เรื่องมหัศจรรย์ Only Ants มดตัวน้อยตัวนิด
พ่อมดเมืองไทย 'รศ.เดชา วิวัฒน์วิทยา' ชวนผองมิตร เปิดบ้านวนศาสตร์ มก. ชวนค้นหาความน่ารักของ 'มด' สัตว์ตัวเล็ก ๆ เเต่พลังไม่เล็ก เเสนมหัศจรรย์
บริเวณโถงตึกวนศาสตร์ 72 ปี ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ถูกจำลองเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม สำหรับผู้ที่สนใจสัมผัสกับความมหัศจรรย์จาก ‘มด’ หลากหลายชนิด และเรียนรู้ประโยชน์มากมายที่ได้รับจากเจ้าตัวเล็กเหล่านี้ โดยมีบรรดานิสิตคณะวนศาสตร์คอยยืนให้ความรู้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ขณะที่ด้านบน พิธีกรกล่าวเข้าสู่การจัดงานนิทรรศการ Only Ants มดในประเทศไทย ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด การศึกษามดเพื่อประชาคมอาเซียน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ พร้อมกับแนะนำ “พ่อมดเมืองไทย” ผู้ที่ได้รับเกียรตินำชื่อ-สกุล ตั้งเป็นชื่อมดว่า “มด รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา’ (Lasiomyrma wiwatwitayai) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ถือได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกศึกษาวิจัยมดอย่างจริงจังในประเทศไทยเกินกว่า 10 ปี
จากบางช่วงบางตอน รศ.ดร.เดชา ระบุถึงจำนวนมดในภูมิภาคอาเซียนว่า มีประมาณ 1,300-1,500 ชนิด นับได้ว่า ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากขณะที่ไทยเริ่มมีการรวบรวมพันธุ์มดมาตั้งแต่ปี 2540 พบประมาณ 700 ชนิด และคาดการณ์ว่าอาจมีสูงถึง 1,000 ชนิด
พ่อมดเมืองไทย มองว่า ปัจจุบันหลายชาติในอาเซียนมักศึกษามดเพื่อองค์ความรู้ตามแบบอย่างญี่ปุ่นหรือประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่การแสวงหาเพื่อใช้ประโยชน์ ทำให้ทุกครั้งที่มีโอกาสเข้าร่วมเวทีระดับอาเซียน เขาจึงมักเสนอให้มีการศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากมดแทน
“มดสร้างต้นแบบการดำรงชีวิตที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่สำคัญ มีระเบียบวินัย ฉะนั้นหากจะนำพาให้ประชาคมอาเซียนเข้มแข็ง สามารถต่อรองกับภูมิภาคอื่นได้ จำเป็นต้องมีน้ำใจต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างไม่เอาเปรียบ”
สังคมไทยได้อะไรจากการศึกษาเรื่องมด สัตว์ชนิดนี้ไม่ได้เป็นแบบอย่างให้กับมนุษย์ในการดำรงชีวิตเท่านั้น แม้แต่เรื่องความมั่นคงทางอาหาร ก็เกี่ยวพันกับมดตัวเล็กๆ
รศ.ดร.เดชา ศึกษาพบว่า ไทยแลนด์โอลี่ (ที่นี่ที่เดียว) ในอาเซียนเท่านั้นที่กิน ‘ไข่มดแดง’ เป็นหลัก รองลงมา ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ที่กินบ้างเหมือนกัน แต่ไม่แพร่หลายเท่าพี่ไทย
ส่วนที่มาเลเซียและอินโดนีเซียจะนำไปเป็นเหยื่อตกปลา หรือนำไปเป็นอาหารให้นกเขา
ที่น่าทึ่ง! จากข้อมูล "มดกับการทำเกษตรอินทรีย์" โดยเฉพาะ เวียดนามนั้นใช้ "มดแดง" ในการกำจัดศัตรู ‘ส้ม’ เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง ผิวของผลส้มเวียดนาม จึงมีผิวสวย ทั้งเรียบ และเนียน...
พ่อมดเมืองไทย บอกว่า เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ ผิดกับไทยที่เกษตรกรยังใช้สารเคมีอยู่
“รัฐบาลเวียดนามส่งเสริมการลดใช้สารเคมีในพืชผลเกษตรจริงจัง จูงใจโดยให้สินค้าอินทรีย์ได้รับราคาสูงมากกว่าใช้สารเคมี” นักวิชาการ มก.ที่ผันตัวเองจากการศึกษาพันธุ์มด เปลี่ยนมาศึกษาการใช้ประโยชน์จากมด กล่าว และเห็นว่า หากไทยจะทำแบบเวียดนามคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากได้ผลผลิตน้อย และต้องใช้เวลา 4-5 ปี เกษตรกรไทยจะรับได้หรือไม่
ก่อนมีข้อเสนอว่า หากจะใช้มดกำจัดศัตรูส้ม และทำให้เกิดแรงจูงใจ รัฐบาลต้องอุดหนุนประกันราคาผลผลิตช่วงแรก เพื่อชดเชยส่วนต่างที่เสียไป ด้วยผลผลิตย่อมมีจำนวนลดลง จากที่เคยมีรายได้ 1,000 บาท เหลือเพียง 100 บาท
"ผมเชื่อว่า สุดท้ายคงไม่มีใครเอาด้วย"!!
ด้านชุติภพ เหงากุล พิธีกรรายการเกษตรสุวรรณภูมิ และดีเจชื่อดัง ถือโอกาสเสริมประเด็นว่า เดี๋ยวนี้เกษตรกรไทยฉีดยาปฏิชีวนะเข้าไปในต้นส้ม “ส้มไม่ตาย คนกินตาย” ฉะนั้นเห็นด้วยกับแนวคิดของ ‘เวียดนาม’ ใช้มดกำจัดศัตรูส้ม
“เพลี้ยจะเกาะตามผลส้มเพื่อกินน้ำตาล มดก็จะกินน้ำตาลจากเพลี้ยอีกทอดหนึ่ง จึงถือว่า ‘มด’ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในธรรมชาติที่ไม่ต้องการให้มีส่วนเกินในระบบนิเวศ”
เขามองว่า การช่วยควบคุมระบบนิเวศของมด นับเป็นผลดีต่อภาคเกษตรไทยที่จะขับเคลื่อนสู่ความเป็นอินทรีย์ มุ่งพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยในผลผลิต มากกว่าส่งเสริมให้เป็นฆาตกรทางอ้อม จึงวอนขอให้ รศ.ดร.เดชา เร่งศึกษากระบวนการใช้มดกำจัดศัตรูพืชในภาคเกษตร
"การทำเกษตรอินทรีย์ยืนยันว่า ไม่มีวันเจอทางตัน มีแต่จะก้าวไปข้างหน้า เพราะเกษตรอินทรีย์ คือ ทำอย่างไรไม่มีของเหลือไว้ในระบบ ปัจจุบัน ไทยนำเข้าสารเคมีปีละ 5 ล้านตัน มูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้เกษตรอินทรีย์ไทยไม่เติบโต เพราะมีมูลค่าเม็ดเงินจากสารเคมีมหาศาลรออยู่"
ดีเจชื่อดัง เปรียบคนไทยชอบทำเกษตรแบบกระสือ "ฉันจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาหมด และฆ่าทุกสิ่งทุกอย่างให้หมด แต่ไม่ยอมทำเกษตรแบบกษัตริย์ แบ่งปันให้ผู้อื่นบ้าง ไม่ใช้สารเคมี แต่เกษตรกรทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เห็นหนอนเมื่อไหร่ก็ฉีดยาฆ่าแมลงกันแล้ว”
(ขอขอบคุณ เฟซบุ๊ค ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มก.)
ขณะที่ ‘ติ๊ก’ เจษฎาภรณ์ ผลดี พระเอกยอดนิยมและผู้ดำเนินรายการเนวิเกเตอร์ ก็ได้เรียนรู้ ‘มด’ อย่างถ่องแท้ เขาเห็นว่า มดเป็นตัวอย่างของความ ‘สามัคคี’ และการมี ‘ระเบียบวินัย’ ตลอดจนความเอาใจใส่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตัว ที่สามารถนำแบบอย่างมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
“ในรังจะมีมดจำนวนมาก แต่ละตัวจะมีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป โดยมีราชินีคอยจัดแบ่งหน้าที่ เพื่อให้ทุกตัวอยู่ในอำนาจการครอบครอง ซึ่งมีลักษณะเดียวกันทุกสายพันธุ์”
สำหรับพฤติกรรมน่ารัก ๆ ของมด ติ๊ก- เจษฎาภรณ์ ยกตัวอย่าง การเดินเรียงแถวของมดที่สะท้อนวินัยจราจรอย่างดี "ผิดกับคนเราได้ ทันทีที่เห็นข้อความหน้าตู้สัญญาณไฟจราจรว่า “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” ผมหัวเราะกร๊ากกกก เพราะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ"
นอกจากนี้หลายคนมักสงสัยว่า ทุกครั้งที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มด ทำไมต้องบังคับคนให้ถอดรองเท้า ก็เพราะมดก่อนที่จะกลับเข้ารัง มันจะใช้ฝ่าเท้าทำความสะอาดร่างกายเสียก่อน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดตัวมาเข้าไปในรัง ถือเป็นการรักษาความปลอดภัยอย่างหนึ่ง ดังนั้น การเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มด จึงมีกฎ กติกา ให้ผู้คนทำตามมด และรักษาความสะอาดเยี่ยงมด
เมื่อถามว่า จะมีวิธีหลีกเลี่ยงจากมดรบกวน ปัญหาจากมดขึ้นอย่างไร
พระเอกผู้นี้ ตอบเสียงดังฟังชัด "ต้องไม่ให้ภายในบ้านมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่" มดเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นหลัก ส่วนน้ำตาลกินเพื่อสร้างพลังงานช่วยในการทำงานเท่านั้น
นอกจากนี้ มดยังมีพฤติกรรมที่หลายคนยังไม่ทราบอีกมากมาย ดังเช่น
การเดินเป็นแถวเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สายพันธุ์ โดยมดตัวหน้าจะหลั่งสารฟีโรโมน (Pheromone)จากก้นที่กดลงบนพื้นตลอดเวลา เพื่อให้มดตัวหลังเดินตามได้
มดบางชนิดไม่มีตา หรือตาเล็ก จึงต้องอาศัยกลิ่นฟีโรโมนในการเดินตาม ส่วนมดที่มีตาใหญ่ก็สามารถเดินตามใจได้
ส่วนคำถามสุดกวนในโลกออนไลน์ อย่างเช่น ทำไมโรงงานน้ำตาล มดไม่ขึ้น หรือไม่เคยเจอกองทัพมดบุกเลยนั้น ในเวทีเสวนาวิชาการเรื่องมดๆ ก็มีคำตอบให้คลายสงสัยเช่นกัน
พ่อมดเมืองไทย อธิบายว่า น้ำตาลปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิดความเข้มข้นสูง ดังนั้นต่อมรับกลิ่นของมดจึงไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองเท่ากับปริมาณน้อย ๆ แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ก็ระบุว่า โรงงานน้ำตาลมีระบบการจัดการคลังสินค้า โดยเจาะพื้นคอนกรีตและฉีดสารเข้าไปในดิน เพื่อป้องกันแมลงและมด
หรืออย่าง "กากมะพร้าว" ที่คั้นน้ำแล้ว นำไปตากแห้ง รู้หรือไม่สามารถช่วยไล่มดคันไฟได้ โดยเราไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงเลย
ขณะเดียวกัน มดยังพยากรณ์อากาศให้มนุษย์ล่วงหน้าได้อีกด้วย สังเกตจากการสร้างรังของมดบนกิ่งไม้ เช่น หากมดสร้างรังบนกิ่งไม้ด้านใน (โคนกิ่ง) จะส่งสัญญาณว่า ปีนั้นลมแรง ปีไหนไม่มีลมแรง สภาพอากาศปกติ มดก็จะสร้างตรงยอดกิ่งไม้
เช่นเดียวกับพฤติกรรมการขนไข่ของกองทัพมด เวลาจะเกิดน้ำท่วม สัตว์ชนิดนี้ก็จะมีสัญชาตญาณรู้ถึงภัยพิบัติที่จะมาก่อนใครเพื่อน
สุดท้าย ‘มด’ ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุดในโลกด้วย เพราะสามารถยกของหนักได้ 5-10 เท่า ของน้ำหนักตัว
นี่จึงเป็นความมหัศจรรย์ของ "มด" แมลงที่มีวิวัฒนาการสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่รอดได้ดี ถูกถ่ายทอดในกิจกรรม Only Ants...