“ประจักษ์ ก้องกีรติ”กระตุ้นเปลี่ยนมุมมองเงินซื้อชาวบ้าน ชี้มีปัจจัยอื่นร่วมก่อนลงคะแนน
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่การประชุมรัฐศาสตร์และรัฐศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงทรรศนะภายใต้หัวข้อ “นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท: มายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย” ว่า ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ หรือบุคคลากรในวิชาชีพใดก็ตาม เมื่อพูดถึงปัญหาทางการเมือง มักเชื่อมโยงถึงปัญหาของการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย และเมื่อกล่าวถึงปัญหาของการเลือกตั้งอย่างที่ว่านี้ ก็จะมุ่งเน้นไปที่ การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ของผู้เลือกตั้งในชนบทเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากยังมีมุมองที่เป็นมายาคติและอคติต่อคนชนบทว่า เป็นกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี การศึกษาต่ำ ส่งผลให้ถูกชักจูงได้ง่าย จนกลายเป็นเป้าหมายของนักเลือกตั้ง
นายประจักษ์ กล่าวต่อว่า มายาคติและอคติดังกล่าว มีผลให้งานวิจัยหรือผลงานที่ผลิตออกมา กลายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสนับสนุนความเชื่อแบบเดิมๆนี้เท่านั้น เป็นการตอกย้ำคำจำกัดความ “โง่ จน เจ็บ “ของคนชนบท จนทำให้ความเชื่อนี้เป็นเสมือนนิทานสอนใจ เป็นเรื่องเล่าที่ไหลเวียนต่อๆกันไป ทั้งที่จริงแล้วพลวัตรของการเลือกตั้งในชนบทยังมีมิติอื่นๆอีกด้วย อาทิ คนชนบทยังให้ความสำคัญกับผลงานที่ผ่านมาของผู้สมัคร หรือความพอใจอื่นๆอีกด้วย ทั้งนี้มิได้หมายความว่าในชนบทไม่มีการซื้อเสียง แต่การซื้อเสียงยังไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด สำหรับการลงคะแนนของชาวบ้าน
“ไม่ได้หมายความว่าคนชนบทจะไม่รับเงิน หากแต่เมื่อรับเงินแล้วก็ยังพิจารณาถึงความพอใจอื่นๆ คิดถึงผลประโยชน์ในระยะยาวที่จะส่งผลในพื้นที่ของเขาด้วย ที่ผ่านมาเรายังหมกมุ่นและคิดว่านี่เป็นปัญหาเดียวสำหรับประชาธิปไตยของเรา ถ้าแก้ไขได้ก็จะพัฒนา”
นายประจักษ์ กล่าวอีกว่า อคติและมายาคติดังกล่าวยังกลายเป็นประเด็นสำคัญ สำหรับใช้โจมตีระบอบประชาธิปไตยของอำมาตยาธิปไตย จุดสนใจจึงถูกมองไปที่การคอรัปชั่นในการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ซึ่งจริงอยู่ที่ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่นี่ก็เป็นรูปแบบที่จำเป็น เป็นความเสมอภาคทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงการเท่าเทียม ที่ 1 คน เท่ากับ 1 เสียงเช่นกัน แม้จะมีมิติที่ต่างกันในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ แต่ทั้งนี้ประชาธิปไตยก็ต้องมีองค์ประกอบการมีส่วนร่วมอื่นร่วมด้วย
นายประจักษ์ กล่าวต่ออีกว่า ขอเสนอให้ นักวิชาการหรือผู้เกี่ยวข้อง ควรหาวิธีการเพื่อพัฒนางานวิจัยให้ได้มาซึ่งข้อสรุปอื่นๆบ้าง อาทิ การศึกษาในเชิงมานุษยวิทยา โดยใช้เวลาคลุกคลีและทำความเข้าใจกับสังคมชนบทจริงๆ มากกว่าการแจกแบบสอบถามที่มีเครื่องหมายปลายปิด เพราะที่ผ่านมางานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมักจะมีข้อสรุปออกมาในทิศทางเดียวกันไม่มีทฤษฎีหรือกรอบการวิจัยใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น จนเกิดช่องว่างเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางการเลือกตั้ง ดังนั้นเพื่อให้เกิดข้อถกเถียงใหม่ๆ ควรจะเพิ่มมิติอื่นๆไปบ้าง เพื่อช่วยพัฒนาระบอบประชาธิปไตยต่อไป