การเมืองใหม่ต้อง”เพิ่มอำนาจประชาธิปไตยทางตรง”ให้ชาวบ้าน
ด้วยสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง “การเมืองภาคประชาชน” จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาก ในแวดวงต่างๆ
“เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดจากอากาศ การเมืองที่ดึงดูดให้ประชาชนมาเข้ามามีร่วม มันต้องได้รับแรงผลักดันจากรัฐ และที่สำคัญที่สุดคือตัวประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย” ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเสวนาวิชาการเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน” เมื่อการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม
แม้ดร. ประภาส จะกล่าวเริ่มต้นว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในขณะนี้เป็นผลพวงมาจากปัญหาการใช้ประชาธิปไตยแบบตัวแทน นำมาด้วยความสุ่มเสี่ยงต่อการซื้อสิทธิ์ขายเสียง จนเกิดความไม่พอใจ ถึงขนาดเรียกร้องการเมืองใหม่
หากแต่นักวิชาการท่านนี้ก็ได้กล่าวขยายความว่า ถึงหลักการประชาธิปไตยแบบตัวแทนนี้จะส่งผลถึงปัญหาบ้าง แต่การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทนก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่ควรจะให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือ ทำอย่างไรจะเพิ่มอำนาจประชาธิปไตยทางตรงให้แก่ประชาชนมากขึ้น ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นไปกว่าการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
“คำตอบก็คือ รัฐควรให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีโอกาสกำหนดชีวิต ความเป็นอยู่ตัวเอง ตัดสินใจในมติใหญ่ๆ สนับสนุนการเกิดเป็นสถาบันทางชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการปกครอง ผมเคยศึกษาและพบว่าตัวชาวบ้านที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ จะสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้แทน หรือข้าราชการเสียอีก หากแต่ควรจะให้โอกาสแก่พวกเขา”
ดร. ประภาส กล่าวต่อว่า รัฐควรสนับสนุนการถ่ายโอนภาระหน้าที่ลงสู่ท้องถิ่น แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้ผู้มีตำแหน่งในท้องถิ่นอย่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือข้าราชการส่วนภูมิภาค เท่านั้น แต่เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชน ผ่านองค์กรชุมชน ภาคประชาคมต่างๆในท้องถิ่นนั้นควบคู่ไปกับตัวแทน ซึ่งวิธีการนี้เสมือนเป็นการยืด-ขยาย ประชาธิปไตยแบบตัวแทนทางหนึ่ง
“ในตัวรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 40 หรือ 50 เองก็พยายามเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น พยายามลดบทบาทของตัวแทนให้น้อยลง แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีกระบวนการที่ใช้สิทธิเรื่องนี้ มากนัก สภาองค์กรชุมชน หรือสภาพัฒนาการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ ก็ดูท่าว่าจะมีบทบาทเพียงให้คำปรึกษา ไม่มีอำนาจสั่งตรงอะไรได้ ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญหนึ่ง นั่นอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งยังไม่มีกฎหมายมารองรับ”
ผศ.ดร. ประภาส กล่าวอีกว่า การรวมพลังเพื่อแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังทำไปเพื่อเหตุผลทางการเมืองระดับชาติ เช่น ลงชื่อถอดถอนรัฐมนตรี แก้รัฐธรรมนูญฯ แสดงข้อเรียกร้องต่างๆ หากแต่ยังไม่มีการร่วมมือเพื่อพัฒนาจากตัวองค์กรภาคประชาชนจริงๆ นอกจากนี้แล้ว ขอเสนอว่าการแสดงออกของภาคพลเมืองไม่ควรจะจำกัดเฉพาะการเมืองการปกครองเพียงอย่างเดียว หากต้องเล็งเห็นถึงประโยชน์ในเรื่องอื่นๆด้วย เช่น รวมตัวเรียกร้องให้มีสวัสดิการชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
ขณะที่ ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ก็ได้กล่าวตอนหนึ่งในเวทีวิชาการ ซึ่งอ้างอิงกับจากบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยตัวแทนและประชาธิปไตยภาคประชาชนในระดับท้องถิ่น” ของตนเองว่า รูปแบบของการเกิดขึ้นขององค์กรภาคประชาสังคม หรือลักษณะของการรวมพลังทางการเมืองจากประชาชนในชุมชนนั้นไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับลักษณะในแต่ละพื้นที่หรือตามอัตลักษณ์ของชุมชน
ผศ.เวียงรัฐ กล่าวว่า หากภาคประชาชนมีความเข้าใจทางการเมือง องค์กรภาคประชาสังคมก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย แต่ก็อาจจะมีข้อเสียบ้างในกรณีที่พื้นที่นั่นเสียงต่อการเกิดขัดแย้งกันสูง ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า การที่ภาคประชาชนเข้มแข็งก็มิได้หมายความว่าหน่วยทางการเมืองท้องถิ่นนั้น จะเข้มแข็งตามไปด้วย กลับกันถ้าประชาชนอ่อนแอ หน่วยการเมืองท้องถิ่นจะอ่อนแอตาม
นอกจากนี้หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าพื้นที่ที่ใกล้เขตเมืองมักจะมีการรวมตัวทางสังคมของประชาชนด้อยกว่าชนบท ซึ่งนั่นแสดงว่าการศึกษาไม่ได้ส่งผลถึงความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้านเสมอไป อย่างไรก็ตามขอสนับสนุนการขับเคลื่อนทางการเมืองของภาคพลเมืองและรัฐจึงควรถ่ายโอนงบประมาณที่เหมาะสม เพราะนี่คือการเริ่มต้นการเมืองใหม่ โดยประชาชนที่แท้จริง