สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจี้ทหารหยุดคุกคามเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ปชช.
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเผยปชช.มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จี้ทหารหยุดคุกคาม เเทรกเเซง กดดันยกเลิกกฎอัยการศึก
จากกรณีเมื่อวันที่ 11 -12พฤศจิกายน 2557 ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายได้จัดเวทีประชุม เพื่อให้ความรู้และชี้แจงเกี่ยวกับชาวบ้านคดีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ประเทศลาว แต่ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายประจักษ์ศิลปาคม มลฑลทหารบกที่ 24 จังหวัดอุดรธานีแจ้งว่าการประชุมดังกล่าวต้องขออนุญาตจากทหารก่อน เพราะอยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก พร้อมทั้งขอเข้าฟังการชี้แจงและขอเอกสารประกอบการประชุมดังกล่าว
นอกจากนี้ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา มลฑลทหารทหารบกที่ 32 จังหวัดลำปางได้เชิญประชาชนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปางให้เดินทางเข้าพบ ผบ.มทบ.32 โดยแจ้งว่าเป็นการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดประชุมเตรียมคดีและการไปยื่นฟ้องคดีใบอนุญาต ซึ่งเกี่ยวข้องในการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ที่ศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 แต่เมื่อไปพบเจ้าหน้าที่ทหารได้แจ้งว่าเป็นการเรียกชาวบ้านเข้ามารายงานตัวตามอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรที่เกี่ยวข้องมีความห่วงกังวลและไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในกรณีดังกล่าว ดังเหตุผลต่อไปนี้
1. ประชาชนมีสิทธิในเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล และการได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองคุ้มครองมาโดยตลอด
พฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวประชาชนเข้าพบอันเนื่องจากการใช้สิทธิดังกล่าวถือเป็นการคุกคามการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในรัฐซึ่งปกครองโดยกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมถือเป็นขั้นตอนการแก้ไขปัญหาพิพาทในขั้นสุดท้ายและเป็นอำนาจซึ่งแยกต่างหากจากฝ่ายบริหาร
2. การจัดประชุมชี้แจงคดีของทนายความให้กับชุมชนที่ใช้สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลเป็นขั้นตอนปกติของการทำหน้าที่ทนายความตามวิชาชีพ ประชาชนมีสิทธิในการได้รับคำปรึกษาจากทนายความและตามจรรยาบรรณของทนายความต้องรักษาข้อมูลเป็นความลับ
การทำหน้าที่ของทนายความจึงไม่อาจถูกแทรกแซงได้ นอกจากนี้ตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยบทบาทนักกฎหมายขององค์การสหประชาชาติ (Basic Principles on the Role of Lawyers) ข้อ 16 ยังรับรองว่ารัฐบาลพึงดำเนินการให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า
(ก) นักกฎหมายสามารถปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพได้โดยปลอดจากการถูกข่มขู่ ขัดขวางคุกคามหรือแทรกแซงโดยมิชอบ
(ข)นักกฎหมายสามารถเดินทางไปพบปะกับลูกความหรือปรึกษาหารือกันได้อย่างเสรีทั้งในประเทศและนอกประเทศ การที่เจ้าหน้าที่ทหารให้ทนายความต้องไปชี้แจงจากกิจกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ทนายความในการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับคดีซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยตรง
3. การบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกมีเงื่อนไขจำกัดเพียงกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเท่านั้น
การที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างกฎอัยการศึกและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนมาเพื่อใช้จำกัดการประชุมคดีจึงเป็นการบังคับใช้ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติและวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
4. ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีแนวนโยบายเสริมสร้างให้เกิดความปรองดองขึ้นของคนในชาติโดยจัดให้มีการปฎิรูปในด้านต่างๆ แต่ที่ผ่านมากับพบว่าในทางปฎิบัติเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ทหารได้อ้างเอาอำนาจตามกฎอัยการศึกกระทำการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในหลายๆกรณี
พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่กฎหมายได้บัญญัติและรับรองไว้ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในบ้านเมืองอย่างแท้จริง
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการคุกคามการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนและหยุดแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความและให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกอันเป็นเหตุของการใช้อำนาจตามอำเภอใจและการไม่เคารพหลักนิติรัฐในการปกครองประเทศ