คสช. ห่วงโรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยสารปนเปื้อน ตั้งคณะทำงานประเมินผลกระทบสุขภาพ
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ห่วงชาวบ้านได้รับผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน-ท่าเทียบเรือขนถ่านหินในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ๓ แห่ง ของ กฟผ. ตั้งคณะทำงานประเมิน HIA ก่อนเดินหน้าโครงการ
เมื่อวันที่ ๒๑ พ.ย. ๕๗ การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ ๔/๒๕๕๗ ที่มี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสานใจ ๑ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานที่ประชุม กล่าวว่า “คสช. ได้รับทราบด้วยความห่วงใยถึงสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน ๓ แห่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่กำลังจะดำเนินงานในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย ๑.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ๒.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหิน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และ ๓.โครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่ง คสช. มีหน้าที่ดูแลประชาชนให้ได้ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ตามสิทธิใน พ.ร.บ.สุขภาพ โดยใช้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) มาดำเนินงาน บนหลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”
ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขยายกำลังการผลิตพลังงานใน ๓ พื้นที่ ได้แก่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา, ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อาทิ เครือข่ายคนเทพาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน, อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ได้ทำหนังสือถึง คสช. เพื่อขอให้มีมติให้โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหินเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ด้วยกังวลว่า ถึงแม้ทั้ง ๓ โครงการจะใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ที่นำเข้าถ่านหินมีคุณภาพมาจากอินโดนีเซีย แต่เทคโนโลยีที่ใช้ก็อาจบำบัดสารที่จะปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าไม่หมด ทั้งยังก่อให้เกิดขยะปนเปื้อนสารในรูปยิปซัมจำนวนมาก มีการสูบน้ำทะเลเพื่อใช้ในการหล่อเย็นและปล่อยน้ำที่มีอุณหภูมิสูง มีการปนเปื้อนสารเคมีในปริมาณมากลงสู่ทะเล อีกทั้งเส้นทางเดินเรือและเส้นทางลำเลียงถ่านหินยังสร้างผลกระทบต่อชาวประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า คสช. ได้รับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๑๗ พ.ย. ๒๕๕๗ และเห็นชอบแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามพ.ร.บ.สุขภาพ โดยได้มติให้แต่งตั้ง “คณะทำงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหินในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้”
“แนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นนี้ ต้องอยู่บนหลักการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง วันนี้มีกรรมการสุขภาพจากภาคประชาชนหลายคนที่เคยเข้าร่วมกระบวนการของบริษัทที่ปรึกษา ที่ กฟผ. จ้างมาทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วยตนเอง สะท้อนว่าประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการประเมินผลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เวทีรับฟังความเห็นไม่มีการให้ข้อมูลล่วงหน้า และข้อมูลก็ไม่เพียงพอ คณะทำงานฯ ที่ตั้งขึ้นจึงควรไปช่วยสนับสนุนให้ กฟผ. และประชาชนทำงานและเรียนรู้ด้วยกันอย่างแท้จริง และส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนเข้าร่วมในการดำเนินงานประเมินผลกระทบด้วย”
คณะทำงานฯ ชุดนี้ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธานคณะทำงาน มีองค์ประกอบไม่เกิน ๒๐ คน จากผู้แทนประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ โดยให้มีหน้าที่สร้างความรู้และความเข้าใจในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ร่วมกับ กฟผ. และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหินทั้ง ๓ โครงการ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอทางเลือกเพื่อการตัดสินใจที่จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการฯ และจัดทำข้อเสนอเพื่อประกอบการดำเนินการ ติดตาม และประเมินผลกระทบด้านสุขภาพต่อไป