ร่อยหรอ รณรงค์หยุดประมงแบบทำลายล้าง ปลุกกระแสผู้บริโภคกินอย่างรับผิดชอบ
สัตว์น้ำทะเลไทยร่อยหรอหนัก ชาวประมงจับไม่ถึง 10 กก./ชม. ชี้เหตุเรือประมงใหญ่ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสม ขาดจิตสำนึก "รวมพลคนกินปลา" ปลุกกระแสผู้บริโภค ชวนซื้อชวนกินอาหารทะเลจากประมงพื้นบ้านที่จับปลาอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ
ผู้สื่ข่าวรายงานว่า ที่สวนสันติชัยปราการ ถ.พระอาทิตย์ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้มีการจัดเทศกาลรวมพลคนกินปลา ตอน เรือเล็กในทะเลใหญ่ ระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของท้องทะเลไทยและมีส่วนร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหา
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในรอบกว่า 50 ปีที่ผ่านมา กรมประมงเคยเก็บสถิติการทำประมงแบบอวนลาก พบในอดีตการใช้อวนลาก 1 ชั่วโมงจะจับสัตว์น้ำได้กว่า 300 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันนี้ด้วยเวลาและเครื่องมือเท่ากัน สัตว์น้ำกลับเหลือให้จับเพียง 2-7 กิโลกรัมเท่านั้น
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นแหล่งทำประมงสำคัญในภูมิภาคนี้ เพราะจากลักษณะทางกายภาพขนาบด้วยชายฝั่งทั้งตะวันออกและตะวันตก รวมถึงพื้นที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงกลายเป็นแหล่งสัตว์น้ำชั้นดี แต่อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่ขยายตัวสูง มีการส่งเสริมการจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมในการทำประมง เช่น อวนลาก, อวนรุน, อวนตาถี่ จึงส่งผลกระทบต่อการทำประมงขนาดเล็ก หรือประมงพื้นบ้าน และเป็นเหตุให้ทะเลเสื่อมโทรมลงด้วย
"อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่ใช้อวนรุน อวนลาก จะจับสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยไม่มีเหลือ แนวปะการังที่อยู่อาศัยของสัตว์ก็ถูกทำลาย หากดูที่อัตราการส่งออกสัตว์น้ำ อาจจะไม่เห็นผลกระทบมากนัก เพราะยังส่งออกได้ต่อเนื่อง แต่นั่นเป็นการจับสัตว์น้ำจากน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งความจริง คือ น่านน้ำไทยไม่เหลือสัตว์น้ำให้จับแล้ว" นายวิโชคศักดิ์ กล่าว
ทางด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการทำประมงแบบทำลายล้างในปัจจุบันเป็นปัญหาทำให้ท้องทะเลไทยวิกฤต ทั้งจากปัจจัยการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่คำนึงถึงสภาพนิเวศน์ทางทะเล ปัญหาการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคทั้งสิ้น
ดังนั้นเทศกาลรวมพลคนกินปลาฯ จึงถือเสมือนการเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนเมือง ได้เข้าถึงผลผลิตทางทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านโดยตรง ซึ่งจับปลาอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ จึงรับประกันความสด ปลอดภัยและรับผิดชอบ
"สิ่งที่เราอยากเห็น คือการสร้างเครือข่ายผู้บริโภค และรณรงค์ผ่านจิตสำนึกของคนในสังคม ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกอาหารทะเลที่ปลอดภัย เอาใจใส่กับการกินอาหารทะเลที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งความสุขจากการบริโภคของดีมีคุณภาพ ก็จะดีขึ้นไปพร้อมกับทะเลไทยนั่นเอง" นายจักรชัย กล่าวทิ้งท้าย