ข้อมูลลับ"ขสมก."แบกหนี้ท่วมเฉียด8หมื่นล. สถาบันการเงินเมินปล่อยกู้!
"..ในปี 2553-2556 ขสมก.มีหนี้ค้างจำนวน 61,273 ล้านบาท 69,205 ล้านบาท 72,117 ล้านบาท และ76,043 ล้านบาท ตามลำดับ โดยปัจจุบัน (ณ เดือนมิถุนายน 2557) มีหนี้คงค้าง จำนวน 79,902 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2558 จากการพิจารณาประมาณการกระแสเงินสด (ไม่รวมการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย) มีประมาณการเงินลดรับจากการดำเนินงานจำนวน 7,472.753 ล้านบาท.."
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำลังถูกจับตามองอย่างมาก ถึงความอยู่รอดขององค์กรในการทำธุรกิจให้บริการขนส่งสาธารณะประชาชน
หลังจากเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2557 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติตามข้อเสนอกระทรวงคมนาคม ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินนำไปชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,401.998 ล้านบาท
แยกเป็น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 2,870.863 ล้านบาท และค่าเหมาซ่อม จำนวน 1,531.135 ล้านบาท) เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และให้เกิดการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายกรณีผิดนัดชำระหนี้
โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงิน ตามที่ ขสมก. เสนอ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลัง ว่า เหตุที่กระทรวงการคลัง ยอมเข้าไปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้กับขสมก. เพราะการดำเนินงานของขสมก. มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด ซึ่งหากกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันให้อาจทำให้ไม่มีสถาบันการเงินให้ความสนใจในการให้ ขสมก. กู้เงินซึ่งอาจส่งผลให้ ขสมก. ไม่สามารถจัดหาเงินกู้ที่มีต้นทุนที่ต่ำลงได้
ทั้งนี้ ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการขาดทุน มาตลอด โดยในปี 2553-2556 มีผลประกอบการขาดทุน จำนวน 4,972.59 -5,315.08 ล้านบาท ทำให้ขาดกระแสเงินสดในการดำเนินงาน และจะต้องกู้เงินเพื่อการดำเนินงานมาโดยตลอดทำให้ภาระหนี้ของ ขสมก.เพื่อขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
โดยในปี 2553-2556 ขสมก.มีหนี้ค้าง จำนวน 61,273 ล้านบาท 69,205 ล้านบาท 72,117 ล้านบาท และ76,043 ล้านบาท ตามลำดับ โดยปัจจุบัน (ณ เดือนมิถุนายน 2557) มีหนี้คงค้าง จำนวน 79,902 ล้านบาท
และในปีงบประมาณ 2558 จากการพิจารณาประมาณการกระแสเงินสด (ไม่รวมการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย) มีประมาณการเงินสดรับจากการดำเนินงานจำนวน 7,472.753 ล้านบาท
ในขณะที่มีประมาณการเงินสดจ่ายเพื่อดำเนินงาน (ไม่รวมการชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ย) จำนวน 11,443,379ล้านบาท ทำให้ ขสมก. มีเงินสดรับน้อยกว่าเงินสดจ่ายเป็นจำนวน 3,970.630 ล้านบาท
ดังนั้น ขสมก.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมดังที่เคยปฏิบัติมา
จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยมีการพิจารณา อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงิน จำนวน 3,615.449 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมปีงบประมาณ 2557
โดยเป็นเงินกู้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 2,265.205 ล้านบาท และเงินกู้ค่าเหมาซ่อม จำนวน 1,350.244 ล้านบาท
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขการกู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,401.998 ล้านบาท แยกเป็น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 2,870.863 ล้านบาท และค่าเหมาซ่อม จำนวน 1,531.135 ล้านบาท
จะพบว่าค่าใช้จ่าย ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการอนุมัติขอกู้เงินประจำปี 2558 เพื่อนำไปเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4 พันกว่าล้าน ของที่ประชุม คสช. ได้ เห็นชอบการดำเนินการหลายส่วน อาทิ ให้หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจรับไปประสานงานกับกระทรวงคมนาคม โดย ขสมก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 โดยควรแบ่งการดำเนินการจัดซื้อเป็นระยะ ๆ
สำหรับระยะแรกควรเป็นการจัดซื้อรถโดยสารที่ประกอบสำเร็จและพร้อมใช้งาน เพื่อให้สามารถนำมาให้บริการประชาชนทดแทนรถโดยสารเดิมได้ทันที และจะช่วยให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถของ ขสมก. ลงจากเดิมได้ด้วย
ส่วนการจัดซื้อรถโดยสารในระยะต่อไปสามารถจัดซื้อรถโดยสารที่ประกอบภายในประเทศได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐติดตามตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อดังกล่าวให้มีความถูกต้อง โปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน รวมตลอดถึงการกำหนดคุณลักษณะของรถโดยสาร (specification) ให้เหมาะสมด้วย
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดย ขสมก. พิจารณาปรับเส้นทางเดินรถโดยสารทั้งระบบให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงในด้านปริมาณผู้โดยสาร ลดความซ้ำซ้อนของรถโดยสารบนถนนสายหลักสามารถปฏิรูประบบรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ด้วย
รวมถึงการให้ กระทรวงคมนาคม โดย ขสมก. รับไปประสานงานกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานีเติมก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการของ ขสมก. เพื่อให้ ขสมก. สามารถให้บริการเดินรถได้อย่างต่อเนื่องและคล่องตัว
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ มาตรการที่ออกมาจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้จำนวนมหาศาลของ ขสมก.ได้จริงหรือไม่
เพราะที่ผ่าน ขสมก. ไม่เคยมีการนำข้อมูลที่แท้จริง เกี่ยวกับ ที่มาตัวเลข หนี้ค้างชำระทั้งในส่วนค่าเชื้อเพลิง และค่าเหมาซ่อม มาเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลอย่างละเอียดแต่อย่างใด
จึงทำให้ไม่มีใครล่วงรู้ข้อมูลที่แท้จริง ว่าที่มาของหนี้สินจำนวนมากที่เกิดขึ้นสะสมทุกปีมาจากอะไรกันแน่