6 ข้อเสนอร้อน!ป้อง-ปราบทุจริตฉบับสภาผู้แทนฯ ชงสปช.-กมธ.ยกร่างฯ
พลิกแฟ้มปฏิรูปสภาผู้แทนฯ ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ชงข้อเสนอป้อง-ปรามทุจริตประพฤติมิชอบ 6 ประเด็นร้อน ปรับปรุงหน่วยงานรัฐ-บริหาร-ตรากฎหมาย-การมีส่วนร่วมของประชาชน-เอกชน
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นบทสรุปในสาระสังเขป ประเด็นการปฏิรูปประเทศไทย ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จัดทำโดยสำนักวิชาการและสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอต่อการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ บุคคลที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจทั่วไป
----
การป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ปัญหาการทุจริตในสังคมไทยเป็นปัญหาที่รุนแรงและกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนทุกภาคส่วนของสังคมไทย เนื่องจากเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยมานาน ซึ่งในอดีตมักพบการทุจริตในรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง รับสินบน ซึ่งเป็นลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจ จับผิดและตรวจสอบได้ง่าย อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและซับซ้อน ทำให้รูปแบบและเครือข่ายของการทุจริตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้นเป็นทวีคูณ จนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทุจริตในแบบดั้งเดิมมาเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) โดยผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นรูปแบบใหม่ของการทุจริต ซึ่งพบมากขึ้นในช่วงที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการหาประโยชน์จากธุรกิจในโลกสมัยใหม่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น
ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริต และการตรวจสอบจากองค์กรต่าง ๆ ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
ดังนั้น การตรวจสอบการทุจริตในยุคสมัยปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นต่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงานรัฐ กฎหมาย กฎ ระเบียบ บุคลากร เทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของประชาชน
นอกจากนั้นยังมีความจำเป็นต่อการตัดวงจรหรือการขจัดสาเหตุของการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ โดยให้กลไกทางเศรษฐกิจได้ทำงานอย่างเต็มที่อย่างเสรี ไม่ควรให้รัฐดำเนินการมาตรการที่เป็นการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ มิฉะนั้นแล้วเจ้าหน้าที่รัฐผู้กำหนดนโยบายหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติการก็จะฉวยโอกาสในการเอื้ออำนวยผลประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจหรือบุคลใดบุคลหนึ่งจากมาตรการของรัฐ พร้อมกันนี้ควรมีการสร้างหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการขออนุญาตประกอบธุรกิจหรือการขออนุญาตเรื่องต่าง ๆ จากประชาชน เพื่อมิให้การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือในการเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนได้
ในส่วนของการรวบรวมแนวทางการแก้ไขจากรายงานวิจัย เอกสารวิชาการ และข้อเสนอแนะขององค์กรต่าง ๆ ที่มีการศึกษาไว้แล้ว ซึ่งจัดกลุ่มได้ดังนี้
1.การปรับปรุงหน่วยงานของรัฐ อาทิ การจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การจัดตั้งหน่วยงานสืบสวนสอบสวนคดีภาษีของกรมสรรพากรขึ้นเป็นการเฉพาะ การปรับบทบาทของสำนักงาน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ประจำจังหวัดให้เป็นหน่วยสอบสวนพิเศษประจำพื้นที่ในรูปแบบกลุ่มจังหวัดหรือการจัดตั้งศาลพิเศษสำหรับคดีทุจริตคอร์รัปชั่น
2.การปรับปรุงมาตรการทางการบริหาร อาทิ การตรวจสอบการเสียภาษีรายได้ย้อนหลังเป็นมาตรการในการตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเปิดเผยข้อมูลสัญญาในเว็บไซต์ขององค์กรซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย การกำหนดให้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายยังชีพขั้นพื้นฐานสำหรับผู้กล่าวหาหรือการลดขั้นตอนในการร้องเรียนปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นให้มีขั้นตอนน้อยลง
3.การตรากฎหมาย อาทิ การตรากฎหมายจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ให้หรือผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต กฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ กฎหมายอำนวยความสะดวกประชาชนในการยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ กฎหมายคุณธรรมแห่งชาติ หรือกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
4.การมีส่วนร่วมขององค์กรประชาสังคมและประชาชน อาทิ การให้สื่อสารมวลชนรณรงค์ให้สังคมเกิดความตระหนักต่อปัญหาและร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต การส่งเสริมกลุ่มและเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและส่งสัญญาแจ้งเตือน การให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการของโครงการตั้งแต่เริ่มโครงการจนเสร็จสิ้นโครงการ การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคประชาชน
5.การทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ การนำหลักผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชนผู้เข้าร่วมเสนอราคาหรือเสนองาน มาเป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการเสนอราคา การให้ประชาชนมาเป็นกรรมการในการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดราคามาตรฐานของราคาวัสดุหรือสิ่งก่อสร้างไว้ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ การลดจำนวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีการตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง การจำกัดวาระในการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น
6.การทุจริตในภาคเอกชน อาทิ การแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในส่วนของการดำเนินคดีอาญาเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดควบคู่ไปกับการดำเนินคดีทางอาญา การแก้ไขกฎหมายในเรื่องการขยายระยะเวลาในการยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้ที่ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการกล่าวโทษเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกกล่าวโทษมีการเคลื่อนย้ายหรือถ่ายเททรัพย์สินไปที่อื่นหรือออกนอกประเทศซึ่งยากต่อการติดตามกลับคืน หรือการผลักดันให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและกำกับดูแลภาคธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบความถูกต้องทางการเงินของบริษัทเอกชน
อ่านประกอบ :
พลิกแฟ้มปฏิรูปสภาผู้แทนฯ“ปัญหารธน.ไทย” ชง 36 อรหันต์ยกเครื่องใหม่
เส้นทางปฏิรูปสื่อฉบับสภาผู้แทนฯ-ป้องเกลียดชังปิดกั้น “Hate Speech”
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ให้-รับเงินจาก Posttoday