'มีเดียมอนิเตอร์' พบไทยพีบีเอส-5 ช่องข่าวดิจิตอล ตรวจสอบ11 นโยบาย รบ. 'ไม่เต็มที่'
มีเดียมอนิเตอร์พบ ไทยพีบีเอส-5 ช่องข่าวดิจิตอล ตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบาย 11 ด้าน ของรัฐบาลไม่เต็มที่ ไม่พบ 'นิวทีวี' ต่อยอดคำถามให้ได้รายละเอียด ถามย้ำ ตรวจทานชัดเจน 'วอยซ์ทีวี' ไร้นำเสนอนโยบายรัฐบาลภาพรวม
สืบเนื่องจากการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 นับเป็นเหตุการณ์น่าสนใจ เพราะเป็นการแถลงโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย ทั้งเกิดขึ้นในภาวะที่สังคมคาดหวังบทบาทรัฐบาลหลังรัฐประหาร ในการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ
โครงการกลไกสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ (มีเดียมอนิเตอร์) มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา จึงสนใจศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการตรวจสอบ ที่หมายถึงการเปิดประเด็น การวิเคราะห์/ ตีความ การเปิดพื้นที่เพื่อสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย รวมทั้งการทำหน้าที่รักษาประโยชน์ของประชาชน
โดยมีสื่อที่ศึกษา คือ โทรทัศน์ดิจิตอล 6 ช่อง จาก 2 ประเภทใบอนุญาต คือ
1) ประเภทบริการสาธารณะ ได้แก่ ช่องไทยพีบีเอส
2) ประเภทบริการธุรกิจ ในหมวดข่าวสารและสาระ จำนวน 5 ช่อง ได้แก่ (1) วอยซ์ทีวี (2) เนชั่นแชนแนล (3) สปริงนิวส์ (4) TNN24 และ (5) นิวทีวี
ซึ่งศึกษาเฉพาะรูปแบบรายการ สารคดีข่าว สกู๊ป สัมภาษณ์ สนทนา วิเคราะห์ ในช่วงวันที่ 12-19 กันยายน 2557 (ไม่รวมรายการเดินหน้าประเทศไทย และคืนความสุขให้คนในชาติ) โดยแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา คือ การทำหน้าที่ของสิ่อในสังคมประชาธิปไตย อันประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์/ ตีความ 2) การเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และ 3) การตั้งคำถามแทนสาธารณะ
ทั้งนี้ ผลการศึกษา มีดังนี้
การทำหน้าที่ของสื่อในการวิเคราะห์/ ตีความ ในภาพรวม พบว่า ทุกช่องมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในระดับการวิเคราะห์ตีความในรูปแบบวิเคราะห์ข่าว และ การสัมภาษณ์/สนทนาข่าว ค่อนข้างน้อย
โดยนโยบายที่มีการนำเสนอผ่านการวิเคราะห์/ตีความมากที่สุด คือ
1) นโยบายรัฐบาลในภาพรวม ไม่เจาะจงนโยบายใด ซึ่งพบว่ามีการนำเสนอในทุกช่อง ยกเว้นช่อง วอยซ์ทีวี และ นิวทีวี
2) นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พบในช่องไทยพีบีเอส สปริงนิวส์ และ วอยซ์ทีวี
3) นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีช่องเนชั่นแชนแนลเพียงช่องเดียว ที่นำเสนอในลักษณะการวิเคราะห์/ ตีความ
ในขณะที่ไม่พบการวิเคราะห์/ตีความเกี่ยวกับนโยบายใด ๆ ในรายการ/ ช่วงวิเคราะห์ข่าว และสนทนาข่าวทางช่องนิวทีวีในช่วงที่ศึกษา
ด้านการเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ในภาพรวม พบว่า นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นนโยบายที่ทุกช่องเปิดพื้นที่ให้มีผู้แสดงความคิดเห็น/ แสดงทรรศนะมากที่สุด แต่ค่อนข้างจำกัดเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ
ส่วนมากเป็นการให้ความเห็นในเรื่องความเหมาะสมต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับนโยบายรัฐบาลในภาพรวม ที่ไม่เจาะจงนโยบายใด ก็ให้พื้นที่จำกัดเฉพาะกลุ่มนักวิชาการเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เป็นการประเมินภาพรวมกว้างๆ เน้นการวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายรัฐบาลชุดนี้ และนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนหน้า
ในขณะที่นโยบายอื่น ๆ พบว่ามีการเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นค่อนข้างน้อย และจำกัดเฉพาะกลุ่มรัฐบาล และข้าราชการเป็นหลัก ไม่พบการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มประชาชน หรือภาคประชาชน ยกเว้นรายการสามมุมข่าวทางช่องสปริงนิวส์ ที่เป็นเพียงนำเสนอความเห็นสั้น ๆ ของกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ หรือ vox pop เท่านั้น
ด้านการทำหน้าที่ของสื่อที่ศึกษาในการตั้งคำถามแทนสาธารณะ ที่แบ่งลักษณะการตั้งคำถามสัมภาษณ์ออกเป็น 2 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่
1)การตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายขยายความ ซึ่งเป็นลักษณะการตั้งคำถามที่พบได้ทุก ๆ รายการ
2) การตั้งคำถามต่อยอดเพื่อให้ได้รายละเอียด ถามย้ำเพื่อความมั่นใจ หรือตรวจทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในรายการสัมภาษณ์/สนทนาผู้รับเชิญร่วมรายการ มากกว่าการสัมภาษณ์ที่แทรกอยู่ในรายการข่าวปกติทั่วไป
ในภาพรวมพบว่า ส่วนใหญ่ทุกช่องมีการตั้งคำถามเข้าข่ายทั้ง 2 ลักษณะคือ เพื่ออธิบาย ขยายความ และเพื่อตรวจทานในรายละเอียด โดยเฉพาะรายการของช่องสปริงนิวส์ และไทยพีบีเอส
ยกเว้นช่องนิวทีวี ที่ไม่พบว่ามีการตั้งคำถามต่อยอดเพื่อให้ได้รายละเอียด ไม่มีถามย้ำเพื่อความมั่นใจ หรือตรวจทาน ที่ชัดเจน
เมื่อพิจารณาผลการศึกษาที่พบ ตามกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบในบริบทของสื่อมวลชนและหน้าที่สื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย อาจสรุปได้ว่า ทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระยังทำหน้าที่ในการวิเคราะห์/ ตีความประเด็นด้านนโยบายรัฐบาลไม่เต็มที่ มีการเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่หลากหลาย ขาดการสะท้อนเสียง/ ความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ในขณะที่การตั้งคำถามอย่าง “ถามแทนประชาชน” ในภาพรวมพบว่า สื่อมีการตั้งคำถามทั้งในลักษณะเพื่อให้อธิบายขยายความ และการถามต่อยอดเพื่อความมั่นใจ หรือตรวจทาน แต่โดยมากมักเป็นการตั้งคำถามในนโยบายที่เป็นข่าว หรือมีความเคลื่อนไหวจากกระทรวงต่าง ๆ เช่น ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจ หรือตั้งคำถามถึงแผนการปฏิบัติงานของรัฐบาลในภาพรวม เป็นต้น แต่ไม่มีการตั้งคำถาม/ สัมภาษณ์ความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่นๆ ในเชิงลึกเท่าที่ควร
จะเห็นได้ว่าทั้งช่องไทยพีบีเอส และทีวีดิจตอลช่องข่าวสารและสาระ ต่างทำหน้าที่วิเคราะห์/ ตีความข้อเท็จจริงต่างๆ ตลอดจนเปิดพื้นที่เพื่อสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย และการทำหน้าที่ตั้งคำถามในฐานะตัวแทนสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลทั้ง 11 ด้านได้ยังไม่เต็มที่
ทั้งนี้ อาจสรุปอย่างเปรียบเทียบให้เห็น นโยบายที่ช่องโทรทัศน์ที่ศึกษานำเสนอ และรูปแบบการนำเสนอ ได้ดังนี้