริงเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2557)
นายจักรมณฑ์ ระบุในแบบฟอร์มแสดงรายการทรัพย์สิน เกี่ยวกับประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี ในตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้ารับตำแหน้ง รมว.อุตสาหกรรม คือ
"กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)"
ระบุ ช่วงระยะเวลาในการทำงานตั้งแต่ปี 2556-2557
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีชื่อเดิมว่า บริษัท อัครา ไมนิ่ง ก่อนจะจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และใช้ชื่อ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556
มีทุนปัจจุบัน 590 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 92/54-55 อาคารสาธรธานี 2 ชั้น 19 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจการทำเหมืองแร่ รวมทั้งการระเบิดและย่อยหิน สกัด แยก แปรสภาพ ถลุง แต่ง สำรวจ หาตัวอย่าง ปรากฎรายชื่อ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล , นาย รอส โดนัลด์ สมิธ-เคิร์ก , นาย มาริษ สมารัมภ์ , นาย ประจวบ ตรีนิกร , นาย เครก อลัน คาร์เรคเฮอร์ , นาย ปีเตอร์ วิลเลี่ยม วอร์เรน ,นาย รอส อเล็กซานเดอร์ คอยล์ , นาย ปกรณ์ สุขุม และนาย ไมเคิล แพทริค โมนากาน เป็นกรรมการ บริษัท คิงสเกท แคปปิตอล จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ได้ทำหนังสือแจ้งการลาออก ต่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
ระบุว่า ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้าขอลาออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการและกรรมการตรวจสอบของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ("อัครา") โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไป เนื่องจากมีภารกิจในภาครัฐ นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการและผู้บริหารของอัครา
เรียนมาด้วยความนับถือ
ลงชื่อ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช
หากนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ หนังสือลาออกของนายจักรมณฑ์ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ เข้ารับตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม วันที่ 4 ก.ย.2557 จะมีระยะเวลาห่างกัน 13 วัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2557 หลังเข้ารับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ผ่านไปประมาณ 3 เดือนเศษ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาประกาศว่าจะผลักดันแผนอนุมัติสร้างเหมืองแร่โปแตชให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปลายปี 2557 ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เป็นแห่งแรก โดยบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะให้กระทรวงการคลังเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน 20% และคาดว่าจะออกประทานบัตรเพื่อให้เอกชนเริ่มลงทุนได้ในปี 2558
"หากปี 2558 มีการให้ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซ การลงทุนจะเริ่มเข้าประเทศ และจะสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเข้าซื้อหุ้นในบริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัดร้อยละ 20% ซึ่งการซื้อหุ้นของกระทรวงการคลังดังกล่าวจะส่งผลให้ไทยกลายเป็นแหล่งผลิตโปแตซที่ดีที่สุดในอาเซียน อีกทั้งมีการจ้างงานในประเทศอีกจำนวนมาก โดยพื้นที่แรกที่คาดว่าเริ่มทำคือ จังหวัดชัยภูมิ"
“การทำเหมืองแร่โปแตซสามารถลดนำเข้าโปรแตซจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทุนขนาดใหญ่ หากทุกอย่างเป็นไปตามคาด ไทยได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการลงทุนและประหยัดการนำเข้าโปแตซ เพราะราคาของแร่ขณะนี้สูงหากสามารถผลิตได้จะทำให้แร่ถูกลง อีกทั้งยังสามารถส่งไปขายในต่างประเทศได้อีกด้วย” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวและว่า คาดว่าไม่เกินภายในปีนี้จะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา"
เมื่อถามถึงกระแสต่อต้านกังวลหรือไม่นั้น นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า การที่ได้ไปศึกษาดูงานที่เยอรมันเห็นว่า ไม่มีปัญหาอะไร มีทั้งโบสถ์และลำธารอยู่ใกล้ที่ตั้งเหมืองแร่ ส่วนที่กังวลในด้านของภูมิอากาศที่ไทยไม่เหมือนกับเยอรมันนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะจะนำโปแตซที่ออกมาไปฝังกลบ
"ในเยอรมันไม่มีการนำไปฝังกลบ เนื่องจากแร่ที่ออกมานั้นไม่มีแร่ที่เป็นสารพิษแต่อย่างใด มีเพียงเกลือเป็นส่วนประกอบ แต่ในไทยจะมีการฝังกลบซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูง ซึ่งทำเพื่อไม่ให้ปัญหาต่างๆตามมาที่หลัง"
ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า หากในจังหวัดชัยภูมิสำเร็จ จะขยายไปที่จังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่ที่สองต่อไป