สนช.กำหนดวันลงมติถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" 25 ธ.ค.
สนช.วางกรอบและขั้นตอนในการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา ในวันที่ 25 ธันวาคม ขณะที่พรรคประชาธิตย์ทำหนังสือถึง คสช.ขอจัดประชุมระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ และการยกร่างรัฐธรรมนูญ
นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคได้ทำหนังสือถึง คสช.ให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึก เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคจัดประชุมระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ และการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ก่อนนำไปเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหาก คสช.อนุญาตให้มีการประชุมทางพรรคก็จะมีมติมอบหมายให้หัวหน้าพรรค และตัวแทนไปเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการประสานงานเพื่อรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ องค์กรต่างๆ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะเชิญองค์กรต่างๆ มาให้ข้อคิดเห็น รวมทั้งแจกแบบสอบถามเพื่อนำข้อมูลส่งต่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการคงประกาศกฎอัยการศึกของ คสช.มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการรับฟังความเห็น เพราะทุกครั้งที่จะมีการตั้งเวทีสานเสวนา จะแจ้งไปยัง คสช.ก่อน ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้กำหนดวางกรอบและขั้นตอนในการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำ โดยนัดเปิดประชุมนัดแรก ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมหลังจากนี้อีก 4 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 ธันวาคม จะเป็นวันลงมติถอนถอนหรือไม่ ซึ่งการลงมติถอนถอน จะมีขึ้นภายใน 3 วัน นับแต่วันแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจา โดยเสียงลงมติถอดถอนจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช. ซึ่งเท่าที่มีอยู่ คือ 132 เสียง ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงการวางกรอบการพิจารณากรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เร่งรีบในกระบวนการหรือไม่ หากเทียบกับคดีอื่นๆ โดยเฉพาะคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา
ขอบคุณข่าวจาก