วนศาสตร์ มก. เปิดบ้านสัมมนา ‘มด’ พบในไทย 700 ชนิด-นักวิจัยเฉพาะทางขาดแคลน
วนศาสตร์ มก. เปิดบ้านสัมมนา ‘มด’ พบไทยมีราว 700 ชนิด จาก 1500 ชนิด ทั่วอาเซียน ‘รศ เดชา วิวัฒน์วิทยา’ หวังภาครัฐเร่งสร้างนักวิจัยเฉพาะทาง ศึกษารวบรวมจริงจัง อดีต ปธ.หอการค้าสกลฯ เชื่อไข่มดแดงตัวชี้วัดความมั่นคงอาหาร ไม่ตายจากสังคมไทย
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดสัมมนา มดในประเทศไทย ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด ‘การศึกษามดเพื่อประชาคมอาเซียน’ ณ ห้องประชุมจงรัก ปรีชานนท์ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี ม.เกษตรศาสตร์
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มด กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมดประมาณ 1,300-1,500 ชนิด ซึ่งถือเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ขณะที่ไทยเริ่มมีการรวบรวมตั้งแต่ปี 2540 พบประมาณ 700 ชนิด จากคาดการณ์ว่าอาจมีสูงถึง 1,000 ชนิด เพียงแต่การเก็บข้อมูลอย่างจริงจังยังมีไม่มากพอ ดังนั้น จึงคาดหวังให้เร่งสร้างนักวิจัยศึกษาเกี่ยวกับมดขึ้น
ทั้งนี้ มักมีคำถามกลับมาว่า สังคมได้อะไรจากการเก็บรวบรวมชนิดของมด นอกจากการทราบชื่อ ทำให้ระยะหลังเริ่มหันมาศึกษาเกี่ยวกับการนำมดไปใช้ประโยชน์ปรากฏคุณค่าตามมามากมาย ยกตัวอย่าง การใช้มดแดงในการกำจัดศัตรูส้ม ซึ่งเป็นแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เวียดนามนำมาใช้ยาวนานถึง 30 ปี ช่วยให้ส้มมีผลสวย โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี
“ผมกล้าพูดว่าตั้งแต่ตั้งพิพิธภัณฑ์มดมา 12 ปี คนไทยให้ความสนใจเกี่ยวกับการศึกษามดค่อนข้างสูง และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง” ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มด กล่าว และว่าประเทศอื่น ๆ ดังเช่น ญี่ปุ่น มิได้รับความสนใจในการเข้าชมเหมือนไทย
ด้านนายประสาท ตงศิริ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร กล่าวถึงความนิยมในการบริโภคไข่มดแดงในกลุ่มคนอีสานจะไม่ลดน้อยลง และจะถูกนำเข้ามาบริโภคในกรุงเทพฯ มากขึ้น เพราะเมื่อมีการย้ายถิ่นฐาน จะไม่คุ้นชินกับอาหารในเมืองเท่าไข่มดแดง โดยคาดว่าอนาคตราคาจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อถามว่าไข่มดแดงจะสร้างความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ อดีตประธานหอการค้าฯ ยืนยันแน่นอน เพราะตราบใดที่ประเทศยังมีป่า มดแดงจะชอบมาก ทั้งนี้ ไม่อยากให้ภาครัฐเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงมดแดง เพราะจะกลายเป็นภาระในการรับผิดชอบด้านอบรม ที่สำคัญ เกษตรกรมักไม่ให้ความสนใจ แต่ควรกระตุ้นให้เกิดความอยากทำเองจะดีกว่า .
ภาพประกอบ:www.tc-pestcontrol.com