รู้จัก "ศพฐ.10" ลุยใช้ "นิติวิทย์" คืนความสุขชายแดนใต้
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาตลอด 1 ทศวรรษ มิอาจสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นั้น ประการหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
เพราะเมื่อมีคดีความมั่นคงเกิดขึ้น ซึ่งร้อยทั้งร้อยเป็นเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ หลายกรณีกลายเป็น "คดีคาใจ" ที่ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อเหตุเองหรือไม่
ขณะที่ฝ่ายรัฐก็ไม่มีเครื่องมือในการพิสูจน์ที่ดีพอ หลายครั้งแม้จับกุมตัวผู้กระทำผิดได้ แต่ก็มิอาจพิสูจน์ในชั้นศาลให้ศาลลงโทษได้ กลายเป็นคนผิดลอยนวล คนทำชั่วไม่เกรงกลัวกฎหมาย
เมื่อไปผนวกเข้ากับโครงสร้างอันซับซ้อนและฝังรากลึกของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมซึ่งดูธรรมดาๆ เหล่านี้ ได้ถูกนำไปขยายสร้างความเกลียดชัง และสร้างแนวร่วมต่อต้านรัฐมากขึ้น
หัวใจของการดับไฟใต้ในทศวรรษที่ 2 จึงชัดเจนว่ามีอยู่ 2 ประการที่สำคัญ คือ
1.สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนให้ร่วมกันปกป้องท้องถิ่นของตนเองให้ดีที่สุด ตัวอย่างคือ การก่อเกิดของ "ทุ่งยางแดงโมเดล"
2.ใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการคลี่คลายคดีอาญา สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และนำคนผิดที่ "ถูกตัว" เข้ารับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย
ที่ผ่านมาการพัฒนาเรื่อง "นิติวิทยาศาสตร์" ในพื้นที่ชายแดนใต้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ติดขัดทั้งงบประมาณ จำนวนบุคลากร และความเสี่ยงอันตราย แต่วันนี้ทุกฝ่ายได้ก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาไปเกือบหมดสิ้นแล้ว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิด ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 จ.ยะลา หรือ ศพฐ.10 ขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบงานพิสูจน์หลักฐานและนิติวิทยาศาสตร์โดยตรงใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) โดยมี พล.ต.ต.ปรีดี พงศ์เศรษฐสันต์ เป็น ผบก.ศพฐ.10
วันนี้ ศพฐ.10 เป็นต้นทางของการสร้างระบบเชื่อมโยงการพิสูจน์หลักฐานให้เป็นไปตามหลักสากล และใช้ระบบที่เข้มข้นในทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้แนวคิดที่ว่า "การทำงานที่ล่าช้า คือความตายและความเจ็บปวดของประชาชน"
พล.ต.ต.ปรีดี เล่าถึงการทำงานว่า ได้มีการนำกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ตรวจสอบวัตถุพยาน เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดในคดีความมั่นคงและในคดีทั่วไปมากขึ้น พิจารณาจากสถิติในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าศาลพิพากษายกฟ้องผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงเยอะมาก เพราะขาดการเก็บพยานหลักฐานและเชื่อมโยงข้อมูลที่ดี
ต่อมาเมื่อนำกระบวนการตรวจพิสูจน์หลักฐานโดยใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยอย่างเต็มระบบ โดยจัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงอาวุธปืนและบุคคลต่างๆ ปัจจุบันสถิติการยกฟ้องน้อยลงมาก และกระบวนการยุติธรรมสามารถนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไปใช้เป็นประโยชน์มากขึ้น โดยการรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า FIDS ซึ่งเป็นระบบที่่ พล.ต.ต.ปรีดี อธิบายว่า เป็นการทำงานด้านตรวจพิสูจน์หลักฐานเชิงรุก
"2 ปีที่ผมลงมาทำงานที่นี่ ได้ปรับปรุงการทำงานใหม่ ยกเลิกระเบียบการตรวจหลักฐาน 30 วันที่เป็นระบบเก่าและล้าหลัง ซึ่งถ้าทำแบบนั้นเป็นงานสบาย แต่ไม่ใช่กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นี่การทำงานทุกอย่างต้องเร็ว ฉะนั้นงานจะมาแบบปกติไม่ได้ ที่ต้องเร็ว เพราะคุณต้องสู้ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในสนามก็ต้องเสี่ยงด้วย ข้อมูลต้องส่งกันเร็ว"
เขาแจกแจงต่อว่า ศพฐ.10 จะมีฐานข้อมูลอยู่ 4 ด้าน โดย 2 ด้านแรกเรียกว่า "เชื่อมโยงเหตุการณ์" ได้แก่ ฐานข้อมูลด้านอาวุธปืน กับ ร่องรอยเครื่องมือ กับอีก 2 ฐานข้อมูลที่เรียกว่า "เชื่อมโยงและชี้เป้า" คือ ฐานข้อมูลลายนิ้วมือและดีเอ็นเอ
ตัวลายนิ้วมือ 11 ล้านข้อมูลนั้น เป็นฐานข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอาชญากร และเป็นฐานข้อมูลกลางของตำรวจ แต่ที่ชายแดนใต้เรามีการแยกฐานข้อมูลให้เป็นรายละเอียดเชิงลึก คือเป็น "ฐานข้อมูลท้องถิ่น" มีการเก็บข้อมูลฝ่ามือ สันมือ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพราะในการก่อเหตุหลายครั้งเราไม่ได้ตัวลายนิ้วมือโดยตรง แต่เป็นส่วนอื่นๆ ของมือทั้งหมด ข้อมูลตรงนี้จัดเก็บได้ 3 หมื่นกว่ารายแล้ว
ในส่วนงานฐานข้อมูลดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ตัวบุคคล เรามีฐานข้อมูลส่วนนี้มากพอสมควร อยู่ที่ว่าหลักฐานจากที่เกิดเหตุสามารถเก็บอะไรมาได้บ้าง
"เมื่อเรามีฐานข้อมูลแล้ว จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีความเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเคยก่อเหตุเมื่อปีไหน วันไหน ทำให้ต้องมีการสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นการย้อนกลับไปในอดีต และทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถย้อนไปในอดีตได้ เพื่อจะได้เห็นว่าปืนกระบอกนี้เคยก่อเหตุมามากมาย และมันจะเชื่อมโยงไปยังลายนิ้วมือ และดีเอ็นเอ" พล.ต.ต.ปรีดี ระบุ
สำหรับสถิติตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ที่เก็บรวบรวมโดย ศพฐ.10 พบว่า ในส่วนฐานข้อมูลอาวุธปืน เก็บข้อมูลเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ทั้งสิ้น 23,000 กระบอก ทำให้ทราบว่าตลอด 10 ปีมานี้ มีอาวุธปืนใช้ก่อเหตุในพื้นที่จริงๆ ในส่วนของคดีความมั่นคง 6,000 กว่ากระบอก และมีการนำมาใช้ก่อเหตุซ้ำในพื้นที่ 890 กระบอก
"ประโยชน์ของฐานข้อมูลอาวุธปืน คือ การเชื่อมโยงคดี เช่น วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเหตุคนร้ายยิงชาวบ้านที่ อ.เทพา จ.สงขลา ฐานข้อมูลตรวจสอบหลักฐานในที่เกิดเหตุ พบปืนที่คนร้ายใช้เป็นเอ็ม 16 สองกระบอก หนึ่งใน 2 เป็นอาวุธเคยใช้ก่อเหตุที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หรือกรณียิงนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ในวันถัดมา (2 พ.ย.) เป็นปืนพกขนาด 9 มม.ที่เคยใช้ก่อเหตุในปี 55 จำนวน 3 คดี"
"เมื่อหลักฐานจากที่เกิดเหตุมาถึงเรา 2-3 ชั่วโมง ก็สามารถรู้เบาะแสต่างๆ ได้ทันที ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงหน่วยอื่นก็สามารถทำงานได้เร็วขึ้น" พล.ต.ต.ปรีดี ระบุ
และว่า ในส่วนของคดีความมั่นคงมีทั้งสิ้นราว 7,500 คดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่นำมาจากงานวิจัยของอัยการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฏหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งพบว่าในช่วง 8 ปีแรกของสถานการณ์ไฟใต้ (นับจากปี 2547) นั้น มีสำนวนคดีไปถึงศาลฎีกาเพียง 98 คดี คำถามคือทำไมจึงมีน้อย ทำไมประสิทธิภาพจึงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ผลการศึกษาออกมาแล้วพบว่ามี 3 สาเหตุหลัก คือ 1.ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม 2.เรื่องพยานบุคคล และ 3.เรื่องพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์
"สุดท้ายศาลก็ยกฟ้องบ่อยๆ ด้วยเหตุผลคือพยานหลักฐานไม่ชัดเจนที่จะชี้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด ซึ่งมาจากปัญหาการพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุที่ขาดความสมบูรณ์ แต่เรื่องเหล่านี้แก้ไขได้แล้วเมื่อใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และเรามีความพร้อมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาคดีต่างๆ ถูกยกฟ้องทั้งๆ ที่ไม่สมควร และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชน"
เปิดโครงสร้าง ศพฐ.10 2 ภารกิจ 6 กลุ่มงาน
ศพฐ.10 เป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน่วยปฏิบัติงานกระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในความรับผิดชอบของ ศพฐ.10
ศพฐ.10 ตั้งอยู่ที่ อ .เมือง จ.ยะลา มีหน่วยงานในสังกัด 2 หน่วยงาน คือ พิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) จังหวัดปัตตานี และ พฐ.จังหวัดนราธิวาส
หน้างานใหญ่ๆ ของ ศพฐ.10 มีอยู่ 2 ส่วน คือ
1.การตรวจสถานที่เกิดเหตุ เป็นการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ออกไปยังสถานที่เกิดเหตุในคดีต่างๆ เช่น เหตุระเบิด ฆาตกรรม เพลิงไหม้ เพื่อค้นหาและตรวจเก็บวัตถุพยานด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ มีการจดบันทึกรายละเอียดลงในเอกสาร ถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุและหลักฐานอื่นๆ ที่ตรวจพบ จัดทำแผนที่ แผนผังของสถานที่เกิดเหตุ และส่งมอบวัตถุพยานเพื่อดำเนินการต่อไป โดยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุพยานทั้งหมด ต้องเป็นไปตามหลักของห่วงโซ่การครอบครองวัตถุพยาน (Chain of Custody)
2.งานตรวจพิสูจน์หลักฐาน เป็นการตรวจวิเคราะห์พยานหลักฐานในห้องปฏิบัติการ โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มงาน ได้แก่
กลุ่มงานที่ 1 ตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ของกลางเกี่ยวกับอาวุธปืน กระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน และลูกกระสุนปืน โดยมุ่งเน้นการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบด้วยเครื่องมือทันสมัย เพื่อเชื่อมโยงอาวุธปืนกับเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธปืนเข้าด้วยกัน ด้วยเครื่อง IBIS (Integrated Ballistics Identification System) การตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการขูดลบแก้ไขเลขหมายประจำปืนและเครื่องหมายทะเบียนปืน
นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาวิถีกระสุนปืนรวมถึงการตรวจหาเขม่าปืนที่มือผู้ต้องสงสัยด้วยเครื่อง AAS (Atomic Absorption Spectrophotometer)
กลุ่มงานที่ 2 ตรวจลายนิ้วมือแฝง ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าแฝง ที่ได้จากสถานที่เกิดเหตุในคดีต่างๆ โดยนำมาเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าของบุคคลต้องสงสัย รวมถึงการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลลายนิ้วมือของกองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือ AFIS (Automated Fingerprint Identification system) ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านข้อมูล และฐานข้อมูลลายนิ้วมือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มงานที่ 3 ตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์วัตถุพยานประเภทชีววิทยาและดีเอ็นเอที่ได้จากสถานที่เกิดเหตุและบุคคลต้องสงสัย โดยมุ่งเน้นในการตรวจหาสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ เพื่อหาความสัมพันธ์นำไปเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลดีเอ็นเอที่ได้จัดทำไว้ ทำให้สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์จากวัตถุพยานกับวัตถุพยาน และสามารถชี้ถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน
กลุ่มงานที่ 4 ตรวจยาเสพติด ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์วัตถุพยานในคดียาเสพติด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน พืชกระท่อม โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจวิเคราะห์ แบ่งเป็น
การตรวจด้านคุณภาพวิเคราะห์ คือ การตรวจพิสูจน์ว่ายาเสพติดของกลางเป็นยาเสพติดหรือไม่และชนิดใด
การตรวจด้านปริมาณวิเคราะห์ คือ การพิสูจน์หาปริมาณของสารเสพติดที่อยู่ในยาเสพติดของกลาง รวมทั้งการตรวจยาเสพติดในแหล่งผลิตยาเสพติด และการตรวจวิเคราะห์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีในยาเสพติด โดยมีการจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลยาเสพติดที่ทำการตรวจพิสูจน์ทั้งลักษณะ รูปร่าง รูปแบบ และสารเสพติดที่ตรวจพบ (Drug profile) เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ แบ่งประเภทและสืบหาถึงแหล่งที่มาของยาเสพติดนั้นๆ
กลุ่มงานที่ 5 ตรวจเอกสาร มีหน้าที่ตรวจเอกสาร วัตถุร่องรอยและเงินตราปลอมแปลง เช่น การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ตัวอักษรพิมพ์ดีด ชนิดกระดาษ ชนิดหมึก ร่องรอยการขูดลบแก้ไขเอกสารธนบัตรและเงินตรา รอยตราประทับแม่พิมพ์และเครื่องหมายการค้า และรูปรอยฆ้อนเหล็กตราประทับที่ไม้ของกลาง
ขณะนี้มีการสร้างฐานข้อมูลเพิ่ม เพราะการก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนใต้มีการทิ้งใบปลิว โปรยใบปลิวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
กลุ่มงานที่ 6 ตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ เป็นกลุ่มงานที่นำหลักการทางเคมีและฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ในการตรวจพิสูจน์วัตถุพยานในคดีต่างๆ เช่น การตรวจหาชนิดของวัตถุระเบิด การตรวจสารเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง สารไวไฟ วัตถุปลอมปน การดัดแปลงแก้ไขมิเตอร์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า การหลอมละลายของโลหะทองแดงเนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจร การเปรียบเทียบกระจก สี ดิน ทราย ลักษณะการขาดหรือการแตกหักของวัสดุ การตรวจเปรียบเทียบวัตถุพยานต่างๆ ตลอดจนการตรวจชนิดของเส้นใยจากป้ายผ้า
ปัจจุบันโครงสร้างของ ศพฐ.10 อยู่ในโครงสร้างของศูนย์นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต่ เพื่อบูรณาการทรัพยากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ศพฐ.10 เอง แพทย์นิติเวช และศูนย์บริหารข้อมูลทางคดี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
่บรรยายภาพ :
1 เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานและนักนิติวิทยาศาสตร์
2 พล.ต.ต.ปรีดี พงศ์เศรษฐ์สันต์
3-4 การตรวจพิสูจน์หลักฐานชนิดต่างๆ