องค์การอนามัยโลก หนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารเด็ก
WHO หนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารเด็ก หลังเปิดประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย 14 พ.ย.57 ด้านกรมอนามัยคาดส่งต่อ รมว.สาธารณสุข ธันวาคมนี้
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 กรมอนามัย จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรับฟังประชาพิจารณ์จากภาคประชาชน บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ ซึ่งกรมอนามัยจะนำไปปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต่อไป ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายแพทย์ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังงานประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้วัตถุประสงค์คือต้องการให้เด็กทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนดื่มน้ำนมแม่มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการบริโภคนมผงมากกว่านมแม่ อันเนื่องมาจากการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในสื่อการตลาด และจากการที่ได้รับฟังร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการส่งเสริมฯ หลายฝ่ายมีทั้งเห็นด้วยและมีความกังวลในบางประการ โดยเฉพาะบทลงโทษต่างๆ ที่เห็นว่ารุนแรงเกินไปสำหรับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ อีกทั้งเป็นห่วงในเรื่องของทุนสนับสนุนการวิจัยหรือผลิตภัณฑ์เด็กในกรณีที่รักษาเด็กที่มีปัญหาของโรคบางอย่าง เป็นต้น
ทั้งนี้ทางกรมอนามัยจะนำข้อวิจารณ์ไปรวบรวมและนำไปปรับแก้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะนำขึ้นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในเดือนธันวาคม 2557 โดยครั้งนี้เป็นการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย
ด้านนายมีน่า เอสการี่ นักบริหารงานสาธารณสุข ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (World Health Organization:WHO) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้เกิดร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งตรงหลักเกณฑ์ International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes หรือ CODE ที่กำหนดไว้เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กทุกคน ได้กินนมแม่ เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็ก และยุทธศาสตร์ของโลกที่ให้เด็กกินนมแม่
ขณะที่นายแพทย์ประพัฒน์ โสภณาทรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก กล่าวว่า สมาคมฯสนับสนุนการเกิดร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเนื่องจากการให้นมแม่กับเด็กแรกเกิดถึง6 เดือนนั้นมีเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาของเด็ก อีกทั้งยังหวังให้เด็กทารกในประเทศไทยมีการบริโภคนมแม่มากขึ้น
ผอ.สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็ก กล่าวถึงข้อกังวลในส่วนของเนื้อหาทางสมาคมกังวลหลักมี 2 ประเด็น คือ เรื่องของขอบข่ายของกฎหมายฉบับนี้ที่จะควบคุมถึงตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี แต่หากลองกลับมาดูจุดมุ่งหมายของกฎหมายแล้วระบุไว้ว่าอยากให้เด็กดื่มนมแม่มากขึ้น เนื่องจากตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกให้เด็กทารกบริโภคนมแม่อย่างเดียวจนถึง6 เดือน แต่อย่างไรก็ตามซึ่งสมาคมฯเป็นห่วงว่าหากกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้บริโภค 3 ปีเด็กจะไม่ได้รับสารอาหารตามวัย เพราะไม่มีอาหารเสริม โดยคิดว่าควรระบุไว้ 1 ขวบปีมากกว่า
"การสั่งห้ามการสื่อสารข้อมูลที่เป็นห่วงเรื่องของโฆษณาชวนเชื่อ ในส่วนนี้เนื่องจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของเด็กมีข้อมูลงานวิจัยใหม่มาเรื่อยๆ และบุคลากรทางการแพทย์ก็จะทำการประเมินโดยใช้หลักทางวิชาชีพว่า นมชนิดไหนที่ให้คุณค่ากับเด็กมากกว่านมชนิดอื่นที่ผ่านมา หากกฎหมายกำหนดไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ข้อมูลความรู้ต่อแม่อาจจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค"