คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ....
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ ให้ ยธ. ไปดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอจัดตั้ง การดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2557 ข้อ 8 และให้แจ้งผลการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มี “กองทุนยุติธรรม” มีวัตถุประสงค์เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม การประกันตัวบุคคล การช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา การช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
2. กำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สิน เงินทุนประเดิมที่รัฐจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลหรือเงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินสมทบประเภทค่าธรรมเนียมศาล ที่ได้รับการจัดสรรประจำปี เงินสมทบประเภทเงินและทรัพย์สินที่ได้จากการบังคับหลักประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาที่หลบหนีการปล่อยชั่วคราวที่ได้รับการจัดสรรประจำปี เงินสมทบประเภทค่าปรับในคดีอาญาที่ได้รับการจัดสรร เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับช่วงสิทธิเพื่อไล่เบี้ยกับผู้กระทำความผิดอาญาหรือผู้ก่อให้เกิดความเสียหายที่แท้จริง เป็นต้น และให้เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม ประกันตัวบุคคล สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน สนับสนุนการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เป็นต้น
3. กำหนดให้จัดตั้ง “สำนักงานกองทุนยุติธรรม” ขึ้นใน ยธ. โดยให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับงานธุรการให้แก่คณะกรรมการ คณะกรรมการอิสระ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการอิสระแต่งตั้ง และรับคำขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม คำขอรับการช่วยเหลือการประกันตัวบุคคล คำขอรับการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา คำขอรับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และคำขอรับการสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และ คำอุทธรณ์ เป็นต้น
4. กำหนดให้มี “คณะกรรมการกองทุนยุติธรรม” มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และแนวทางดำเนินงานของกองทุน
5. กำหนดให้คณะกรรมการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือ” อย่างน้อยหนึ่งคณะให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ยื่นคำขอในทุกภารกิจของกองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยคำนึงถึงความรวดเร็วและประสิทธิภาพของการช่วยเหลือประชาชนเป็นสำคัญ
6. ให้คณะกรรมการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการประจำจังหวัด” ขึ้นทุกจังหวัดเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมเฉพาะกรณีการให้ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม การประกันตัวบุคคล และการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา
7. กำหนดให้ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมอาจยื่นคำขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการในการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีอื่นใด โดยยื่นคำขอที่สำนักงานหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด
8. ผู้ต้องหา จำเลยในคดีอาญาหรือบุคคลที่ถูกคุมขังตามกฎหมายอาจยื่นคำขอรับการประกันตัวบุคคลโดยยื่นคำขอที่สำนักงานหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด
9. ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญาและผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจยื่นคำขอรับความช่วยเหลือโดยยื่นคำขอที่สำนักงานหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด
10. กำหนดให้คณะกรรมการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการอุทธรณ์” อย่างน้อยหนึ่งคณะให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คำขอรับค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรมคำขอรับการประกันตัว คำขอรับความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา คำขอรับความช่วยเหลือจากบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และคำขอรับการสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
11. กำหนดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุน
12. กำหนดบทเฉพาะกาลให้โอนบรรดาเงินงบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้สินของกองทุนยุติธรรมในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 ไปเป็นของกองทุนยุติธรรมตามพระราชบัญญัตินี้