ฟื้นทรัพยากรชายฝั่งทะเลไทย หยุด! ประมงแบบทำลายล้าง
“ในรอบกว่า 50 ปีที่ผ่านมา กรมประมงเคยเก็บสถิติการทำประมงแบบ อวนลาก พบว่า ในอดีตการใช้อวนลาก 1 ชั่วโมงจะจับสัตว์น้ำได้กว่า 300 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันนี้ ด้วยเวลาและเครื่องมือเท่ากัน สัตว์น้ำกลับเหลือให้จับเพียง 2 ถึง 7 กิโลกรัมเท่านั้น”
นี่เป็นเสียงสะท้อนจาก วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ที่ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตการทำประมงของไทยในปัจจุบัน
แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นแหล่งทำประมงสำคัญในภูมิภาคนี้ จากลักษณะทางกายภาพที่ทั้ง 2 ฝั่งตะวันออก และตะวันตก ติดทะเล รวมถึงพื้นที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงกลายเป็นแหล่งสัตว์น้ำชั้นดี
แต่อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่เริ่มขยายตัว ในรอบหลาย 10 ปีมานี้ มีการส่งเสริมการจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น นำไปสู่สาเหตุให้เกิดความเสื่อมโทรมของท้องทะเล โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมในการทำประมง เช่น อวนลาก, อวนรุน, อวนตาถี่ จนส่งผลกระทบต่อการทำประมงขนาดเล็ก หรือ ประมงพื้นบ้าน
เรืออวนรุน
“ตอนนี้เรียกได้ว่า ประมงขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการใช้เครื่องมือทำประมงที่ไม่เหมาะสมของอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ อวนรุน อวนลาก นำพาสัตว์ตัวเล็ก ตัวน้อยให้ถูกจับ แนวปะการัง ที่อยู่อาศัยของสัตว์ก็ถูกทำลาย หากดูที่อัตราการส่งออกสัตว์น้ำ อาจไม่เห็นผลกระทบมากนัก เพราะยังส่งออกได้ต่อเนื่อง แต่นั่นเป็นการจับสัตว์น้ำจากน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งความจริงคือน่านน้ำไทยไม่เหลือสัตว์น้ำให้จับแล้ว” วิโชคศักดิ์ สะท้อนผลกระทบ
ไม่ต่างไปจากเสียงสะท้อนของ อะเหร็น พระคง ชาวประมงพื้นบ้านพื้นที่เกาะมุก จ.ตรัง ที่เห็นว่า นอกจากการใช้อวนรุน อวนลาก ของอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ จะทำให้สัตว์น้ำลดลงแล้ว ปัจจัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาเมือง พัฒนาเขตอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ยังส่งผลกระทบต่อชาวประมงชายฝั่งเช่นกัน
"เมื่อเรืออวนรุน อวนลากเข้ามาในพื้นที่ก็แทบหาปลาได้ยากอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอช่วงมรสุมที่ออกทะเลไม่ได้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เรียกได้ว่า ออกทะเลครั้งหนึ่งยอดจับสัตว์น้ำหายไปกว่าครึ่ง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ภาครัฐไม่กวดขันการทำประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ประมงพื้นบ้านก็แทบไม่ต้องทำมาหากิน ทั้งๆ ที่ทรัพยากรทางทะเลเป็นของส่วนรวม การทำประมงที่มีจิตสำนึกจึงต้องแบ่งปันให้กับผู้อื่นด้วย" อะเหร็น ขยายสภาพปัญหา
ส่วนวิธีการที่จะช่วยให้ประมงพื้นบ้านอยู่รอดนั้น ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง คนนี้ บอกได้เพียงต้องร่วมมือกันจัดการด้วยตัวเอง เพราะหากจะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐอาจไม่ทันเวลา ดังนั้นชาวประมงพื้นบ้านต้องรวมกลุ่มกันหาแนวทางปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
ในส่วนของผู้บริโภคส่วนใหญ่นั้นอาจมองปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงแล้วมีผลต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอันใกล้นี้
ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ จึงตั้งความหวังว่า หากสามารถสร้างความตระหนักให้กับสังคม ส่งเสียงไปถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงให้ทำประมงอย่างรับผิดชอบ อาจมีโอกาสที่จะเห็นทะเลไทยกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
“สัตว์ทะเลแม้เสียหาย และลดจำนวนไปเยอะ แต่ก็ฟื้นตัวได้เร็วเช่นกัน หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า กุ้ง หอย ปู ปลา จะมีตัวอ่อนจำนวนมาก ซึ่งเพียงพอต่อการทดแทนการขาดหายไปในแต่ละรุ่น นั่นหมายความว่า เพียงแค่ชาวประมงช่วยกันดูแล เพิ่มความรับผิดชอบ ปล่อยให้สัตว์น้ำได้ฟักตัว ฟื้นตัว ทะเลไทยจะฟื้นคืนสภาพกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ภายในเวลาเพียง 1 ปี” วิโชคศักดิ์ เสนอแนวทาง
แน่นอนว่า สภาพปัญหาจากการทำประมง จนส่งผลต่อสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลง ผู้บริโภคจึงถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเมื่อต้นทุนการทำประมงสูงขึ้น สวนทางกับสัตว์น้ำที่เหลือน้อย สัตว์น้ำสดๆ หายากขึ้น ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงต่อการบริโภคสัตว์น้ำที่อันตรายจากการใช้สารเคมี อย่างสารฟอกขาว สารฟอร์มารีน เพื่อคงสภาพให้สัตว์ทะเลที่จะนำมาบริโภคดูสดอยู่ตลอดเวลา
จนอาจเรียกได้ว่า ได้ของราคาแพง และเสียสุขภาพไปพร้อมกัน
"จักรชัย โฉมทองดี" ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า การทำประมงแบบทำลายล้างในปัจจุบันเป็นปัญหาใหัท้องทะเลไทยวิกฤต ทั้งจากปัจจัยการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่คำนึงถึงสภาพนิเวศน์ทางทะเล ปัญหาการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคทั้งสิ้น
แม้แนวทางสร้างความตระหนักในเรื่องจิตสำนึกรับผิดชอบต่อทรัพยากรทางทะเล อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดผู้บริโภค และผู้ประกอบการประมงได้ภายในเร็ววัน แต่อย่างน้อยสิ่งที่ ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมฯ อยากเห็น คือการสร้างเครือข่ายผู้บริโภค และรณรงค์ผ่านจิตสำนึกของคนในสังคม ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกอาหารทะเลที่ปลอดภัย
“การสนับสนุนการทำประมงอย่างมีจิตสำนึก เปรียบได้กับการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพราะเมื่อใดที่ผู้บริโภคโหวตให้ผู้ผลิตที่รับผิดชอบ พวกเขาก็จะอยู่ได้ และจะกลายเป็นกระแสสังคมที่ทำให้ผู้คนต่างเอาใจใส่กับอาหารการกินอาหารทะเลที่มีคุณภาพมากขึ้น เท่ากับเป็นการสร้างจิตสำนึกผ่านการบริโภค ซึ่งความสุขจากการบริโภคของดีมีคุณภาพ ก็จะดีขึ้นไปพร้อมกับทะเลไทยนั่นเอง” จักรชัย ฝากทิ้งท้าย