มาดูกัน พ.ย. 57 กิจกรรมไหน โดน คสช.เเบน
หลังจากมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การปกครองภายใต้กฎอัยการศึกตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพหรือการรวมตัวในการทำกิจกรรมต่างๆ
สำนักข่าวอิศรารวบรวมกิจกรรมสำคัญที่คสช.สั่งห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนอย่างน้อย 8 ครั้ง
- 5 พฤศจิกายน 2557 การประชุม “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” ที่จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเครือข่ายภาคประชาชนในภาคอีสาน มีตำรวจและทหารเข้ามาในที่ประชุม มีการเชิญตัวผู้จัดงานไปพูดคุยที่ค่ายศรีพัชรินทร์ เนื่องจากการจัดงานครั้งนี้ไม่ได้ขออนุญาต ทำให้สงสัยว่าอาจมีการพูดคุยเรื่องการเมือง การประชุมไม่ได้ถูกสั่งให้งด แต่ทหารขอรายชื่อผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด
-9 พฤศจิกายน 2557 การรณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย ที่วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายพันธมิตร ก่อนหน้ากิจกรรมทหารพยายามเจรจาขอให้ไม่มีการเดินรณรงค์ แต่ทางแกนนำยืนยันจะดำเนินกิจกรรมต่อไป เมื่อเริ่มเดินได้เพียง 2 ชุด ทหารสกัดจับ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมชาวบ้านอีก 3 คน ไปควบคุมไว้บนรถห้องขัง หลังจากนั้นไม่นานทั้งหมดถูกนำตัวมาควบคุมตัวบริเวณวัดสวนดอกเพื่อเจรจา
-ช่วงวันที่ 11 -12 พฤศจิกายน 2557 ที่โรงแรมในจังหวัดอุดรธานี เวทีจัดประชุมเพื่อให้ความรู้และชี้แจงชาวบ้านเกี่ยวกับคดีเขื่อนไชยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง จัดโดยทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน ขณะจัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือคดีกับชาวบ้านที่ฟ้องคดีกว่า 20 คน ทหารและตำรวจเข้ามาสอบถามและเชิญไปทำหนังสือขอจัดงานที่ค่ายประจักษ์ศิลปาคม ก่อน แต่ผู้จัดงานปฏิเสธ ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงนำหนังสือมาให้เซ็น อย่างไรก็ตามเมื่อเซ็นขออนุญาตแล้วเจ้าหน้าที่เข้าฟังการประชุมด้วย
-รายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป” ตอน "ฟังเสียงคนใต้ก่อนการปฏิรูป" ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 จัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีทหารจำนวน 4-5 คน เดินทางมาพบผู้บริหารไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 โดยอ้างคำสั่งผู้บังคับบัญชาขอร้องไม่ให้เผยแพร่รายการดังกล่าวอีกต่อไป เนื่องจากไม่พอใจวิธีการตั้งคำถามของพิธีกร น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางผู้บริหารได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การนำเสนอรายการในเวทีที่ จ.นครปฐม ให้เหลือแค่การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของข่าวแทน และไม่มี น.ส.ณาตยา เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
-การนัดหมายเจรจาเรื่องปัญหาที่ดินกับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 มีเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 10 นาย เดินทางมายังสำนักงานของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ก่อนหน้างาน 1 วัน ในเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อเจรจากับแกนนำ สกน. ขอความร่วมมือสมาชิกที่จะเดินทางมาร่วมการเจรจา ให้งดสวมเสื้อหรือนำสัญลักษณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการ "เดินก้าวแลก..เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย" ไปด้วย และเวลาประมาณ 19.00 มีทหารเข้าไปยังหมู่บ้าน บ้านแหง ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปางเพื่อกดดันชาวบ้านไม่ให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในการเจรจากับ ม.ล.ปนัดดา ชาวบ้านจึงไปเพียง 4 คน ซึ่งไม่ผิดกฎอัยการศึก
-กิจกรรม "เวทีเสาร์ถกแถลง #3" เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ชั้น 2 อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ก่อนหน้างาน 2-3 วันมีเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์ประสานงานกับผู้จัดหลายครั้งเพื่่อให้ส่ง หนังสือขออนุญาตจัดงาน และขอให้ตัดการพูดคุยออกสองหัวข้อ คือ "อำนาจนิยมจำเป็นแก่การคืนความสุข vs ประชาธิปไตยต้องทนกันได้" และ "การปกป้องระบบเจ้านายที่ถูกคุกคาม vs ปรับปรุงระบบเจ้านายให้โปร่งใส" เหลือเพียงหัวข้อเดียว คือ "แนวคิดจารีต vs แนวคิดชนชั้นกลางใหม่" แม้ผู้จัดจะยินยอมตัดหัวข้อแล้ว แต่ก่อนวันจัดงาน 1 วัน ผู้บริหารจุฬาฯ แจ้งยกเลิกการอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมสำหรับการจัดงาน ผู้จัดงานจึงต้องย้ายไปใช้สถานที่ของ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แทน โดยในวันจัดงานมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมานั่งฟังอยู่ด้วยประมาณ 4-5 คน
- งาน "ทอล์คโชว์ และบทเพลง ผืนดินเรา ที่ดินใคร" เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 ที่สมาคมฝรั่งเศส โดยคณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของสถานที่ และมีการประสานงานขอให้ผู้จัดชี้แจงรายละเอียดของงาน ซึ่งผู้จัดได้ส่งไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 จนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ก็ได้รับแจ้งว่าทาง คสช. ไม่อนุมัติการจัดงานดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าไม่สบายใจกับวิทยากรบางราย และพร้อมนำกำลังปิดล้อมสถานที่จัดงาน
-งานแถลงข่าว "ไม่มีงานทอล์คโชว์ภายใต้ท๊อปบู๊ท" 16 พฤศจิกายน 2557 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จัดโดยคณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ ก่อนการจัดงานตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม โทรหาผู้จัดเนื่องจากทหารไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ อย่างไรก็ตามผู้จัดงานยืนยันจัดต่อ เมื่อถึงเวลานัดหมายผู้จัดงานยืน "แถลงการณ์เงียบ" สวมเสื้อดำ ปิดปาก หน้าสถานที่จัดงาน โดยมีตำรวจนับสิบนายยืนข้างหลังกั้นไปให้เข้า จากนั้นผู้อ่านแถลงการณ์เงียบ 4 คน ถูกนำตัวไปสน.ชนะสงคราม พูดคุยกับปรับทัศนคติกับทหารและตำรวจประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนถูกปล่อยตัว
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกกองทัพบกและทีมงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการอนุญาตให้จัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ กับสำนักข่าวอิศราว่า การตัดสินใจให้มีการจัดกิจกรรมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกองกำลังในพื้นที่นั้นๆที่มีการดูแลกันแต่ละเขต ดังนั้นจำนวนการขออนุญาตว่ามีทั้งหมดเท่าไหร่และคสช.อนุมัติไปกี่เรื่องทางทีมโฆษกหรือส่วนกลางไม่มีตัวเลขเนื่องจากไม่ได้มีการส่งข้อมูลหรือรายงานเข้ามา แต่โดยปกติเวลาขออนุญาตจะเป็นการขอตามเขตพื้นที่และคนที่ดูแลพื้นที่จะทราบอยู่แล้วว่ากิจกรรมนี้จะมีการสุ่มเสี่ยงเรื่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ หรือวิทยากรเป็นใครเขาจะพอมีข้อมูลและส่วนมากก็จะเรียกมาคุยกันมากกว่า
นี่คือท่าทีความเคลื่อนไหวทางสิทธิเสรีภาพและการกำกับดูแลภายใต้รัฐบาลของคสช.เพียงแค่เดือนเดียว
ขอบคุณข้อมูลจากเฟชบุ๊กกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
ขอบคุณภาพจากสนุ๊กและเว็บไซต์นักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส