นักวิชาการชี้ม็อบสะท้อนชนบทตื่นตัว สมัชชาคนจน-ชาวบ้านเสื้อแดง มองคนละมุม
นักวิชาการชี้ปรากฏการณ์ชุมนุมเสื้อแดง คนชนบทเข้าร่วมมากเพราะเปิดรับข่าวสารและมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น เสนอออกแบบการเมืองใหม่พัฒนาการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน สมัชชาคนจนชี้เป็นเรื่องดีที่ชาวบ้านเข้าใจสิทธิทางการเมือง แต่จุดยืนแตกต่างที่ล้มรัฐบาล ส่วนคนเสื้อแดงแจงหลายเหตุผลเข้าร่วมชุมนุม
ผศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับโต๊ะข่าวชุมชนว่า
ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักมองว่าชาวบ้านมีวัฒนธรรมทางการเมืองในลักษณะเฉยชา แต่ปรากฏการณ์ที่คนชนบทเข้าร่วมชุมนุมกับม็อบคนเสื้อแดงในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น เห็นได้จากมีการเรียนรู้ เปิดรับข้อมูลข่าวสาร และแสดงออกเป็นเป็นพฤติกรรมการมีส่วนร่วมที่ขยายวงกว้างออกไปมาก ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงที่เรียกร้องให้มีการยุบสภาคิดว่าเป็นเพราะชาวบ้านรู้สึกว่ามีนักการเมืองกลุ่มอื่นที่มีนโยบายตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า
เมื่อถามถึงปรากฏการณ์ที่คนชนบทในฐานะคนส่วนใหญ่และตั้งรัฐบาลกลับลุกขึ้นมาไล่รัฐบาล ต่างจากที่ผ่านมาซึ่งคนเมืองไล่รัฐบาล ดร. ประภาส กล่าวว่า แนวคิดเช่นนี้เป็นการดูถูกชาวบ้านว่าไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง แต่มีส่วนร่วมเพราะระบบอุปถัมภ์ การอธิบายว่าคนชนบทเป็นผู้ตั้งหรือล้มรัฐบาลนั้นง่ายเกินไป เพราะในความเป็นจริงชาวบ้านมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองโดยตลอด ทั้งทำหน้าที่เลือกและตรวจสอบรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน การเคลื่อนไหวของชาวบ้านครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความตื่นตัวต่างๆ เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม
“ชนบทไม่ได้ตัดขาดจากการเมือง นโยบายของรัฐมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของชาวบ้าน ประกอบกับชีวิตที่เกี่ยวโยงกับการเมืองท้องถิ่น การรวมกลุ่มในระดับชุมชน มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกลุ่มการเมืองระดับท้องถิ่นซึ่งมีอิทธิพลและแรงจูงใจสำคัญที่จะเป็นแรงหนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวได้” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าว
ดร. ประภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางที่จะพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนชนบทภายใต้การเมืองระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ต้องเริ่มจากการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้เข้ามาบริหารจัดการกันเองมากขึ้น เนื่องจากวันนี้ชาวบ้านอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่มีความเกี่ยวพันกับผู้แทนระดับท้องถิ่น การจะหลีกเลี่ยงการชุมนุมในลักษณะประชานิยมให้ได้ คงต้องเริ่มต้นจากการออกแบบการเมืองใหม่
นายสวาท อุปหาด ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาคนจน กล่าวถึงการรวมตัวของชาวบ้านในม็อบคนเสื้อแดงว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชนบท คิดว่าคงเป็นเรื่องดีหากชาวบ้านที่ลุกขึ้นมามีความเข้าใจและตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพของตนอย่างแท้จริง แต่ต้องยอมรับว่าการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวย่อมมีเรื่องของประชานิยมและเงื่อนไขบางอย่าง เช่น การจ้างวาน ผลประโยชน์ หรือพันธะสัญญาอื่นที่สร้างความคาดหวังให้ประชาชน
“ การชุมนุมโดยบอกว่าทำเพื่อลูกหลานหรือมองเรื่องการทำงานของรัฐบาลไม่น่าจะเป็นเหตุผลหลัก อาจมีแทรกซึมอยู่บ้างในกลุ่มคนส่วนหนึ่งที่เห็นว่านโยบายรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ล่าช้า หรือแม้ประเด็นเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งผมคิดว่าการเรียกร้องครั้งนี้น่าจะมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลมากกว่า” นายสวาท กล่าว
ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาคนจน กล่าวว่า การที่กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนไม่เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ เพราะข้อเรียกร้องและเป้าประสงค์ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของขบวนที่ต้องการเรียกร้องเพียงปัญหาปากท้อง ให้นโยบายของรัฐตอบสนองสู่ประชาชนรากหญ้าอย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึง แต่กรณีนี้เป็นการชุมนุมเพื่อล้มรัฐบาล ซึ่งขบวนสมัชชาคนจนไม่มีความคิดเช่นนั้น
นายชวน บุตรศรีชา กลุ่มผู้ชุมนุม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ชาวบ้านมาชุมนุมเพราะทนรับกระทำของภาครัฐไม่ได้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือรัฐมองชาวบ้านรากหญ้าเป็นเพียงชาวไร่ชาวนาที่ทำมาหากิน คอยรับนโยบายที่หยิบยื่นให้เพียงอย่างเดียว ความจริงแล้วชาวบ้านไม่ได้ปิดหูปิดตา มีความคิด และเปิดรับข่าวสาร คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐ เห็นว่าหากยังคงปล่อยให้รัฐทำงานแบบนี้ปัญหาจะตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
นางดาวเรือง แก่นโนนสัง กลุ่มผู้ชุมนุม จ. อุดรธานี กล่าวว่า มีแกนนำซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเป็นตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการชุมนุมเป็นระยะๆ เพื่อให้รับทราบความเคลื่อนไหว ยอมรับว่าการเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้หวังให้แพ้หรือชนะอย่างไร แต่ต้องการให้รัฐบาลเห็นพลังของกลุ่มชาวบ้าน เชื่อว่าการรวมตัวของคนจำนวนมากๆ จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
นางยอย ศรีทำบุญ กลุ่มผู้ชุมนุม จ.พะเยา กล่าวว่า การรวมตัวครั้งนี้มีเป้าหมายที่การขับไล่รัฐบาล และต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนักการเมือง เน้นเป้าหมายที่ตัวบุคคลมากกว่า เรื่องการบริหารงานหรือนโยบายของรัฐเป็นเพียงส่วนน้อย สำหรับการเดินทางมาชุมนุมยืนยันว่าไม่มีใครจ้างวาน ชาวบ้านลงขันร่วมกันมา อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินบริจาคค่ารถและค่าอาหาร .
ภาพประกอบจาก www.clubThaksin.com