ปมแย่งอ่าวปัตตานีบานปลาย ประมงพื้นบ้านฮือหน้าศาลสู้คดีนายทุนเลี้ยงหอยแครง
ปัญหาการแย่งพื้นที่ทำกินของผู้คนรอบอ่าวปัตตานี เป็นอีกหนึ่งวิกฤติที่รุนแรงไม่แพ้ปัญหาความไม่สงบ เพราะกำลังบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน 2 กลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะข้อพิพาทระหว่างกลุ่มประมงพื้นบ้าน กับกลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครง ซึ่งต่างฝ่ายต่างใช้พื้นที่ในอ่าวปัตตานีทำกินเช่นกัน แต่กลับมีปัญหาขัดแย้งกันจนถึงโรงถึงศาล
เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.2554 บริเวณหน้าศาลจังหวัดปัตตานี ได้มีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานีในเขต อ.เมือง จำนวนหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมกันอย่างสงบ พร้อมชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมและขอความเมตตาจากศาล หลังจากที่ชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มหนึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ คือหอยแครง จากนายประกิจ แซ่ตัน แกนนำกลุ่มผู้เลี้ยงหอย โดยเรียกร้องค่าเสียหายมากถึง 50 ล้านบาท และศาลนัดสืบพยานจำเลยบางส่วนในวันดังกล่าว
ทั้งนี้ นายศิริชัย วจีสัจจะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี ได้ลงมารับเรื่องจากตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านด้วยตนเอง พร้อมให้คำมั่นว่าจะเร่งรัดพิจารณาคดีให้เร็วที่สุด และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ต่อมา ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดสืบพยานจำเลย 2 รายจาก 9 ราย คือจำเลยที่ 8 และ 9 คือ นายสุนันท์ หลีเจริญ ประมงอำเภอเมืองปัตตานี และว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี โดยมีอัยการจังหวัดทำหน้าที่ทนายให้กับทั้งคู่ เนื่องจากเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนการเข้าให้การของจำเลยที่ 8 และ 9 ออกไป ทำให้ศาลนัดใหม่เป็นวันที่ 17 ต.ค.2554 ส่วนจำเลยอีก 7 คนที่เป็นประมงพื้นบ้านนั้น ได้ยื่นคำให้การไว้ก่อนแล้ว
สำหรับจำเลยในคดีนี้ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายเจะมือดา แวหามะ, นายสมาน โต๊ะเร็ง, นายกอเดร์ สาแม, นายอาลี มามะ, นายอามะ ปะจูมะ, นายแวอูเซ็ง สะนิ, นายมักตาร์ สะแม เป็นจำเลยที่ 1-7 ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ส่วนจำเลยที่ 8 คือ นายสุนันท์ หลีเจริญ ประมงอำเภอเมืองปัตตานี และว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าฯปัตตานี เป็นจำเลยที่ 9
ปัดกดดันศาล-แค่ขอความเป็นธรรม
นายมักตาร์ สะแม หนึ่งในจำเลย ในฐานะประธานชมรมประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานี กล่าวว่า การที่ชาวประมงรวมตัวกันที่หน้าศาล ไม่ใช่เพื่อกดดันศาล แต่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความเมตตาจากศาล และอยากให้ศาลได้รับรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจาก 8-9 คนนี้ แต่เป็นปัญหาของคนในอ่าว ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากพึ่งพาอ่าวปัตตานีในการทำมาหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว แต่เมื่อกลุ่มนายทุนมาแทรกแซงแย่งพื้นที่ทำกิน ก็ต้องรวมพลังกัน
นายมักตาร์ กล่าวต่อว่า พวกเราชาวประมงพื้นบ้านไม่รู้จะไปพึ่งใคร หลังจากที่ต้องถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง เรียกค่าเสียหายกว่า 50 ล้านบาท จึงไม่เข้าใจว่าขั้นตอนที่ผ่านมาใช้หลักการไหนมาดำเนินคดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าชาวประมง 3 คนที่รับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวนเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนรวมหัวกับนายทุนข่มขู่บังคับ แต่กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เหมาะสม ร่วมกับนายทุนที่อ้างเป็นเจ้าของฟาร์มหอยยึดพื้นที่อ่าวสาธารณะกลับมีอำนาจดำเนินคดีกับชาวบ้านได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ประมงและรองผู้ว่าฯปัตตานีที่กล้าทวงสิทธิอ่าวปัตตานีให้กลับมาเป็นอ่าวสาธารณะเหมือนเดิม
“ขนาดท่านรองผู้ว่าฯปัตตานียังตกเป็นผู้ต้องหาของกลุ่มนายทุนเพียงเพราะท่านเข้าใจชาวบ้าน โดนกล่าวหาว่าไม่ปกป้องพื้นที่ของเขา วางตัวไม่เป็นกลาง ท่านรองผู้ว่าฯยังโดนขนาดนี้ แล้วชาวบ้านที่ทำกินหาเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ อย่างพวกเราจะเหลืออะไร”
นายมักตาร์ กล่าวด้วยว่า หวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม ใช้หลักนิติรัฐในการพิจารณาคดี ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนของใครคนใดคนหนึ่ง และจัดการให้ที่สาธารณะที่มีอยู่เป็นที่สาธารณะอย่างแท้จริง
“อย่างน้อยชาวบ้านควรมีสิทธิทำประมงอย่างเสรีได้ ไม่ต้องขออนุญาตใคร เพราะที่ผ่านมาตลอด 20 ปี เมื่อจะผ่านไปยังจุดหนึ่งของอ่าวก็จะถูกอ้างสิทธิว่าเป็นพื้นที่ของเขา ทำประมงไม่สะดวก บางทีก็โดนปรับ โดยไม่รู้ว่าใช้อำนาจอะไรมาปรับชาวบ้าน” นายมักตาร์ ระบุ
ย้อนรอยขัดแย้งประมงพื้นบ้าน-กลุ่มผู้เลี้ยงหอย
คดีที่กลายเป็นปมขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างรุนแรงของ จ.ปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2553 เมื่อชาวบ้านหมู่ 2 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมกลุ่มกันเข้าไปงมหอยแครงในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีจนเกิดปัญหาขึ้น โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านผู้บุกรุกระบุว่าถูกแย่งพื้นที่ทำกินจากกลุ่มนายทุนมานาน ส่วนกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครงก็ชี้แจงว่านายทุนที่ถูกอ้างถึงนั้น คือชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงหอยแครงที่รวมตัวเป็นกลุ่มจากคนในชุมชนเอง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีการปันส่วนรายได้เข้าชุมชนและช่วยเหลือสมาชิกชุมชนมาโดยตลอด
ปัญหาเริ่มบานปลายเมื่อข้าราชการระดับสูงของจังหวัดได้ประกาศต่อหน้าชาวประมงพื้นบ้านที่เคยรวมตัวแสดงพลังกันว่า “ทะเลเป็นของสาธารณะที่อัลลอฮ์ (ซบ.) สร้างมา ทุกคนสามารถหาสัตว์น้ำในทะเลได้หมด”
คำประกาศดังกล่าวจึงจุดประกายให้ชาวประมงพื้นบ้านทั้งในและนอกเขต อ.เมืองปัตตานี พากันไปงมหอยแครงในเขตพื้นที่ของกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง กระทั่งกลุ่มผู้เลี้ยงหอยต้องร้องเรียนไปยัง นายกมล ถมยาวิทย์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานผลการพิจารณาปัญหาความไม่สงบและสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติ ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว เพื่อให้เข้ามาจัดการปัญหา
สถานการณ์บานปลายกลายเป็นความแตกแยกในหมู่ชาวบ้าน ถึงขนาดนั่งร้านน้ำชาร้านเดียวกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่เคยมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน สุดท้ายก็มีการแจ้งความดำเนินคดีกันในข้อหาลักทรัพย์
วันที่ 26 พ.ย.2553 นายสุชาติ หวันดุหมัน ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (สภา อบต.) บานา ได้นำแกนนำประมงพื้นบ้านที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีบางส่วนเข้าพบ ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ เพื่อร้องเรียนไปยังผู้ใหญ่ในรัฐบาลขณะนั้นว่าพวกเขาถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่บางราย
วันที่ 8 มี.ค.2554 นายอำนาจ มะมิง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.บานา พร้อมด้วย นายมักตาร์ สาแม ประธานชมรมประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี ได้นำตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านในอ่าวปัตตานีเข้าพบผู้ว่าฯปัตตานีเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีถูกกลุ่มนายทุนเลี้ยงหอยแครงร่วมกับเจ้าหน้าที่บางคนพยายามดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ ทั้งยังมีพฤติกรรมข่มขู่เป็นเหตุให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน
กลุ่มประมงพื้นบ้านอ้างว่าการดำเนินคดีส่อไม่โปร่งใส มีความพยายามเพื่อเอาผิดกับชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งๆ ที่ฝ่ายนายทุนใช้เครื่องมือผิดกฎหมายคราดหอยแครง ส่งผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และยังปักไม้ทำเป็นอาณาเขตยึดครองพื้นที่อ่าวสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กลับสามารถดำเนินคดีเอาผิดกับประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพสุจริต
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่เกิดปัญหาขัดแย้งข้ามปี ทางประมงจังหวัดได้เตรียมผลักดันให้อ่าวปัตตานีเข้าสู่แผนแม่บทของกรมประมงเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูอ่าว จะได้มีงบประมาณในการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เช่น จัดหาพันธุ์สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลามาปล่อยเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในอ่าว ให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำเต็มวัยได้มากขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวประมง และแก้ปัญหาแย่งพื้นที่ทำกินกับกลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครงอย่างยั่งยืน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-4 บรรยากาศการชุมนุมร้องขอความเป็นธรรมจากศาลโดยกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานี (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)